มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ต้นเดือนกันยายน ใน Annals of Internal Medicine ซึ่งศึกษาติดตามผู้ป่วยที่เริ่มได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานจำนวน 215 คนเป็นเวลา 4 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มโดยกลุ่มแรกกินอาหารแบบเมดิเตอเรเนียน (เน้นผักและธัญพืฃ กินเนื้อไก่และปลามากกว่าเนื้อสัตว์ใหญ่ มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ พลังงานส่วนใหญ่-มากกว่า 30% มาจากไขมันกลุ่มน้ำมันมะกอก) กลุ่มที่สองเน้นอาหารไขมันต่ำตามคำแนะนำของสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (เน้นธัญพืช งดของหวาน งดอาหารไขมันสูง ให้พลังงานจากไขมันน้อยกว่า 30%) พบว่า มีผู้ป่วยกลุ่มแรกเพียง 44% ที่ต้องใช้ยาในการรักษาควบคู่กับการควบคุมอาหารในขณะที่ในกลุ่มที่ 2 มีจำนวนถึง 70% ที่ต้องใช้ยาด้วย
การศึกษานี้พบว่าผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีน้ำหนักที่ลดลง ระดับน้ำตาลและ HbA1C (ซึ่งใช้ตรวจติดตามภาวะเบาหวาน) ลดลง แต่ผู้ป่วยกลุ่มแรกที่กินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไม่ได้ควบคุมไขมันมากนั้นมีค่าลดลงมากกว่า นั่นคือการควบคุมอาหารโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแป้งช่วยยืดเวลาในการต้องใช้ยาเพื่อควบคุมเบาหวานได้
ผลการศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้ยืนยันได้ว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานในการควบคุมภาวะเบาหวานได้ โดยอาจจะไม่ต้องพึ่งพายา