โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เปลี่ยนแปลง และเจริญเติบโตผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ ผู้สูงอายุและผู้มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งจะมีอัตราเสี่ยง มากกว่าคนปกติหรือผู้ที่มีภาวะโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และผู้ที่รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น อาการโดยส่วนใหญ่ของมะเร็งลำไส้จะมีท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมีเลือดสด อุจจาระมีขนาดเล็กลง มีอาการจุกเสียดแน่นบ่อยครั้ง อ่อนเพลียและน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากลำไส้เป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินอาหาร
ดังนั้นต้องดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษ การรักษาที่ถูกต้องร่วมกับโภชนบำบัดที่ถูกหลัก สามารถลดการแพร่กระจายและอาการทรมานจากมะเร็งได้ข้าวแป้ง ควรเลือกชนิดที่เป็นพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นหลัก พวกที่มีใยอาหารอาทิ ข้าวกล้อง ธัญพืช เนื่องจากกลุ่มใยอาหารจะทำหน้าที่ในการดูดซับสารก่อมะเร็งและน้ำดีแล้วขับ ออกจากร่างกาย ดังนั้นการได้รับใยอาหารที่พอเหมาะ จะช่วยลดโอกาสการรับสารก่อมะเร็ง ของร่างกายได้ ควรรับประทานประมาณ 6-8 ทัพพีต่อวัน สำหรับผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้แล้ว มีอาการแน่นไม่สบายท้อง ไม่ควรรับประทานครั้งละมากควรจะค่อย ๆ รับประทานทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง
เนื้อสัตว์ ผู้ป่วยควรได้รับโปรตีนวันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไข่และเนื้อสัตว์ต่างๆเป็นแหล่งของโปรตีนที่ให้กรดอะมิโนครบถ้วน หากผู้ป่วยไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลยควรรับประทานถั่วเหลืองผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองแทน
แต่หากยังรับประทานเนื้อสัตว์อยู่ ควรเลือกชนิดที่ไม่ติดมันเป็นหลัก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แหนม เพราะอาหารแปรรูปมักใส่สารไนไตรท์ ไนเตรต มีไขมันมาก ทำให้กระตุ้นการเกิดมะเร็งมากขึ้น
มีงานวิจัยการเสริมโฟเลทสามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์ มะเร็งได้ซึ่งสารอาหารนี้พบมากในนม ดังนั้นการดื่มนมช่วยเสริมสร้างสารโฟเลทแต่ควรเลือกชนิดพร่องมันเนย
น้ำมันแและไขมัน
โดยทั่วไปแล้วอาหารประเภทไขมันควรระวังไม่รับประทานมากแม้ในคนปกติ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ยิ่งจำเป็นต้องดูแลเรื่องของไขมัน ควรเลือกใช้ไขมันที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว เนื้อปลาทะเลจะมีไขมันไม่อิ่มตัว
ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริม เพราะหากรับประทานน้ำมันสกัดยิ่งทำให้ร่างกายได้รับน้ำมันเกินความจำเป็น
อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
งดไขมันที่เกิดจากการปิ้งย่างหรือการทอดน้ำมันซ้ำ ล้วนแต่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสัมผัสกับลำไส้โดยตรงเสี่ยงต่อการทำให้โรคเป็นมากขึ้น
ผักและผลไม้
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคมากในระยะนี้ ควรลดปริมาณที่รับประทาน เนื่องจากระบบย่อยอาหารของผู้ป่วยเริ่มแปรปรวน
การได้รับใยอาหารมากอาจส่งผลให้เกิดอาการแน่นท้องและท้องอืดได้ อาจรับประทานที่ละน้อย
ผักบางชนิดยิ่งทำให้ท้องอืด โดยเฉพาะผักที่มีกลิ่นฉุนเพราะมีสารพวกกำมะถันอยู่มาก เช่น ต้นหอม หัวหอมใหญ่
ดังนั้น หากมีอาการท้องอืดอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยง
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการวิจัยหลายงานวิจัยที่พบอาหารมีผลดีต่อการป้องกันและต่อต้านมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำ เพราะมีสาร Isothiocyanate ซึ่งให้ผลดีในการควบคุมมะเร็ง การรับประทานควรล้างให้สะอาด เพราะแม้ผักชนิดนี้จะมีสารพฤษเคมีที่เป็นประโยชน์มากก็จริง แต่ก็เป็นแหล่งตกค้างของสารฆ่าแมลงมากเช่นกัน วิธีการล้างผักที่ได้ผลค่อนข้างดีอาจในน้ำส้มสายชู หรือการลวกผักก็จะเป็นการช่วยลดสารเคมีตกค้างลงไปมาก
กรณีผู้ป่วยผ่าตัดลำไส้ออกบางส่วน ทำให้ระบบย่อยอาหารได้รับความเสียหายบ้างในช่วงแรก ควรรับประทานอาหารเหลวที่มีพลังงานสูง เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ง่ายขึ้น ไม่ควรรับประทานผักและผลไม้มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดลมในช่องท้องได้
ผลไม้สามารถรับประทานได้ทุกชนิด ยกเว้นกรณีเพิ่งได้รับการผ่าตัดควรเลือกชนิดที่ย่อยง่าย เช่น มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า เป็นต้น และเพิ่มการดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการอุดตันของลำไส้จากเส้นใยอาหาร
อ้างอิงจาก โภชนบำบัดมะเร็ง : ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
เรียบเรียงโดย พรพิศ เรืองขจร