อ่าน: 1321

ผู้ป่วยกระดูกต้นขาหักที่ได้รับการผ่าตัดดามเหล็ก ควรเอาเหล็กออกเมื่อไหร่ ไม่เอาออกได้หรือไม่

จากการศึกษาพบว่า ควรเอาเหล็กออกประมาณปีครึ่งถึง 2 ปี หลังกระดูกติดจะปลอดภัยที่สุด อย่างไนก็ตามเหล็กที่ใช้ไม่เป็นสนิม หากปล่อยไว้ ไม่พบว่าก่อให้เกิดผลเสียมากนัก นอกจากอาจเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ต่อเหล็กดามชนิดแผ่น

หลังผ่าตัดเอาเหล็กออก ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือไม่
ขึ้นอยู่กับชนิดของเหล็กดามถ้าใช้สกรูร่วมต้องใช้ไม้ค้ำยันประมาณ 6 สัปดาห์ เนื่องจากเมื่อนำสกรูออกกระดูกจะมีรู ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการหักผ่านรูสกรู

ทำไมต้องผ่าตัดดามเหล็ก เมื่อกระดูกต้นขาหัก
เนื่องจากกระดูกต้นขา (ฟีเมอร์) เป็นกระดูกที่มีขนาดใหญ่และมีกล้ามเนื้อเกาะมาก การรักษาแบบอนุรักษ์(ไม่ผ่าตัด)มักเกิดปัญหา เช่น กระดูกไม่ติด ติดเบี้ยว หรือ ขาสั้นยาว การผ่าตัดจะสามารถจัดกระดูกได้ตรงกว่า และผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเอง เคลื่อนไหวได้เร็วกว่าวิธีอนุรักษ์

จะลองรักษาด้วยหมอบ้านดีหรือไม่
หมอบ้านจะรักษาด้วยน้ำมัน การนวดและ/หรือใช้ไม้ไผ่ประกบ เนื่องจากกระดูกฟีเมอร์ถูกดึงจากกล้ามเนื้อที่มีแรงมากผู้ป่วยมักเกิดปัญหาเรื่องกระดูกเบี้ยวขาสั้นยาวหรือกระดูกไม่ติด ซึ่งยากต่อการผ่าตัดแก้ไขภายหลัง

ทำไมต้องดึงขาก่อนผ่าตัด
การดึงขาโดยใช้เหล็กดึงผ่านกระดูกบริเวณเข่า จำกัดการเคลื่อนที่ของกระดูกที่หัก ซึ่งช่วยลดอาการปวด นอกจากนี้การดึงจะลดความสั้นยาวของขา ทำให้ง่ายต่อการจัดเข้าที่ขณะผ่าตัด

ทำไมต้องถือไม้ค้ำยัน และต้องถือนานแค่ไหน
เหล็กดามกระดูกทำหน้าที่เป็นตัวยึดให้กระดูกอยู่นิ่ง ซึ่งช่วยให้กระดูกติด แต่เหล็กไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักเต็มที่ขณะเดิน การใช้ไม้ค้ำยันจึงช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อการหักของเหล็กดามก่อนกระดูกติด ส่วนการลงน้ำหนักขึ้นอยู่กับชนิดของเหล็กดามและระยะเวลาหลังดามเหล็ก เหล็กดามชนิดแท่งกลวงจะรับน้ำหนักได้ดีกว่าชนิดแผ่น ผู้ป่วยจะเริ่มลงน้ำหนักได้มากขึ้น เมื่อกระดูกเริ่มติดและสามารถหยุดการใช้ไม้ค้ำยันเมื่อกระดูกติดซึ่งใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3-6 เดือน ดังนั้นจึงไม่ควรทิ้งไม้เท้าก่อนแพทย์อนุญาต

มีอาหารแสลงหรือไม่ กินอะไรกระดูกจึงจะติดเร็ว
ไม่มีอาหารแสลง แต่ควรงดเหล้า บุหรี่ เพราะจะทำให้กระดูกติดช้า ขณะเดียวกันไม่มียาหรืออาหารที่ทำให้กระดูกติดเร็วกว่าปกติ ยามที่มีแคลเซียมอาจช่วยให้ผู้ป่วยที่กินอาหารมีแคลเซียมไม่พอแต่คนปกติทั่วไปไม่พบว่าช่วยให้กระดูกติดเร็วขึ้น

กรณีใดบ้างหลังผ่าตัดซึ่งต้องรีบปรึกษาแพทย์
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดดามเหล็กคือกระดูกติดเชื้อหรือเหล็กดามหัก ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์เมื่อ

  • แผลผ่าตัดปวด บวม แดง หรือ มีไข้
  • มีน้ำเหลือง หนอง ไหลจากแผล
  • ต้นขาผิดรูป
  • ปวดมากเมื่อลงน้ำหนัก

ควรออกกำลังกายอย่างไร
การออกกำลังกายจะช่วยปรับสภาพของกล้ามเนื้อต้นขาและเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ควรบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังขณะเข่าเหยียด และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนที่ของเข่าด้วยการงอและเหยียดเข่าให้สุดบ่อยๆ

แพทย์จะติดตามการรักษาอย่างไร
หลังจากแพทย์อนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน แพทย์จะนัดมาเพื่อตรวจแผลในครั้งแรก หลังจากนั้นจะนัดตรวจเอกซเรย์เป็นระยะๆ (ประมาณเดือนละครั้ง) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการติดของกระดูก โดยแพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยลงน้ำหนักได้มากขึ้นตามลำดับ และจะอนุญาตให้หยุดใช้ไม้ค้ำยันก็ต่อเมื่อภาพเอกซเรย์แสดงการติดของกระดูกเต็มที่แล้ว ไม่ควรคิดว่าเมื่อต้นขาไม่ปวด คือ กระดูกติด

ข้อมูลจาก: โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

: กาย
: บทความสุขภาพ
: สุขภาพ

จริญญา 08 เม.ย. 2553 10 เม.ย. 2553
ความคิดเห็น (1)
« ก่อนหน้า หน้า 1 จาก 1 ถัดไป »

เรื่องนี้มีประโยชน์มากๆ เลยครับ, ถ้าอาจารย์เพิ่มการอ้างอิง (reference) ว่า ต้นฉบับมาจากที่ไหน น่าจะมีประโยชน์มาก // หรือถ้าสแกนต้นฉบับให้ดาวน์โหลดได้ยิ่งดี (กรณีเป็นเอกสารเผยแพร่ความรู้ ซึ่งเจ้าของมุ่งจะเผยแพร่เป็นวิทยาทาน หรือวิชาการอยู่แล้ว) // ขอขอบพระคุณครับ...

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ (118.172.105.196) 10 เมษายน 2553 - 11:25 (#924)
« ก่อนหน้า หน้า 1 จาก 1 ถัดไป »
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย