หนึ่งในสุราสายพันธุ์ใหม่ที่ประเทศซีกโลกตะวันตกจับตามองอย่างต่อเนื่องและนำมาสู่การพัฒนามาตรการควบคุมแอลกอฮอล์ใหม่ๆ ในหลายประเทศ ก็คือ แอลกอป๊อบส์ (Alcopops) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่มวัยรุ่นด้วยรสชาติปรุงแต่งที่เทียบเคียงได้กับน้ำผลไม้หรือน้ำหวาน ทว่าโดยเนื้อหาแท้ก็คือสุราเต็มตัว ซ้ำอาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่าเบียร์เสียอีก
กำเนิดน้ำเมาพันธุ์ใหม่
แอลกอป๊อบส์ ถือกำเนิดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยได้รับความนิยมจากวัยรุ่นในทวีปยุโรปอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา โดยแพร่กระจายจากสก็อตแลนด์ เวลส์ และอังกฤษ ไปสู่แถบสแกนดิเนเวียน และแพร่กระจายสู่สหรัฐอเมริกา
ส่วนผสมหลักของแอลกอป๊อบส์คือ น้ำที่ได้จากการหมักข้าวมอลต์ อันเป็นส่วนผสมเดียวกับการผลิตเบียร์และมีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมในระดับเดียวกันหรือมากกว่า คือ 5-8 เปอร์เซ็นต์
ทว่า สภาพของเครื่องดื่มที่ปรากฏในขวดกลับมีลักษณะคาบเกี่ยวกับสุราผสมน้ำผลไม้บรรจุขวด ที่เรียกกันว่า อาร์ทีดี (RTD-Ready to Drink) บางชนิดมีฟอง รสชาติอิงความหวานหรือเปรี้ยวเจือกลิ่นน้ำผลไม้เช่นเดียวกัน แต่จุดแตกต่างอยู่ที่การแต่งกลิ่นและรสให้ปกปิดรสขมหรือขื่นของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูกลมกลืนไปกับน้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมโซดาหรือเครื่องดื่มที่อิงกลุ่มลูกค้าสาววัยรุ่น เช่น ดีไซน์ขวดเพรียวทันสมัยแฟชั่น มีตัวการ์ตูนประดับ ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็แสดงตราสินค้าร่วมกับสุราอย่างเปิดเผย ให้ทั้งความรู้สึกปลอดภัย ทันสมัย และท้าทายไปในเวลาเดียวกัน
กลุ่มเป้าหมายหลักของสุราสายพันธุ์ใหม่ประเภทนี้ก็คือเด็กผู้หญิง โดยมุ่งกระตุ้นให้กลุ่มที่ไม่เคยลองดื่มสุราหันมาดื่มและกลายเป็นที่นิยม จนถึงกับทำให้สุราสายพันธุ์นี้มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการชื่อหนึ่งว่า “เชียร์ลีดเดอร์เบียร์”
ลักษณะดังกล่าวนี้ชวนให้คิดเทียบเคียงได้กับสินค้าเสพติดที่เกิดในยุคไล่เลี่ยกันอย่าง “บุหรี่กลิ่นผลไม้” ที่มุ่งรุกเข้าหากลุ่มลูกค้าเด็กวัยรุ่น และผู้หญิงเช่นเดียวกัน
เผยดีกรี: เบียร์เรียก“พี่”
แม้ผู้ผลิตแอลกอป๊อบส์ระบุว่าสินค้าชนิดนี้เป็น “เครื่องดื่มปรุงแต่งที่ทำจากข้าวมอลต์ หรือข้าวหมัก” เช่นเดียวกับเบียร์ เพราะได้ประโยชน์มากมาย ทั้งการจ่ายภาษีในอัตราเดียวกับเบียร์ ซึ่งอัตราภาษีต่ำกว่าสุรา สามารถวางจำหน่ายได้กว้างขวางกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งวางขายได้ในร้านของชำ ร้านสะดวกซื้อ ขณะที่สุราขายได้แต่ในร้านที่กำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ ยังทำให้สินค้าดูไม่มีพิษภัย แต่รัฐบาลของหลายประเทศปฏิเสธสถานะดังกล่าว จัดการโยกย้ายเครื่องดื่มชนิดนี้ไปเข้ากลุ่มสุรา โดยรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริการะบุว่า แอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ในแอลกอป๊อบส์ส่วนใหญ่มาจากกระบวนการต้มหรือกลั่นสุรา นอกจากนี้ยังมักใช้ชื่อร่วมกับยี่ห้อสุรา เช่น สเมอร์นอฟ (Smirnoff) บาร์คาดี (Bacardi) เป็นต้น
มหันตภัยในคราบไร้เดียงสา
สภาพการแฝงเร้นเกาะกลุ่มมากับเครื่องดื่มสำหรับเด็กและวัยรุ่นทั้งที่มี แอลกอฮอล์เจือปนในระดับเทียบเท่าหรืออาจสูงกว่าเบียร์บางยี่ห้อ อีกทั้งปรับแต่งกลิ่นรสไม่ให้มีคราบ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” หลงเหลือ ทำให้แอลกอป๊อบส์กลายเป็นเครื่องดื่มที่ก่อความเสี่ยงและสร้างผลกระทบให้แก่ผู้บริโภคทั้งที่เป็นเด็กและวัยรุ่นหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ได้อย่างนึกไม่ถึง
ความเสี่ยงที่สำคัญเกิดขึ้นจากการที่ผู้ดื่มแอลกอป๊อบส์ไม่รู้หรือไม่ตระหนักว่า ตนเองกำลังดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เพราะมีการแต่งกลิ่นและรสให้ตัดความขมและขื่นแบบเบียร์หรือสุราออกไปมากที่สุด ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังดื่มน้ำหวาน แต่เมื่อดื่มไปแล้วจะเกิดผลไม่ต่างจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้วยรสชาติที่หอมหวานชวนดื่มคล่องคอได้คราวละมากๆ ประกอบกับความไม่รู้ หรือความไม่ตระหนักว่ากำลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้ดื่มเสี่ยงทั้งต่อการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ ปัญหาทางสุขภาพ และการถูกล่วงละเมิด อันเกิดจากสภาพความมึนเมา ไม่สามารถควบคุมร่างกาย และการรับรู้ให้เป็นไปตามปกติได้
ยิ่งไปกว่านั้น การดื่มแอลกอป็อบส์เป็นประจำยังทำให้ผู้ดื่มติดสุรา หรือก้าวไปสู่การดื่มสุราชนิดอื่นๆ รวมถึงการก้าวไปสู่การเสพยาเสพติดประเภทอื่นได้
ต่อไปนี้คือข้อมูลบางส่วนที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอป๊อบส์
- มีการสำรวจในต่างประเทศพบว่า ผู้ดื่มแอลกอป็อบส์มีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าผู้ไม่ดื่ม โดยพบว่า เด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี ที่ดื่มแอลกอป็อบส์เป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ไม่ดื่มแอลกอป๊อบส์และมีอาการมึนเมามากกว่า
- ที่ประเทศอังกฤษ มีการสำรวจข้อมูลในโรงเรียน 6 โรง พบว่า ในกลุ่มนักเรียนที่ดื่มแอลกอป็อบส์เกิดกระแสนิยมว่าการดื่มสุราหนักเป็นสิ่ง ที่ดี
- แม้ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างการดื่มแอลกอป็อบส์กับการเสพ ยาเสพติดชัดเจน แต่ในประเทศอังกฤษมีการสำรวจในโรงเรียน 5 โรง พบว่า เด็กอายุ 11-16 ปี ที่ชอบดื่มแอลกอป็อบส์ มีแนวโน้มชอบสูบบุหรี่และพยายามเสพยาเสพติด
ที่มา: โครงการสุราสากล