อ่าน: 122

โรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

โรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบครั้งแรกในทวีปแอฟริกา เป็นโรคติดต่อในประเทศไทยมียุงลายสวนเป็นพาหะหลัก ยุงลายบ้านเป็นพาหะรอง เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งสามารถติดต่อได้ในทุกเพศ ทุกวัย และพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก โดยพบทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ จะระบาดมากในฤดูฝน เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้โดยการกำจัดลูกน้ำยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ทั้งยุงลายสวนและยุงลายบ้าน

ยุงลายเป็นพาหะโรคชิคุนกุนยาได้อย่างไร

  • การเจริญเติบโตของยุงใช้เวลาประมาณ 7–12 วัน
  • เมื่อยุงไปกัดผู้ที่มีเชื้อไวรัส จะกลายเป็นยุงพาหะ แพร่เชื้อได้ตลอดชีวิต
  • เชื้อใช้เวลาเจริญในยุง 3–5 วัน
  • ยุงลายชอบกัดคนในเวลากลางวัน และกัดหลายครั้ง จึงแพร่เชื้อได้เร็ว
  • ยุงลายบ้านบินได้ไกล 100–300 เมตร ชอบกัดในบ้าน
  • ยุงลายสวนบินได้ไกล 400–800 เมตร ชอบกัดนอกบ้าน
  • อาการป่วยเกิดหลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัด 2–12 วัน และผู้ป่วยขาดภูมิคุ้มกันโรค หลังจากป่วยแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต
  • ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนและยาฆ่าเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ

แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสวน ที่สำคัญได้แก่ กะลา/กระป๋อง ที่มีน้ำขังในสวนยาง สวนผลไม้ สวนปาล์ม แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น รูต้นไม้ กาบใบ แอ่งหิน และแหล่งเพาะพันธุ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เศษวัสดุเหลือทิ้ง ที่ขังน้ำได้ โอ่ง อ่าง ไห อ่างคอนกรีต ยางรถยนต์

แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบ้าน ที่สำคัญได้แก่ โอ่งน้ำ อ่างคอนกรีตในห้องน้ำ แจกัน จานรองขาตู้ กะลามะพร้าว จานรองกระถางต้นไม้ รางน้ำฝน ยางรถยนต์ ฯลฯ

วิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

  • เก็บทำลายเศษวัสดุขังน้ำบริเวณรอบบ้านและในสวน
  • ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ปรับปรุงบ้าน บริเวณบ้านให้สะอาด ปราศจากวัสดุเหลือใช้
  • ภาชนะปากเปิดให้ใส่สารกำจัดลูกน้ำยุง หรือใช้ศัตรูธรรมชาติของลูกน้ำยุง เช่น ปลากินลูกน้ำ/จุลินทรีย์/ตัวเหนี่ยง/มวน ใส่ในภาชนะขังน้ำ
  • พ่น/ใส่สารกำจัดลูกน้ำยุงในแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ เช่น สารควบคุมการเจริญเติบโต หรือจุลินทรีย์ผง หรือเทมีฟอสสูตรน้ำ
  • เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 5 วัน
  • ใส่ดินปลูกต้นไม้หรือปิดไม่ให้น้ำขังในยางรถยนต์
  • ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมสำรวจหรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

วิธีการป้องกันยุงลายกัดและโรคชิคุนกุนยา

  • กางมุ้งทุกครั้งที่เข้านอน/ใช้เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า/ยาจุดกันยุง
  • เมื่อออกจากมุ้ง/มุ้งลวด ใช้สารทาป้องกันยุง
  • ระวังอย่าให้ยุงกัด ทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยสวมเสื้อผ้ามิดชิด และทาสารป้องกันยุงบริเวณที่โผล่พ้นเสื้อผ้า หรือสวมเสื้อเคลือบสารป้องกันยุง
  • ป้องกันไม่ให้มียุงลาย ทั้งภายในและนอกบ้าน โดยใช้ไม้ตียุงไฟฟ้า/ใช้จานทาน้ำมัน/มือตบกำจัดยุง/สเปรย์ฉีดยุง
  • ยุงลายสวนต้องฉีดพ่นสารกำจัดยุง ร่วมกับสารกำจัด ลูกน้ำยุง เดือนละ 1–2 ครั้งตามระยะเวลาที่เหมาะสมขึ้นกับชนิดของสารที่ใช้

เมื่อใดควรไปพบแพทย์

  1. มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดข้อ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา อาเจียน อาจเกิดผื่นบริเวณลำตัว
  2. รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด หรือปวดข้อมาก

การดูแลรักษาเบื้องต้น

  • เมื่อไข้สูงให้เช็ดตัว
  • ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน
  • ให้ยาแก้ปวดข้อ
  • ให้ดื่มนม/ผงเกลือแร่/น้ำผลไม้ แก้อ่อนเพลีย
  • อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันรีบไปโรงพยาบาล
  • ระวังอย่าให้ยุงกัดเพราะจะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น โดยใช้สารทาป้องกันยุง

ข้อมูลจาก: ฝ่ายชีววิทยาและนิเวศวิทยา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข

: กาย
: บทความ
: สุขภาพดี
จริญญา 13 ก.ย. 2552 13 ก.ย. 2552
ความคิดเห็น (1)

ดิฉันมีเพื่อนที่ป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยา 2 คน ทั้ง 2 คนบ่นเกี่ยวกับอาการปวดข้อในช่วงกลางคืน ซึ่งในช่วงกลางวันเวลาปฏิบัติงานก็ปวดแต่อาการไม่หนักเหมือนช่วงกลางคืน มีวิธีใด ทานยาอะไร ช่วยให้เพื่อนทั้ง 2 คน หายปวดได้คะ

พัชรินทร์ (61.19.67.133) 16 กันยายน 2552 - 13:27 (#276)
ความคิดเห็น
captcha
 
หรือ ยกเลิก

เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย