กว่าหนึ่งทศวรรษ นับตั้งแต่ “แอลกอป็อบส์” เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ดีกรีเทียบเท่าเบียร์แต่ซ่อนตัวอยู่ในคราบน้ำผลไม้สไตล์มะนาวโซดาออกวางจำหน่ายและมุ่งทำตลาดกับเด็กและเยาวชน การติดตามสถานการณ์ในหลายประเทศพบว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ก่อความเสี่ยงและผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในหลายทาง ทั้งการเป็นเสมือน “ประตู” ชักนำเด็กและเยาวชนสู่การดื่มสุรา ตลอดจนผลทางด้านสุขภาพกายและจิต การเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และความเสื่ยงในด้านอื่นๆ อันเนื่องมาจากความคึกคะนองขาดสติเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ที่เด็กและเยาวชนดื่มเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่ผ่านมาจึงเกิดความเคลื่อนไหวในหลายประเทศ ในการสร้างกรอบกติกาทางกฎหมายและมาตรการทางสังคมเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แฝงกายมาในหมู่น้ำอัดลม น้ำหวาน และน้ำผลไม้ชนิดนี้
ประกาศให้เป็น “สุรา” ... ความก้าวหน้าจากสหรัฐฯ
ในสหรัฐอเมริกา ได้เกิดความเคลื่อนไหวในฝ่ายนิติบัญญัติอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในการจัดแบ่งหมวดหมู่แอลกอป็อบส์ให้เหมาะสม หลังจากที่มีข้อมูลชี้ชัดว่า เครื่องดื่มชนิดนี้มีสุราผสมในขณะที่ผู้ผลิตพยายามนำเสนอสินค้าให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับเบียร์ ซึ่งห่างไกลจากสถานะการเป็นสุรามากที่สุด เพื่อให้ง่ายต่อการทำตลาดกับวัยรุ่น เสียภาษีต่ำกว่าสุรา อีกทั้งยังโฆษณาและวางจำหน่ายได้อย่างอิสระมากกว่าสุรา ขณะที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุชัดเจนในปี 2003ว่า แอลกอฮอล์ที่ผสมในแอลกอป็อบส์ส่วนใหญ่มาจากการต้มหรือกลั่นจากสุรา
ประเด็นสำคัญที่สุดที่นำมาสู่การให้ความสำคัญต่อการทบทวนสถานะของแอลกอป็อบส์ว่าเป็นสุราหรือไม่ อยู่ที่ความเกี่ยวโยงกับระดับอัตราภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากผู้ผลิต รองลงมาคือเงื่อนไขในการโฆษณา และสถานที่วางจำหน่าย ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวคือเกราะป้องกันเยาวชนไม่ให้ซื้อหาสุราสายพันธุ์ใหม่นี้มาดื่มได้อย่างง่ายดายเกินไป
จากการต่อสู้ในสภานิติบัญญัติเป็นเวลานาน ในปัจจุบัน 21 รัฐ ในสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่า แอลกอป็อบส์ควรถูกจัดระเบียบใหม่ในฐานะสุรา ไม่ใช่เบียร์อีกต่อไป
การประกาศนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่ออัตราการเก็บภาษีและสถานที่จำหน่ายแอลกอป็อบส์ในรัฐต่างๆ เหล่านั้น โดยสามารถจำหน่ายได้เฉพาะในร้านขายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเท่านั้น จึงห่างไกลจากสายตาวัยรุ่นกว่าที่ผ่านมา ที่สามารถวางขายได้ในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาเก็ตใกล้บ้านและโรงเรียน
จนถึงขณะนี้ นักกฎหมายในหลายรัฐ เช่น รัฐเมน แคลิฟอร์เนีย และยูท่าห์ ก็ยังคงเดินหน้ารณรงค์อย่างต่อเนื่องกับฝ่ายการเมือง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ขยายสู่รัฐอื่นๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา
ผลวิจัยยืนยัน “ขึ้นภาษีแอลกอป็อบส์” ช่วยชีวิตคนได้
การตัดสินใจเพิ่มภาษีที่เรียกเก็บจากแอลกอป็อบส์ เป็นผลมาจากข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่านี่จะเป็นมาตรการปกป้องเยาวชนและป้องกันผลกระทบต่อสังคมจากสุราสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ เช่น
- ที่รัฐนิวยอร์ค มีการคำนวณผลจากการเพิ่มภาษีแอลกอป็อบส์ให้สูงเทียบเท่าสุรา พบว่า จะทำให้ลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มชนิดนี้ลงถึง ร้อยละ 28 และช่วยชีวิตคนได้ 7 คน นอกจากนี้ยังลดปริมาณการใช้จ่ายในกลุ่ม “นักดื่ม” ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดลงได้ถึง 150 ล้านเหรียญ ภายใน 1 ปี
- ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย คาดว่า การเพิ่มภาษีแอลกอป็อบส์จะทำให้ปริมาณการบริโภคลดลงจากเดิมถึง ร้อยละ 35 และสามารถช่วยชีวิตคนได้ 21 ชีวิต อีกทั้งลดปริมาณการใช้จ่ายอันเนื่องมาจากความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มชนิดนี้อีกถึง 437 ล้านเหรียญ ในแต่ละปี
- มีการประมาณด้วยว่าหากทุกรัฐในสหรัฐอเมริกาจัดเก็บภาษีแอลกอป็อบส์เท่ากับสุรา ปริมาณการบริโภคจะลดลงถึง 26 เปอร์เซ็นต์ และสามารถป้องกันการใช้จ่ายในกลุ่มนักดื่มต่ำกว่าอายุได้ถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ ปกป้องชีวิตคนได้ 72 ชีวิต และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการดื่มที่คาดว่าจะเกิดกับผู้ดื่มที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดถึง 59,000 กรณี
เพิ่มข้อมูลฉลากแสดงสถานะ “สุรา”
ความเคลื่อนไหวอีกทางหนึ่ง ได้แก่ การเรียกร้องให้ผู้ผลิตแจ้งส่วนผสมและสถานการณ์ความเป็น “สุรา” ให้ผู้ที่คิดจะบริโภคแอลกอป็อบส์รับรู้ได้อย่างชัดเจน เพื่อล้อมกรอบสกัดกลเม็ดเด็ดพรายของผู้ผลิตแอลกอป็อบส์ที่มุ่งอำพรางสถานะ “สุรา” ไว้ภายใต้น้ำผลไม้เพื่อจำหน่ายเยาวชน
ที่สหรัฐอเมริกา ผลการสำรวจโดย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะ (The Center for Science in the Public Interest: CSPI) พบว่า ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนการออกมาตรการและกฎหมายเพื่อล้อมกรอบจำกัดกลยุทธ์ผู้ผลิตแอลกอป็อบส์ ไม่ให้ทำการตลาดกับเด็กและเยาวชนได้ โดย 8 ใน 10 คนของผู้ตอบแบบสำรวจ สนับสนุนให้ฉลากที่ติดข้างขวดแอลกอป็อบส์ระบุปริมาณแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ให้ชัดเจน และ 7 ใน 10คน เห็นด้วยกับการให้มีข้อความกำกับเพิ่มว่า
“เครื่องดื่มชนิดนี้ไม่ใช่น้ำอัดลม”
ที่มา โครงการสุราสากล