ค้นหายา:
อ่าน: 21

Chlortetracycline(ophthalmic) ( คลอร์เททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา)

ข้อมูลนี้ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้อง กรุณาเข้ามาอ่านอีกครั้งหนึ่งเร็วๆ นี้

คำอธิบายพอสังเขป

คลอร์เททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา (ophthalmic chlortetracycline) เป็นยากลุ่มเททราซัยคลิน (tetracyclines)ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ดวงตา อาจใช้ร่วมกับยาหยอดตา ยาป้ายตาหรือยารับประทานอื่นๆได้
  • ยานี้ไม่ได้ผลต่อเชื้อไวรัสหรือเชื้อราในโรคติดเชื้อที่ดวงตา

ยาที่มีจำหน่ายได้แก่

  • คลอร์เททราซัยคลิน ชนิดขี้ผึ้งป้ายตา (chlortetracycline ophthalmic ointment)

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมีประวัติการแพ้ยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) ยาในกลุ่มเททราซัยคลิน (tetracyclines)ตัวอื่น ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเว้นแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งท่านเป็นอย่างอื่น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์ ประเภท 'D' หมายถึง

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ไม่พบว่ายากลุ่มเททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา(ophthalmic tetracyclines) ทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

ไม่พบว่ายากลุ่มเททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา(ophthalmic tetracyclines) ทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกที่ได้รับน้ำนมมารดา

เด็ก

ไม่มีข้อมูลจำเพาะที่เปรียบเทียบการใช้ยากลุ่มเททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา(ophthalmic tetracyclines) ในเด็กกับวัยอื่นๆ แต่คาดว่ายากลุ่มเททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตาไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงหรือปัญหาใดๆ ในเด็กมากกว่าวัยอื่นๆ

ผู้สูงอายุ

ยาหลายชนิดยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบการทำงานที่แท้จริงของยาว่ามีการทำงานเช่นเดียวกันกับในผู้ป่วยวัยอื่นหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ทราบว่ายานี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือปัญหาใดๆ ที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้ยากลุ่มเททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา(ophthalmic tetracyclines) ในผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาหยอดหรือป้ายตาบริเวณเดียวกันกับยากลุ่มเททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา(ophthalmic tetracyclines)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาการเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยากลุ่มเททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา(ophthalmic tetracyclines)
โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาหากท่านกำลังเจ็บป่วยอยู่

การใช้ที่ถูกต้อง

ขั้นตอนการใช้ยาหยอดตา
1.ล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะใช้ยาหยอดตา

2.อ่านวิธีใช้ยาบนฉลากยา ตรวจสอบวันหมดอายุของยาทุกครั้งที่ใช้

3.เขย่าขวดยาก่อนใช้ยาหยอดตา

4.เปิดเกลียวจุกของขวดยาไว้ ( สำหรับขวดที่มีหลอดหยดแยกออกจากขวดได้ยังไม่ต้องเอาหลอดหยดออกจากขวดยา )

5.นอน หรือนั่งลงให้ศีรษะเอนไปทางด้านหลัง พร้อมกับมองแหงนตาขึ้น กรณีผู้ป่วยเป็นเด็ก ควรหยอดในท่านอนสะดวกกว่า และไม่ควรหยอดตาในขณะที่เด็กร้องไห้

6.ค่อยๆ ใช้มือข้างหนึ่งดึงหนังตาล่างลงมาให้เป็นกระพุ้ง และเหลือบตาขึ้นข้างบน

7.ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับหลอดหยดและดูดยาให้เข้าไปในหลอดหยด (เฉพาะยาที่มีหลอดหยด ซึ่งเอาออกจากตัวขวดได้) หรือหยด
ได้เลย สำหรับยาที่มีหลอดหยดติดอยู่กับขวด โดยให้ปลายหลอดอยู่ใกล้ตา แต่อย่าให้สัมผัสกับตาหรือขนตา

8.หยดยาตามจำนวนที่แพทย์สั่งลงตรงกระพุ้ง ด้านในของเปลือกตาล่าง

9.ใช้นิ้วมือกดตรง หัวตาด้านในเบาๆประมาณ 1-2 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้ยาไหลเข้าสู่ท่อนํ้าตา จะได้ไม่รู้สึกขมคอ

10.ปิดตาเบาๆ(อย่าขยี้ตา) ใช้กระดาษทิชชูซับนํ้ายาส่วนเกินออก หลับตาอย่างน้อย 2 นาที

11.ถ้าต้องหยอดยาตามากกว่า 1 ชนิด ควรหยอดยาตาแต่ละชนิดห่างกันอย่างน้อย 5 นาที ถ้ามีทั้งยาหยอดตาและยาป้ายตาพร้อมๆกัน ควรจะใช้ยาหยอดตาก่อน ทิ้งระยะ 10 นาที แล้วจึงป้ายตา

12.หลังจาก หยอดยา ป้ายยา เรียบร้อยแล้ว ปิดจุกยาให้สนิท ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา

13.หลังจากเปิดยาหยอดตาใช้แล้ว ไม่ควรจะใช้ยานั้นเกิน 1 เดือน

14.ถ้ามีอาการแพ้ คือ ตาแดง บวม แสบตามาก หรือมีผิวหนังแดงมาก ต้องหยุดยา และพบจักษุแพทย์

ขั้นตอนการใช้ยาป้ายตา
1.ล้างมือให้สะอาด

2.นอนหรือนั่งแหงนหน้าขึ้น

3.ค่อยๆใช้มือข้างหนึ่ง ดึงหนังตาล่างลงมาให้เป็นกระพุ้ง และเหลือบตาขึ้นข้างบน

4.ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับหลอดขี้ผึ้ง และบีบขี้ผึ้งขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หรือประมาณครึ่งนิ้ว ลงในด้านในของเปลือกตล่าง โดยเริ่มป้ายยาจากหัวตาไปประมาณครึ่งตา ระวังอย่าให้ปลายหลอดยาแตะถูกตาหรือขนตา

5.ปล่อยมือจากการดึงหนังตา

6.ค่อยๆปิดตา และกลอกลูกตาไปมาทุกทิศทุกทางขณะที่ยังปิดตาอยู่สักครู่หนึ่งประมาณ1-2 วินาที เพื่อให้ยากระจายได้ทั่วตา เมื่อลืมตาขึ้น ตาอาจจะพร่าเล็กน้อย หากมีขี้ผึ้งไหลออกมานอกตาให้เช็ดด้วยกระดาษทิชชู

7. ปิดฝาจุกหลอดยาให้สนิท

คำแนะนำอื่นๆในการใช้ยาหยอดตา และยาป้ายตา

  • ถ้าต้องใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตา 2 ชนิดขึ้นไป ควรรอเวลาในการป้ายยาแต่ละชนิดให้ห่างกันประมาณ 10 นาที ถ้ายาอีกชนิดเป็นยาหยอดตาให้ใช้ยาหยอดตาก่อน และรอประมาณ 10 นาที จึงใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตา
  • หากมีขี้ตามาก ให้ล้างตาด้วยนํ้ายาล้างตา หรืออาจเช็ดขี้ตาก่อนป้ายตา
  • ควรใช้ยาให้ครบตามระยะเวลาที่เเพทย์สั่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา และลดโอกาสที่เชื้อจะดื้อยาในอนาคต

ขนาดยา

ขนาดยาคลอร์เททราซัยคลินชนิดใช้กับดวงตา (ophthalmic chlortetracycline) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหรือตามที่ฉลากระบุ

เมื่อลืมใช้ยา

ถ้าลืมป้ายตา ให้ป้ายตาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเกือบจะถึงเวลาที่จะป้ายตาครั้งต่อไป ก็ไม่ต้อง
ป้ายตาครั้งที่ลืม แต่รอป้ายยาครั้งต่อไปเลย

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
  • ยาหยอดตาหรือยาป้ายตาหลังจากเปิดฝาแล้วมีอายุ 1 เดือน หากเปิดฝาเกิน 1 เดือนให้ทิ้งยานั้น

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

  • หลังจากป้ายตาอาจทำ ให้ตาพร่า ดังนั้น ไม่ควรขับรถหรือทำ งานเสี่ยงต่ออันตราย จนกว่าตาจะมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ
  • สำหรับผู้ป่วยที่ใส่เลนส์สัมผัส แนะนำ ให้ผู้ป่วยถอดเลนส์สัมผัสก่อนหยอดตาเพื่อหลีกเลี่ยงการดูดซับของยาของเลนส์สัมผัส ซึ่งอาจทำให้เลนส์สัมผัสเสียได้
  • ห้ามใช้ยาหยอดตาหรือยาขี้ผึ้งป้ายตาร่วมกับผู้อื่น เพราะจะติดโรคกันได้
  • ถ้ายาหยอดตา ป้ายตาเปลี่ยนสีหรือขุ่น ห้ามใช้ต่อไปอีก
  • การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาและการเจริญมากไปของเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ซ้ำซ้อนได้ (superinfection)

อาการไม่พึงประสงค์

  • ไม่มีอาการข้างเคียงที่พบบ่อยหรือ สำคัญหากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Clindamycin (oral), Amoxicillin, Ampicillin, Cloxacillin, Dicloxacillin, Amoxicillin and Clavulanate, Ketoconazole, Itraconazole, Fluconazole, Metronidazole (oral), Metronidazole (topical), Clotrimazole (vaginal), Ciprofloxacin, Moxifloxacin, Norfloxacin, Ofloxacin, Levofloxacin, Gatifloxacin, Lomefloxacin, Clindamycin (topical), Cefaclor , Cefadroxil, Cefprozil, Cephalexin, Cefalexin, Cefdinir, Cefixime, Cefditoren , Cefuroxime, Ceftibuten, Cefpodoxime, Azithromycin, Roxithromycin, Erythromycin , Clarithromycin , Erythromycin (topical) , Tetracycline, Doxycycline, Minocycline, Chlortetracycline, Oxytetracycline, Oxytetracycline and polymyxin B (ophthalmic), Tetracycline (topical) , Chlortetracycline (topical) , Oxytetracycline and polymyxin B (topical), Gentamicin (otic), Gentamicin (ophthalmic) , Co-trimoxazole (Sulfamethoxazole + trimethoprim) , Chloramphenicol (ophthalmic) , Gentamicin (topical)

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Aureomycin * (ophthalmic ointment 1%) (ออริโอไมซิน * ชนิดขี้ผึ้งป้ายตา), Chlortralim 1% ophthalmic ointment (คลอตราลิม 1% ขี้ผึ้งป้ายตา)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: p 1562-1563
2. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.Chlortetracycline . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: May 6, 2010.
3. สุชาดา ชุติมาวรพันธ์, โพยม วงศ์ภูวรักษ์, อภิฤดี เหมะจุฑา. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2550). สภาเภสัชกรรม. หน้า 66-91.


Share |
Payom Wongpoowarak , ไตรรัตน์ แก้วเรือง
05 พฤษภาคม 2553 12 พฤษภาคม 2553
A B C D E F G H I J K L M
N O P Q R S T U V W X Y Z

เนื้อหาเกี่ยวกับยาทั้งหมดเรียบเรียงโดยเภสัชกรหรือนักศึกษาเภสัชศาสตร์ภายใต้การดูแลของเภสัชกร และผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพเนื้อหาโดยเภสัชกรอีกอย่างน้อย 1 ท่าน เนื้อหาในเว็บไซต์นี้ ไม่มุ่งประโยชน์ทางการค้า และไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรแสวงหาผลกำไรใด ๆ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย