จากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พุทธศักราช 2546 ว่าด้วยการห้ามจำหน่ายสุราและบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป เนื่องจากทางภาครัฐได้เล็งเห็นว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ดื่มสุราส่วนใหญ่นอกจากจะเป็นกลุ่มคนทำงานหรือกลุ่มผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว กลุ่มผู้ดื่มสุราที่เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูลผลการสำรวจของทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในปี 2546 พบว่า คนไทยเริ่มดื่มสุราตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยมีประชากรดื่มสุราอยู่ 18.61 ล้านคน เป็นชาย 15.51 ล้านคน หญิง 3.95 ล้านคน ที่น่าตกใจคือกลุ่มเด็กหญิงอายุระหว่าง 11–19 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2541 ถึง 5 เท่าตัว
การดื่มสุรานั้น นอกจากจะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดแก่ตัวผู้บริโภคเองแล้ว ยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาทางอาชญากรรม และปัญหาทางสังคมและครอบครัว ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่มีการควบคุมก็จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ลุกลามจนยากที่จะแก้ไขได้ ฉะนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษของสารองค์ประกอบในสุรารวมไปถึงกลไกการออกฤทธ์สารพิษต่าง ๆ ต่ออวัยวะภายในร่างกายให้แก่เด็กและเยาวชนจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาว
ประเภทของสุรา
สุราที่บริโภคกันในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ เมรัย (fermented liquors) และ สุรากลั่น (distilled liquors หรือ distilled spirits) เมรัย คือสุราที่ได้จากการหมักส่าให้เกิดเป็นน้ำเมา มีแรงแอลกอฮอล์มากน้อยตามต้องการ และไม่มีการกลั่น ส่วนสุรากลั่นเป็นสุราที่ได้จากการหมักส่าให้เกิดมีแรงแอลกอฮอล์แล้วกลั่น และบางชนิดต้องเก็บไว้นานเพื่อให้มีคุณภาพดี แล้วอาจปรุงแต่งให้มีแรงแอลกอฮอล์มากน้อยตามต้องการ
สารองค์ประกอบที่ให้โทษในสุรา
สารองค์ประกอบที่ให้โทษในสุรานั้นจะสารที่เป็นพิษต่อร่างกายหลายชนิดมีปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของสุราและกระบวนการขั้นตอนการผลิต สารองค์ประกอบหลักที่เป็นส่วนสำคัญในสุราและยังเป็นตัวออกฤทธ์ทำลายระบบอวัยวะต่างภายในร่างกายโดยตรงมีชื่อว่า แอลกอฮอล์ (alcohol) หรือชื่อทางเคมีว่า เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) ซึ่งปริมาณสารชนิดนี้จะใช้เป็นตัวบ่งชี้ระดับความแรงแอลกอฮอล์ในสุราซึ่งแสดงค่าเป็นดีกรี โดยเกณฑ์กำหนดตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในสุราจะมีค่าแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 60 ดีกรี
นอกจากแอลกอฮอล์แล้วในสุรายังมีสารองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นพิษอยู่อีกหลายชนิดอาทิเช่น เมทิลแอลกอฮอล์(methyl alcohol), สารหนู (arsenic), ตะกั่ว (lead), ทองแดง (copper), ฟูเซลออยล์ (fusel oil), แอลดีไฮด์ (aldehyde), เอสเตอร์ (ester ), เฟอร์ฟิวรัล (furfural), แอลคาลอยด์ที่เป็นพิษ (toxicalkaloids), ไกลโคไซด์ที่เป็นพิษ (toxic glycosides), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์(sulfur dioxide), กรดเบนโซอิก (benzoic acid), กรดซอร์บิก(sorbic acid), กรดซาลิซิลิก (salicylic acid) เป็นต้น
กลไกการออกฤทธิ์ต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
การออกฤทธิ์ของสุรา คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าสุรานั้นจะออกฤทธิ์ต่อร่างกายเมื่อถูดดูดซึมเข้ากระแสเลือดเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วมันออกฤทธ์ทำลายตั้งแต่อวัยวะแรกที่สำผัสจนตลอดตามเส้นทางเดินของสุราที่ผ่านเข้ามาในร่างกาย ซึ่งสามารถอธิบายตามลำดับขั้นตอนได้ดังต่อไปนี้
- ปากและลำคอ เมื่อสุราเข้าปากและลำคอจะไปออกฤทธิ์ต่อผิวอวัยวะภายในช่องปากทำให้เกิดการระคายเคืองชิ้นเยื่อบุที่ละเอียดอ่อนในปากและหลอดอาหาร มักมีอาการร้อนซู่เมื่อผ่านลงไป
- กระเพาะอาหารและลำไส้ สุราเมื่อผ่านลงสู่กระเพาะจะมีผลกับผนังชั้นนอกสุดที่เป็นชั้นที่จะปกป้องกระเพาะอาหาร จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ถ้าอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันเกิดอาการอักเสบของเยื่อบุชั้นในสุดของผนังหรือกระเพาะอาหารหรืออาจทะลุลำไส้เล็กได้ นอกจากนั้นสุรายังเป็นอุปสรรคกับการดูดซึมอาหารบางชนิด เช่น วิตามินB1, กรดโฟลิก ,ไขมัน วิตามินบี6,วิตามินบี 12 และกรดอะมิโนต่าง ๆ
- กระแสเลือด ร้อยละ95 ของสุราที่เข้าสู่ในร่างกาย จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด โดยผ่านเยื่อบุในกระเพาะอาหาร และลำไส้ส่วนดูโอดีนั่มอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงกระแสเลือดจะเข้าไปในเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายอย่างรวดเร็ว แอลกอฮอล์ทำให้เซลล์ของเลือดเกาะเป็นก้อนเหนียว การไหลเวียนจึงช้าลง และปริมาณออกซิเจนลดต่ำลงด้วย สุราทำให้โลหิตจาง โดยจะไปลดการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้ความเม็ดเลือดขาวทำลายแบคทีเรียช้าลง และทำให้การแข็งตัวของเกล็ดเลือดช้าลงด้วย
- ตับอ่อน แอลกอฮอล์จะทำให้เซลล์ของตับอ่อนระคายเคือง และบวมขึ้น สุราทำให้การไหลของน้ำย่อยไม่สามารถที่จะเข้าไปในลำไส้เล็กได้ ทำให้น้ำย่อยย่อยตัวตับอ่อนเอง ทำให้เกิดเลือดออกอย่างเฉียบพลันและการอักเสบของตับอ่อน พบว่า 1ใน5 จะเสียชีวิตไปในครั้งแรก เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อนการสร้างอินซูลินขาดหายไป และทำให้เป็นเบาหวานในที่สุด
- ตับ แอลกอฮอล์มีอิทธิพลต่อเซลล์ของตับ ทำให้เกิดการบวม ทำให้น้ำดีซึมผ่านไปทั่วตับ เป็นเหตุให้ตัวเหลือง รวมทั้งส่วนขอบตาและผิวหนังเป็นสีเหลืองด้วย ทุกครั้งที่ดื่มสุรานั้น เซลล์ของตับจะถูกทำลายเป็นผลให้ตับแข็ง การเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับมีถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา
- หัวใจ แอลกอฮอล์ทำให้กล้ามเนื้อของหัวใจบวม ทำให้เกิดเป็นพิษกับหัวใจมีการสะสมของไขมันมากขึ้น และทำให้การเผาผลาญช้าลงไปด้วย
- กระเพาะปัสสาวะและไต แอลกอฮอล์ทำให้เยื่อบุของกระเพาะปัสสาวะบวม ทำให้ไม่สามารถยืดได้ตามปกติ การระคายเคืองของไตทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
- ต่อมเพศ ต่อมอัณฑะจะบวม ทำให้ความสามารถทางเพศลดลง
- สมอง เป็นอวัยวะที่ไวต่อฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ก่อให้เกิดพิษแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
- พิษแบบเฉียบพลัน ได้แก่ Alcoholic intoxication แบ่งออกเป็นพิษในระดับมากน้อยแตกต่างกันไป ตามระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดดังนี้
ระดับแอลกอฮอล์ (มิลลิกรัม/100มิลลิลิตร mg%) | อาการที่แสดง |
---|---|
30 | ทำให้เกิดการสนุกสนานร่าเริง |
50 | เสียการควบคุมการเคลื่อนไหว |
100 | แสดงอาการเมาให้เห็น เดินไม่ตรงทาง |
200 | เกิดอาการสับสน |
300 | เกิดอาการง่วงซึม |
400 | เกิดอาการสลบ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ |
- พิษเรื้อรัง
แอลกอฮอล์มีพิษโดยตรงต่อสมอง ทำให้เซลล์สมองเสื่อม ในผู้ติดสุราพบว่ามีการฝ่อลีบของสมองส่วนคอร์เทกซ์ ซึ่งจะมีผลต่อการเสื่อมทางจิตด้วยหลายประการ เช่น ขาดความรับผิดชอบความจำเสื่อม เมื่อเป็นมากเกิดประสาทหลอน หูแว่ว หลงผิด หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง และแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท โดยกดศูนย์ควบคุมระบบต่าง ๆ เช่นกดศูนย์หายใจและศูนย์ควบคุมการไหลเวียนของโลหิตในสมอง ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้นจะก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายอย่างมากมาย การที่รัฐบาลเข้ามาให้ความสนใจและประกาศใช้กฎหมายหลายฉบับรวมถึงมาตรการควบคุมการซื้อขายสุราจึงเป็นหนทางการป้องกันวิธีหนึ่ง ซึ่งหนทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องนั้นควรเริ่มจากต้นเหตุของปัญหา แต่การที่เสนอข้อเรียกร้องจะให้ทางภาครัฐกระทำการยกเลิกการผลิตสุราภายในประเทศ หรือยกเลิกการนำเข้าจากต่างประเทศคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย ด้วยเหตุผลทางการค้าขายภายในและระหว่างประเทศ ฉะนั้นหนทางแก้ไขที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการให้การดูแลเอาใจใส่ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของสิ่งเสพติดต่าง ๆ แก่บุตรหลานของตนตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่มักทำอะไรตามเพื่อน คึกคะนอง อยากลอง และทางภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและควบคุมพฤติกรรมของเยาวชนให้อยู่ในกรอบและกฎระเบียบของสังคม รวมถึง การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการชี้ให้เห็นโทษของสุราและสิ่งเสพติดตามสื่อต่างๆของภาครัฐและเอกชนให้มีความชัดเจนและมากยิ่งขึ้นกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันจึงจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างถาวร
เอกสารอ้างอิง
1. AOAC 1984. Official methods of analysis. 14thed.
2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์.2004.(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http.//www.thaihealth.or.th/alcohol/php
3. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสุรา มอก.39–2516. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. กระทรวงอุตสาหกรรม.
4. สารเสพติดและสังคมปัจจุบัน.2004. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http.//www.pham.chula.ac.th./surachai/acaclemic/MasTox/mantox03.htm
5. เหล้า. 2004 (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http.//www.md.chula.ac.th/public/medinfo/food/alcohol/alco1.htm
ผู้เขียน: มโนวิช เรืองดิษฐ์
โครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี