ควันบุหรี่ในอากาศรอบตัวเรา ประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่นเดียวกับควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่สูดเข้าสู่ปอด เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนีย อาร์เซนิก ปรอท ฟอร์มาลดีไฮด์ และสารก่อมะเร็งชนิดอื่นๆ
ควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศหรือในสภาพแวดล้อม จึงเรียกว่า “ควันบุหรี่มือสอง” หรือเรียกว่า “การสูบบุหรี่โดยไม่สมัครใจ” เพราะคนไม่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไป
ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคต่างๆ ดังนี้
- มะเร็ง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30 นอกจากมะเร็งปอด ยังมีหลักฐานบ่งบอกว่าเป็นสาเหตุหนึ่ง มะเร็งเต้านม , มะเร็งปากมดลูก , มะเร็งกล่องเสียง , มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- เส้นเลือดหัวใจตีบ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30 รายงานการวิจัยพบว่า ความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบของคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองสูงเท่ากับคนที่สูบบุหรี่วันละ 1 ถึง 9 มวนที่เป็นเช่นนี้เพราะการได้รับควันบุหรี่ แม้ในจำนวนไม่มาก ก็จะมีผลทำให้เกิดการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเส้นเลือดตีบ การได้รับควันบุหรี่ยังทำให้เส้นเลือดแข็งตัวเร็วขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง
- เส้นเลือดในสมองตีบ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27 เช่นเดียวกับกลไกการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ
- ถุงลมปอดโป่งพอง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25
- โรคหอบหืด ความเสี่ยงการเกิดโรคหืดของเด็กที่อยู่ในบ้านที่มีผู้ปกครอง คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนสูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 60
ในเด็กที่เป็นหืดอยู่แล้วอาการจะรุนแรงขึ้นและรักษายากขึ้น
- ทารกตายกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือไหลตายในเด็ก ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 55-143
- การติดเชื้อของทางเดินหายใจในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ เช่น หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57
ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในเด็กที่มีแม่สูบบุหรี่มากกว่าที่มีพ่อสูบบุหรี่ สันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เด็กได้รับควันบุหรี่ขณะยังอยู่ในครรภ์ที่แม่สูบบุหรี่
- โรคน้ำคั่งในช่องหูส่วนกลาง มีสถิติเพิ่มขึ้นในเด็กเล็กที่มีพ่อ – แม่ที่สูบบุหรี่
- ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้เด็กมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติและทารกมีโอกาสแท้งมากขึ้น
10 สาเหตุที่ ที่ทำงาน ร้านอาหาร และสถานที่สาธารณะต่างๆ ต้องปลอดบุหรี่
- การได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบเป็นอันตรายต่อสุขภาพและทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ป่วยและเสียชีวิต
- พนักงานทุกคนมีสิทธิอันชอบธรรมในการปกป้องตนเองจากการได้รับควันบุหรี่
- หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศไม่สามารถป้องกันผู้คนจากอันตรายของควันบุหรี่ได้
- กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อรายได้ของร้านค้า และธุรกิจ
- สิทธิในการใช้ชีวิตจะต้องหมายรวมถึงการมีความรับผิดชอบในการไม่ทำร้ายผู้อื่น
- ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนกฎหมายกำหนดเขตปลอดบุหรี่
- สาธารณชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายจัดเขตปลอดบุหรี่
- มาตรการจัดเขตปลอดบุหรี่ มีการประกาศใช้และประสบผลสำเร็จแล้วในประเทศต่างๆ มาตรการนี้จึงควรมีการดำเนินการในทุกประเทศ
- มาตรการเขตปลอดบุหรี่เป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลต่อการสร้างสุขภาพมาก
- นโยบายปลอดบุหรี่ที่ได้ผล คือ การมีการปฏิบัติตามอย่างจริงจัง
ที่มา
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไ่ม่สูบบุหรี่