ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 7089
Small_font Large_font

โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus)

คำจำกัดความ

ความผิดปกติที่แสดงออกในรูปความกระหายอย่างมากและการมีปัสสาวะออกมามาก ส่วนมากเกิดจากที่ร่างกายไม่สามารถสร้าง เก็บสะสม หรือปล่อยฮอร์โมนตัวสำคัญนี้ แต่อาจจะเกิดจากไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนนี้ก็ได้ มีเพียงเล็กน้อยที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์ (gestational diabetes insipidus) เป็นโรคที่มีการสูญเสียหน้าที่การดูดกลับของน้ำที่ไต เนื่องจากระดับของฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการดูดกลับของน้ำลดลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายได้ ทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะออกบ่อยและมีปริมาณมาก ร่วมกับมีอาการกระหายน้ำมากคล้ายโรคเบาหวาน แต่ปัสสาวะจะมี รสจืด จึงเรียกว่า เบาจืด โรคนี้พบได้น้อยมาก พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

อาการ

อาการทั่วไปได้แก่ กระหายอย่างมาก และปัสสาวะที่เจือจางปริมาณมาก ปริมาณปัสสาวะอาจมีมากตั้งแต่ 2.5 ลิตรต่อวัน จนถึง 15 ลิตรต่อวัน (ปริมาณปัสสาวะปกติต่วันประมาณ 1.5-2.5 ลิตร) อาการอื่นๆได้แก่ ปัสสาวะกลางคืน (nocturia) หรือปัสสาวะรดที่นอน
ในทารกหรือเด็กเล็กอาจมีอาการต่างๆดังนี้

  • ร้องไห้งอแงงอย่างไม่สามารถอธิบายได้
  • ผ้าอ้อมที่เปียกบ่อย
  • ไข้ อาเจียร หรือท้องเสีย
  • ผิวหนังแห้ง ร่วมกับมือเท้าเย็น
  • การเจริญเติบโตช้า
  • น้ำหนักลด

ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะออกบ่อยและมีปริมาณมาก ร่วมกับมีอาการกระหายน้ำและดื่มน้ำมาก ชอบดื่มน้ำเย็นมากเป็นพิเศษ ปากมักจะแห้งอยู่เสมอ จะมีอาการอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน แม้นอนหลับตอนกลางคืนก็มักจะลุกขึ้นมาปัสสาวะและดื่มน้ำคืนละหลายครั้ง ผู้ป่วยมักถ่าย ปัสสาวะวันละเกิน 5 ลิตร (ถ้าเป็นรุนแรงอาจมากถึงวันละ 20 ลิตร) ปัสสาวะมักจะไม่มีกลิ่น ไม่มีสีและมีรสจืด
เนื่องจากการสูญเสียของน้ำไปทางปัสสาวะมาก ถ้าไม่ได้ดื่มน้ำตามที่ต้องการ จะกระวนกระวาย คอแห้ง ท้องผูก อ่อนเพลียมาก และอาจหมดสติ อาการที่เกิดอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันได้

สาเหตุ

โดยปกติแล้วไตของมนุษย์ทำหน้าที่กำจัดของเหลวส่วนเกิดในร่างกายออกไปเป็นปัสสาวะ และสงวนของเหลวไว้เมื่อร่างกายขาดน้ำ เพื่อให้ปริมาณของเหลวในร่างกายอยู่ในสมดุล โดยไตอาศัยฮอร์โมนแอนตีไดยูเรติก(ADH) หรือเรียกกว่า วาโซเพรซซิน(vasopressin) ในการควบคุมการขับของเหลวออกจากร่างกาย

ฮอร์โมนแอนตีไดยูเรติกสร้างจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส(hypothalamus) ถูกเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมอง(pituitary gland) และปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ฮอร์โมนจะทำหน้าที่ทำให้ปัสสาวะเข้มข้น โดยเพิ่มการดูดกลับของน้ำที่ท่อไต

โรคเบาจืดเกิดจากการขัดขวางระบบฮอร์โมนแอนตีไดยูเรติก สามารถแบ่งได้เป็น

  1. การรบกวนการสร้าง เก็บสะสม และการปล่อยฮอร์โมน(central diabetes insipidus) เกิดจากการทำลายสมองส่วน hypothalamus หรือ ต่อมใต้สมอง ส่วนใหญ่เกิดจากการผ่าตัด เนื้องอก ความเจ็บป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุ
  2. ความผิดปกติที่ท่อไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมน(Nephrogenic diabetes insipidus) อาจจะเกิดจากโรคทางพันธุกรรม หรือโรคเรื้อรังของไตเอง ยาบางชนิดสามารถชักนำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น ยาลิเธียม(lithium) ยาปฏิชีวนะเท็ดตร้าไซคลิน(tetracycline)
  3. โรคเบาจืดระหว่างตั้งครรภ์(Gestational diabetes insipidus) เกิดปฏิกิริยาที่ฮอร์โมนที่สร้างโดยรกมีผลทำลายฮอร์โมนแอนตีไดยูเรติก

เกิดจากต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการดูดกลับของน้ำ ที่มีชื่อว่า เอดีเอช (ADH ซึ่งย่อมาจาก antidiuretic hormone) หรือมี ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เวโซเพรสซิน (vasopressin) ได้น้อยกว่าปกติ ฮอร์โมนนี้มีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายเก็บกักน้ำไว้ในร่างกาย โดยยับยั้งไม่ให้ไตขับปัสสาวะออกมากกว่าปกติ เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนนี้ก็จะมีการขับปัสสาวะออกมากกว่าปกติ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติในสมองที่ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนน้อยลง เช่น การผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง,การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ, เนื้องอกในบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง, สมองอักเสบ,เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

แต่บางรายก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้ ผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติของไต เช่น กรวยไตอักเสบ, ภาวะ ไตวายเรื้อรัง, โรคไตเป็นถุงน้ำมาแต่กำเนิด (polycystic kidney) เป็นต้น บางรายเกิดจากผลจากการใช้ยาบางชนิด (เช่น ลิเทียม, เมทิซิลลิน) ซึ่งสาเหตุต่างๆเหล่านี้อาจทำให้ ไตไม่ตอบสนองต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนเอดีเอช ทั้ง ๆ ที่ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนได้เป็นปกติ จึงทำให้มีการขับปัสสาวะออกมาก

การวินิจฉัย

เนื่องจากอาการแสดงอาจเกิดได้จากโรคอื่นๆเช่น โรคเบาหวาน หรืออาศัยประวัติครอบครัว เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคทางพันธุกรรม โดยอาศัยการตรวจอื่นๆมาเพื่อวินิจฉัย และแยกโรคตามอาการ ได้แก่

  • การทดสอบ Water deprivation test ช่วยบ่งบอกสาเหตุของโรคเบาจืด วิธีการคือผู้ป่วยจะงดการดื่มสารน้ำต่างๆก่อนทดสอบ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นแพทย์จะวัดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ปริมาณปัสสาวะ และส่วนประกอบของปัสสาวะหลังการอดน้ำ บางกรณีแพทย์จะวัดฮอร์โมนแอนตีไดยูเรติกในเลือดด้วย
  • การเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจในห้องแลป (Urinalysis) ช่วยบ่งบอกถึงลักษณะของปัสสาวะทางด้านกายภาพและเคมี หากทดสอบปัสสาวะมีความเจือจาง ก็อาจจะเกิดขึ้นจากโรคเบาจืดได้
  • การสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI scan) โดยการใช้แม่เหล็กพลังสูงและคลื่นวิทยุสร้างภาพจำลองของเนื้อเยื่อสมองเพื่อดูความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือบริเวณใกล้เคียง

ภาวะแทรกซ้อน

  1. อาการของร่างกายขาดน้ำได้แก่
    • ปากแห้ง
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • ความดันโลหิตต่ำ
    • ภาวะเกลือในเลือดสูง(hypernatremia)
    • เบ้าตาบุ๋มลึก
    • ไข้ ปวดหัว
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • น้ำหนักลด
  2. ภาวะการไม่สมดุลของเกลือแร่(electrolyte imbalance) ได้แก่ โซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียม ทำให้เกิดอาการปวดหัว อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย และปวดกล้ามเนื้อได้

การรักษาและยา

การรักษาโรคนี้ในคนไข้เบาจืดที่ปัสสาวะไม่บ่อยมาก ประมาณวันละ 2-3 ลิตร ควรทำแค่เพียงดื่มน้ำทดแทนก็พอ คือ ไม่ต้องใช้ยาเลย แต่ถ้าคนไข้มีอาการรุนแรงมาก กล่าวคือ มีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยมาก กรณีนี้จำเป็นจะต้องใช้ยาช่วย และการปฏิบัติตัวที่ถุกต้องก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนไข้โรคนี้ ประกอบด้วย

  1. คนไข้จำเป็นต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ และถ้าเมื่อใดก็ตามที่ไปอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก หรือการที่คนไข้มีอาการท้องเดิน ท้องเสีย ต้องพยายามทดแทนโดยการดื่มน้ำเปล่าให้มากพอ คำว่า มากพอ ในที่นี้หมายถึง ดื่มจนหายกระหายน้ำ หรืออาจจะให้แพทย์แนะนำว่า ในคนไข้แต่ละราย ควรดื่มน้ำมากขนาดไหนจึงจะพอ
  2. อาหาร ควรเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกไปทางปัสสาวะมากขึ้นจากการพยายามขับเกลือในร่างกายที่มีปริมาณมากเกินไป ทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้นอีก หากเป็นเช่นนี้อาการของโรคเบาจืดจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
  3. กินยาตามแพทย์สั่งให้ครบและตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาหรืองดยาไปเองเมื่ออาการหายไป เพราะโรคนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทางหายขาดไปเลย ต้องใช้ยาควบคุมอยู่เสมอ
  4. ยาที่กินควบคุมอาการเบาจืด มียาหลายตัวที่อาจมีผลแทรกซ้อนบางอย่าง ถ้าเรารู้ผลแทรกซ้อนเหล่านี้ไว้ จะได้เตรียมปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ยาบางตัวที่กินรักษาโรคเบาจืด อาจมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นต้องกินอาหารให้ตรงเวลา และอาหารที่กินควรมีแป้งและน้ำตาลมากเพียงพอ มิฉะนั้นร่างกายจะขาดน้ำตาลได้ หรือ ยาบางตัวอาจจะทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ โดยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  5. คนไข้ทุกรายควรจะพกบัตรหรือข้อความที่แสดงว่าตัวเองเป็นโรคเบาจืด และ ควรบอกด้วยว่ากำลังใช้ยาอะไรรักษาอยู่
  6. เนื่องจากผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะบ่อยมาก จึงควรดูแลความสะอาดหลังการถ่ายปัสสาวะทุกครั้ง
  7. ในกรณีผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการลุกเดินไปห้องน้ำบ่อย ๆ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนั้นควรดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำเข้าสู่ร่างกายอย่างเพียงพอ และสังเกตว่ามีอาการของการขาดน้ำหรือไม่ เช่น ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง ตาลึกโหล เป็นต้น หากปรากฏอาการผิดปกติที่ไม่แน่ใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

แหล่งอ้างอิง

  1. Mayo Foundation for Medical Education and Research : Diabetes insipidus [online].,Available from ; URL :http://www.mayoclinic.com/health/diabetes-insipidus/DS00799
  2. วิทยา ศรีดามา. Evidence-based clinical practice guideline ทางอายุรกรรม 2548. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่4. 2548.
  3. วิทยา ศรีดามา. ตำราอายุรศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550.
  4. ทวี ศิริวงศ์ บรรณาธิการ. คู่มือเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก.ขอนแก่น : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พิมพ์ครั้งที่ 2. 2548.


27 พฤษภาคม 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย