โยคะมีความเป็นมาเกือบ 7000 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการที่โยคีมีสุขภาพไม่ดี จึงได้คิดหาท่าทางต่างๆเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโยคะเป็นวิธีการทางธรรมชาติบำบัดอย่างหนึ่ง ท่าต่างๆของโยคะมาจากโยคีหลายท่าน ประมาณกันว่ามีไม่น้อยกว่าห้าหมื่นท่า ดังนั้นการฝึกโยคะจึงเป็นท่าที่ง่ายมาก การทำโยคะเป็นอาสนะหมายถึงท่าที่ทำแล้วรู้สึกสบาย ดังนั้นใครทำท่าไหนแล้วรู้สึกสบายก็แสดงว่าบุคคลนั้นเหมาะกับท่านั้นๆ การฝึกโยคะจึงไม่จำเป็นต้องทำทุกท่า แต่ให้เลือกท่าที่เหมาะกับตนเองมาปฏิบัติเพื่อสุขภาพส่วนตัวจะดีกว่า
สาขาต่างๆของโยคะมีมากมาย สาขาที่นิยมมากที่สุดคือ หะฐะโยคะ ซึ่งจะเน้นอาสนะกับลมหายใจ นอกจากเป็นโยคะที่เกี่ยวกับร่างกายเบื้องต้นและการพัฒนาร่างกายให้สมบูรณ์ด้วยพลังแล้ว การฝึกโยคะสาขานี้จะทำให้อวัยวะภายในแข็งแกร่งได้ เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่สมบูรณ์ที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และอวัยวะภายในทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยมีการดึงเอาพลังภายในที่ซ่อนเร้นออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ซึ่งเมื่อปฏิบัติไประยะหนึ่งผู้เล่นโยคะจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงภายในทั้งกายและใจสมบูรณ์ขึ้น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจะแข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่จิตใจจะผ่อนคลายความตึงเครียดของประสาทได้ ซึ่งการออกกำลังกายอย่างอื่นไม่สามารถเทียบเท่าได้ ดังนั้นการฝึกโยคะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเข้าใจถึงตนเองอย่างแท้จริงและเพื่อยกระดับจิตใจของผู้ฝึกโยคะให้สูงขึ้นเพื่อให้ได้สมาธิ ซึ่งหมายถึงการรักษาสภาวะจิตที่ดี พิจารณาความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้งและบรรลุถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล
โยคะหมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย จิตใจและวิญญาณโดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นโยคะจึงเป็นศิลปะของการบริหารร่างกายภายใต้การควบคุมของจิตใจจนทำให้เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้ ทฤษฏีของโยคะคือการบำบัดโดยการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายตามที่กำหนด โดยการเน้นการหายใจเข้าออกให้สอดคล้องกับท่าฝึกและการทำสมาธิระหว่างการฝึก การฝึกโยคะที่ถูกต้องจึงต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
- การบริหารร่างกายให้ถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดี
- การรักษาความสมดุลของร่างกายและจิตใจโดยวางตัวและอารมณ์เป็นกลาง
- ความลงตัวระหว่างการฝึกกายและจิตใจ
- มีการชำระตนเองให้บริสุทธิ์ทั้งกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ
หลักสำคัญของการฝึกโยคะ
- ฝึกหายใจแบบโยคะให้ถูกต้อง หายใจเข้า- ท้องพอง หายใจออก-ท้องแฟบ สูดอากาศให้พอดีกับท่าฝึก เพื่อให้ร่างกายได้ออกซิเจนมากพอ ปล่อยลมหายใจออกให้สุด เพื่อขับอากาศเสียออกจากร่างกาย และลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ หายใจเข้า-ออก ให้สอดคล้องเป็นจังหวะกับท่าฝึกแต่ละท่า
- ฝึกท่าแต่ละท่าให้ทำช้าๆเป็นจังหวะที่ลงตัว ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายตามข้อจำกัดตามธรรมชาติร่างกายของแต่ละบุคคล อย่าฝืนเกินไป เช่นยืดตัวมากเกินไป เกร็งเกินไป ตึงมากไป บิดมากเกินไป เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อเจ็บได้
- การกำหนดจิต ให้เป็นหนึ่งเดียวกับการฝึกโดยไม่วอกแวก จะทำให้จิตสงบ เข้าถึงสมาธิได้ดีขึ้นห้ามแข่งขัน เพราะโครงสร้างและความยืดหยุ่นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การฝึกแต่ละท่าควรทำในขีดความสามารถของตนเท่านั้น เป้าหมายของการฝึกโยคะมิใช่อยู่ที่การฝึกทำท่ายากๆ แต่ควรเลือกท่าที่เหมาะสมกับตนเอง ควรอดทนและขยันฝึกโยคะเป็นประจำสม่ำเสมอ ฝึกอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3–4 ครั้ง
- หยุดพักและผ่อนคลายหลังแต่ละท่าฝึก ให้หายใจเข้า-ออก ช้าๆ ลึกๆ 6–8 รอบ เพื่อคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และทำให้การเต้นของหัวใจ ปรับเข้าสู่สภาวะปกติก่อนฝึกท่าต่อไป
โยคะกับฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย
ต่อมไพเนียลทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนสองตัวคือ ซีราโตนินและเมลาโตนิน ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองตัวมีผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อในร่างกายอีกหลายตัว รวมทั้งมีผลต่อความสงบของจิตใจ ต่อมไพเนียลมีความไวต่อแสงสว่างเมื่อใดไม่มีแสงสว่าง ต่อมไพเนียลจะสร้างฮอร์โมนเมลาโตนินมาก พบว่าเมื่อฮอร์โมนซีราโตนินถูกสร้างมากขึ้นจะทำให้ร่างกายเกิดความกระปรี้กระเปร่า เมื่อใดก็ตามที่ต่อมไพเนียลสร้างฮอร์โมนซีราโตนินในปริมาณที่สมดุลไม่มากจนเกินไป ร่างกายจะผ่อนคลาย จิตใจจะสงบสุข ถ้าต่อมไพเนียลสร้างซีราโตนินมากเกินไปจะทำให้เกิดกระวนกระวาย จิตใจว้าวุ่น เครียดจัด ทำให้หาความสุขไม่ได้ การฝึกโยคะของโยคีคือการฝึกควบคุมการทำงานของต่อมไพเนียล วิธีฝึกสมาธิเพื่อควบคุมการทำงานของต่อมนี้มีอาสนะอย่างท่ากระต่ายที่ก้มศีรษะลงติดพื้น ด้วยหวังว่าท่านี้คือการนวดต่อมไพเนียลในศีรษะ ซึ่งเชื่อว่าอาสนะท่านี้จะทำให้การสร้างฮอร์โมนเมลาโตนินเพิ่มมากขึ้น และลดการหลั่งซีราโตนินลง
โยคะมีวิธีควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่ออีกหลายต่อม เช่นท่ายืนด้วยไหล่ คือการเอาไหล่ตั้งรับน้ำหนักตัวทั้งหมดเอาขาชี้ฟ้า ท่านี้แนะให้ทำ 1–2 นาที เป็นการเอาศีรษะลงอยู่ในระดับต่ำ เอาตัวที่เคยอยู่ระดับต่ำกลับขึ้นไปอยู่ในที่สูง เพื่อเป็นการปรับการไหลเวียนของเลือดเสียใหม่ ด้วยอาสนะเช่นนี้ทำให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะมากขึ้น ทำให้ต่อมพิทูอิทารีจะได้รับเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นและมีความสมบูรณ์ในการ
สั่งงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆในร่างกายได้ดีกว่า ทำให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อฮอร์โมนของร่างกายอยู่ในระดับที่สมดุล
นอกจากนี้โยคะยังปรับการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้อีกด้วย ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่อยู่ตรงคอมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับสร้างเมตาโบลิซึมในร่างกายทำให้ร่างกายทำงานโดยไม่ติดขัดช่วยในการเจริญเติบโต หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไป เมตาโบลิซึมจะสูงขึ้น ทำให้หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูง ทำให้มีการเผาผลาญอาหารอย่างรวดเร็วกินเท่าไรก็ไม่พอแต่กลับผอมลง ถ้าฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์น้อยเกินไปจะมีอาการเซื่องซึม อ้วนขึ้น และไม่ฉลาด สามารถปรับสมดุลของร่างกายด้วยโยคะโดยแนะนำให้ทำท่าปลาและท่ายืนด้วยไหล่สลับกันไป ซึ่งท่ายืนด้วยไหล่จะกดต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นการนวดต่อมไทรอยด์ ในขณะที่ท่าปลาจะเป็นการดึงรั้งต่อมไทรอยด์ให้ตึง เพื่อให้การทำงานของต่อมนี้กลับมาอยู่ในสมดุลโดยวิธีธรรมชาติ
โยคะยังควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาโกรธอารมณ์จะพลุ่งพล่าน ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินออกมา ทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็ว หายใจหอบและเร็วขึ้น กล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัว ในลักษณะเช่นนี้แสดงว่าร่างกายเรากำลังเสียสมดุล ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ การฝึกโยคะโดยการหายใจเข้าซึ่งลมหายใจจะสามารถดับอารมณ์โกรธลงได้ หลักการหายใจเพื่อการควบคุมความโกรธให้คลายลงคือการหายใจด้วยท้อง ปฏิบัติโดยแขม่วท้องหายใจออกให้เต็มที่จนท้องแฟบ แล้วค่อยๆหายใจเข้าช้าๆจนท้องป่องออกแล้วจึงหายใจออกช้าๆ พยายามให้การหายใจออกยาวกว่าการหายใจเข้า ทำเช่นนี้เพียง 1 นาที จะรู้สึกว่าหัวใจเริ่มเต้นช้าลงและสามารถดับอารมณ์ร้อนลงได้ เป็นการกดฮอร์โมนอะดรีนาลินให้ลดลง การหายใจเช่นนี้เหมาะกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเครียด การฝึกหายใจแบบโยคะจะทำให้เราสามารถควบคุมการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินได้ดีขึ้นจะทำให้ใจเย็นและไม่เครียดง่าย
ข้อควรระวังในการฝึกโยคะ
- อย่ากินอาหารอิ่มเกินไป ควรฝึกก่อนหรือหลังอาหารอย่างน้อย 1–2 ชั่วโมง
- ไม่อ่อนเพลียมาก หิวมาก เป็นไข้ หนาวมาก ร้อนมาก หรือมีอาการเมาค้างอยู่
- สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ที่มีรอบเดือน(เฉพาะวันที่มามาก) สตรีที่มีอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน สามารถฝึกโยคะได้ภายใต้ความควบคุมของผู้ฝึกที่มีประสบการณ์ และควรได้รับอนุญาตจากสูตินารีแพทย์
- แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สบาย เช่นเสื้อยืด กางเกงขายาว หรือขาสั้น ไม่รัดแน่น
- ไม่สวมแว่นตา นาฬิกา เครื่องประดับต่างๆ
- สถานที่ฝึกควรเงียบสงบ สะอาด พื้นเรียบไม่ขรุขระ อากาศถ่ายเทได้สะดวก ปราศจากแมลงและสิ่งรบกวนทุกชนิด เช่น เสียง กลิ่น เป็นต้น เพื่อให้เกิดสมาธิในระหว่างการฝึก
ประโยชน์ของการฝึกโยคะ
- เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ปรับระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ บำบัดโรคที่เกี่ยวกับเลือดไม่ดี โรคภูมิแพ้ ลมหมักหมม ผิวพรรณไม่ผ่องใส สมองไมปลอดโปร่ง มึนศีรษะง่าย
- ด้านกายภาพบำบัด กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้การเดินคล่องขึ้น การทรงตัวดีขึ้น กระดูกสันหลังถูกปรับให้เข้ากับสภาพปกติ ป้องกันอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ หรือปวดศีรษะ ปรับรูปร่างให้สมดุล กระดูกไม่งอ ไหล่ไม่เอียง ท่าบริหารบางท่าถูกดัดแปรงให้ใช้กับคนชรา และคนพิการเพื่อสามารถฝึกบนเตียง หรือบนรถเข็นได้
- กระตุ้นสมองให้มีความจำดีขึ้น เนื่องจากเกิดการผ่อนคลายลึกๆ หลังการฝึกซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นอัลฟา ซึ่งมีผลต่อการผ่อนคลายต่อสมอง คลายความเครียด แก้โรคนอนไม่หลับ
- นวดอวัยวะภายในให้แข็งแรงขึ้น เช่นหัวใจ มดลูก กระเพาะอาหาร ตับ ไต เป็นต้น ทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น เลือดถูกส่งไปเลี้ยงที่ไตทำให้ไตสะอาดขึ้น ระบบการหายใจจะโล่งขึ้น ทำให้การเผาผลาญแคลอรีในร่างกายเพิ่มขึ้น ได้พลังงานเสริมความแข็งแรง
- ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ ร่างกายมีสัดส่วนดีขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี การฝึกโยคะเป็นวิธีชะลอความแก่อย่างธรรมชาติ
- ทำให้จิตใจสงบมีสมาธิมากขึ้น ลดความวิตกกังวลและอาการที่ตื่นตัว นักกีฬา นักเต้นรำนักแสดง สามารถใช้โยคะในการกำจัดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและเพิ่มสมาธิได้ ทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆ ไม่ให้หวั่นไหวตามสิ่งที่มากระตุ้นและยั่วยุ ทำให้จิตใจสงบลงได้
- โยคะสามารถบรรเทาเพศสัมพันธ์บกพร่องได้
โยคะนอกจากช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมนต่างๆในร่างกายแล้วยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เนื่องจากวิธีของโยคะแตกต่างจากการออกกำลังกายหรือการเล่นกล้ามเนื้ออย่างสิ้นเชิง เพราะว่าโยคะเป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เน้นการยืดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อให้ยืดหยุ่นดีเหมือนกับยางยืดที่สามารถกลับคืนรูปเดิมได้เมื่อเลิกใช้งาน ตามข้อต่างๆ หากท่านใดต้องการมีสุขภาพแข็งแรง ดูอ่อนเยาว์ จิตใจเบิกบาน ก็มาดูแลสุขภาพด้วยการฝึกโยคะกันเถิด และจะพบว่าโยคะสามารถช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ให้กับคนเราได้มากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ โรคไมเกรน หรือแม้กระทั่งโรคเครียดซึ่งเป็นโรคที่พบมากในสังคมปัจจุบันการฝึกโยคะสามารถทำให้เกิดการผ่อนคลายได้
เอกสารอ้างอิง
- วรรณา ชูโชติถาวร “โยคะอาสนะเพื่อสุขภาพ” พิมพ์ครั้งที่ 1 พี แอนด์ พี บิซิเนส เพรส : 2545
- ลลิตา ธีระสิริ และ วัลลี ชุญหสวัสดิกุล “โยคะรักษาโรค” พิมพ์ครั้งที่ 13 สำนักพิมพ์รวมทรรศ์ :2548
ผู้เขียน: ณฐลมนต์ ปัญญวัฒนกิจ
โครงการเคมี
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี