อ่าน: 160

ผลกระทบของตะกั่วกับความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก

ตะกั่ว(Pb)

ตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่มีเลขอะตอม (Atomic number) 82, น้ำหนักอะตอม (Atomic weight) 207.2 กรัมต่อโมล ในธรรมชาติพบมากในรูปแร่กาลีนา (galena) ซึ่งอยู่ในรูปตะกั่วซัลไฟด์ (PbS) ตะกั่วบริสุทธิ์มีสีน้ำเงินขาว มันวาว เป็นโลหะที่อ่อนมาก สามารถตีให้เป็นแผ่นบาง ๆ และดึงให้เป็นเส้นได้ดี มีความสามารถในการนำ ไฟฟ้าต่ำ ทนการกัดกร่อนได้ดี เมื่อเติมพลวงหรือโลหะอื่นในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มความเหนียวให้กับตะกั่วได้

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดด้วยกันที่มีส่วนผสมของตะกั่ว ได้แก่ แบตเตอรี่แผงวงจรไฟฟ้าในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สายเคเบิล เครื่องกระสุน ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ ยาสูบ ผลิตภัณฑ์สี ถ่านหิน น้ำ มันเบนซิน เป็นต้น จากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตะกั่ว ที่มีอยู่นานาชนิดและพบได้ทุกหนทุกแห่งในชีวิตประจำวันแสดงให้เห็นว่าตะกั่วเป็นโลหะที่มีประโยชน์อย่างมหาศาล แต่พึงตระหนักว่าสิ่งใดก่อเกิดคุณ อนันต์ สิ่งนั้นย่อมก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้เช่นกัน การได้รับตะกั่วเข้าไปสะสมในร่างกายสามารถเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆอีกมากโดยตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการหายใจ หรือรับประทาน อาหารที่มีการปนเปื้อนของตะกั่วเข้าไป ไม่ว่าจากสภาวะแวดล้อมของการทำงาน หรือแม้แต่ในบ้าน ก็สามารถได้รับสารพิษจากตะกั่วได้ เช่น จากฝุ่นที่เกิดจากการหลุดลอกของสีทาบ้าน ภาชนะใส่อาหารเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อตะกั่วเข้าไปสะสมในร่างกาย ไม่ว่าจากการหายใจ หรือการรับประทานจะก่อให้เกิดทั้งพิษแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณ และระยะเวลาที่ได้รับ

การเกิดพิษแบบเฉียบพลัน:ในเด็กหากมีปริมาณตะกั่วในเลือดมากกว่า 125 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (micrograms per deciliter; μg/dL) จะทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน และเมื่อมีปริมาณตะกั่วในเลือดมากกว่า 80 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรในเด็ก 100 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับผู้ใหญ่ ทำให้ไตและสมองถูก ทำลายอย่างเฉียบพลัน

การเกิดพิษแบบเรื้อรัง:ในผู้ชายที่ได้สัมผัสกับตะกั่วอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณตะกั่วในเลือด 40 ถึง 50 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร มีผลทำให้ปริมาณสเปิร์ม (sperm) ลดลง ในหญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสกับตะกั่วเป็นประจำและมีปริมาณตะกั่วในเลือด 10 ถึง 15 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จะเป็นอันตรายกับเด็กในครรภ์ มีผลทำให้เด็กที่เกิดมามีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีความบกพร่องในการพัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจ นอกจากนี้การสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนตะกั่วเป็นระยะเวลานานนั้น พบว่าเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งระบบทางเดินหายใจ มะเร็งในไต มะเร็งปอด และมะเร็งในกระเพาะอาหาร

ต้อกระจก (Cataract)
ต้อกระจกเป็นภาวะที่เลนส์ตามีลักษณะขุ่นขาวขึ้น ส่งผลให้แสงไม่สามารถผ่านไปที่จอตาได้ ทำให้เกิดอาการตาฝ้าฟาง หรือมืดมัว โดยมีสาเหตุหรือความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกดังนี้

  • 80% เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีคววามเสี่ยงที่จะเป็นต้อกระจกแทบทุกคน แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกสูงอายุ (Senile cataract)
  • เป็นมาแต่กำเนิด โดยเกิดในทารกที่เป็นโรคหัดเยอรมันตั้งแต่กำเนิด
  • เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ หรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง
  • เกิดจากความผิดปกติของตา เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อหิน
  • เกิดการใช้ยา เช่น การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตอรอยด์ หรือกินสเตอรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด
  • เกิดจากการถูกรังสีที่ตาเป็นระยะเวลานาน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องรักษาด้วยรังสีบ่อย ๆ
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน และภาวะขาดอาหาร ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน

ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนหมอกบัง มองในที่มืดชัดกว่าที่สว่างหรือเมื่อถูกแสงสว่างตาจะพร่ามัว สู้แสงสว่างไม่ได้หรือมองเห็นภาพซ้อนโดยไม่มีอาการเจ็บปวด หรือตาแดงแต่อย่างไร อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆกินเวลานานนับปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมด(ต้อสุก)ก็จะมองไม่เห็น เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท ในผู้ป่วยบางรายแก้วตาอาจบวม หรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของของเหลวในลูกตา ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นจนกลายเป็นต้อหินได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง

ตะกั่วกับต้อกระจก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะวิจัยของ Harvard School of Public Health and Brigham and Women’s Hospital ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยซึ่งได้รวบรวมข้อมูลมานานกว่า 9 ปี จากงานวิจัยพบว่า 42 % ของผู้ป่วยชายสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี)ที่เป็นตาต้อกระจกนั้นมีการสะสมของตะกั่วในกระดูกในปริมาณสูงโดยในการศึกษาเก็บตัวอย่างจากกระดูกแข้งและหัวเข่า และผู้ที่มีปริมาณตะกั่วในกระดูกสูงจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกมากกว่าผู้ที่มีปริมาณตะกั่วในกระดูกต่ำถึง 2.7 เท่า โดยตะกั่วสามารถผ่านเข้าไปยังเลนส์ตา และทำลายโปรตีนในเซลล์ของเลนส์ตาทีละน้อย เป็นผลทำให้เลนส์ตาเริ่มขุ่น จนเกิดเป็นต้อกระจกในที่สุด

การลดความเสี่ยง

ในชีวิตประจำวันของเราไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำงานหรือแม้แต่ในบ้านของเราเอง หากเราสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับตะกั่วได้ ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก และโรคอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากพิษของตะกั่วได้ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับตะกั่วนั้นสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน กล่าวคือ หากหน้าที่การทำงานของเราจำเป็นต้องสัมผัสกับตะกั่วตลอดเวลา เช่น การทำงานในโรงงานถลุงตะกั่ว โรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น เราต้องสวมหน้ากากชนิดที่สามารถกันฝุ่น และฟูมของตะกั่วได้ และควรสวมถุงมือ ถุงเท้า รองเท้าให้มิดชิดรัดกุม เพื่อป้องกันการสัมผัสกับตะกั่วโดยตรง เมื่อเลิกงานควรทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนกลับบ้านทุกครั้ง แม้แต่ช่วงพักกลางวันก็ควรล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง นอกจากนี้ยังต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่ของพนักงานเพื่อลดอัตราเสี่ยงในการสัมผัสตะกั่วเป็น ระยะเวลานานติดต่อกัน สำหรับในบ้านพักอาศัยถึงแม้จะมีอัตราความเสี่ยงน้อยกว่าในโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม แต่ก็มีโครงสร้าง อุปกรณ์ และเครื่องอำนวยความสะดวกหลายชนิดด้วยกันที่มีส่วนผสมของตะกั่ว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วการสะสมเพียงเล็กน้อยแต่เป็นระยะเวลายาวนานก็สามารถก่อให้เกิดพิษจากตะกั่วเช่นกัน

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรป้องกันไว้ก่อนโดยเฉพาะบ้านหรืออาคารที่สร้างก่อนปีพ.ศ. 2521 เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นสีทาบ้านยังคงมีส่วนผสมของตะกั่วอยู่ หากไม่มั่นใจว่าบ้านที่พักอาศัย หรืออาคารนั้นมีการปนเปื้อนของตะกั่วหรือไม่ จึงควรทำความสะอาดพื้น กรอบหน้าต่าง ด้วยไม้ถูพื้นหรือฟองน้ำชุบน้ำอุ่นหรือน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ และไม่ใช้กระดาษทรายหรือวัสดุผิวหยาบอื่นขัดพื้นผิวที่มีการทาสี เพราะอาจมีตะกั่วหลุดลอกออกมากับสีได้ ควรล้างเท้าหรือถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านเพื่อป้องกันตะกั่วที่ปนเปื้อนในดินเข้าสู่ที่พักอาศัย นอกจากนี้ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร สำหรับบ้านพักอาศัยหรืออาคารที่มีเด็กอาศัยอยู่ต้องทำความสะอาดบริเวณพื้นที่เล่น ของเล่น อย่างสม่ำเสมอ และให้เด็กรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ มีเหล็กและแคลเซียมสูง เพราะเด็กที่มีภาวะโภชนาการดีและไม่อ้วนร่างกายจะดูดซับตะกั่วได้น้อย

เอกสารอ้างอิง
American Academy of Ophthalmology, Age-Related Cataracts, ออนไลน์, www.medem.com
American Academy of Ophthalmology, Cataract, ออนไลน์, www.medem.com
Einstein Medical, Inc., Do you suffer From Cataracts? ออนไลน์, www.cataractsfyi.com
MedicineNet, Inc., Lead Exposure Increase Cataract Risk, ออนไลน์, www.medicinenet.com
“______”, Lead Exposure May be Lead to Cataract, ออนไลน์, www.newkerala.com
MedicineNet Inc., Lead Poisoning, ออนไลน์, www.medterms.com
Los Alamos National Labs, Lead, ออนไลน์, www.pearl1.lanl.gov
“______”, New Study Links Lead Exposure with Increased Risk of Cataract, ออนไลน์,
www.locateadoc.com
Debra A. Schaumberg; Flavia Mendes; Mini Balaram; M. Reza Dana; David Sparrow; Howard
Hu, Accumulated Lead Exposure and Risk of Age- Related Cataract in Men, The
Journal of the American Medical Association,Vol.292 No. 22, 2004, p. 2750-2754
U.S. Environmental Protection Agency, Lead in Paint, Dust, and Soil, ออนไลน์, www.epa.gov
U.S. Environmental Protection Agency, Lead Compounds, ออนไลน์, www.epa.gov
E-sense Ltd., ต้อกระจก, ออนไลน์, www.alternateinfo.com
“______”, โรคต้อกระจก, ออนไลน์, www.thailabonline.com
โรงพยาบาลสุขุมวิท, เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ:เป็นตาต้อแล้วตาจะบอดจริงหรือ, ออนไลน์,
www.sukumvithospital.com

ผู้เขียน: อมรพล ช่างสุพรรณ, เทพวิทูรย์ ทองศรี
โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

: กาย
: บทความ
: สุขภาพดี
จริญญา 24 ก.ย. 2552 24 ก.ย. 2552
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
ความคิดเห็น
captcha
 
หรือ ยกเลิก

เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย