Moxifloxacin

คำอธิบายโดยสังเขป

โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) เป็นยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones) ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ออกฤทธิ์โดยฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรตามยาเหล่านี้ไม่เหมาะสมสำหรับรักษาไข้หวัดหรือการติดเชื้อไวรัส ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones) อาจใช้ในกรณีอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) หรือ ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones) ตัวอื่น หรือยาที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น ซินอกซาซิน (cinoxacin) หรือกรดนาลิดิซิก (nalidixic acid) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ห้ามดื่มนมหรือรับประทานอาหารที่ทำจากนมพร้อมยานี้ เพราะแคลเซียมในนมสามารถจับกับยา ทำให้การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายลดลง หากจำเป็น ให้รับประทานยาห่างจากอาหารเหล่านี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ตั้งครรรภ์

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากมีรายงานในสัตว์ทดลองว่าทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการของกระดูก

ตั้งครรรภ์ไตรมาสที่ 2

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากมีรายงานในสัตว์ทดลองว่าทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการของกระดูก

ตั้งครรรภ์ไตรมาสที่ 3

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากมีรายงานในสัตว์ทดลองว่าทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการของกระดูก

กำลังให้นมบุตร

ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones) บางตัวผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในระหว่างให้นมบุตรเนื่องจากมีรายงานในสัตว์ทดลองว่าโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) ทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการของกระดูก

ผู้สูงอายุ

มีการทดลองการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุในขนาดยาที่ให้ผลการรักษาพบว่าไม่ทำให้เกิดผลการรักษาหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุกับวัยอื่น

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

ก. การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ

  • อะมิโอดาโรน (amiodarone)
  • แอสทีมิโซล (astemizole)
  • บีพริดิล (bepridil)
  • ซิสแซไพรด์ (cisapride)
  • ไดโซไพราไมด์ (disopyramide)
  • อีริโทรไมซิน (erythromycin)
  • เพนทามิดีน (pentamidine)
  • ยากลุ่มฟีโนไธอะซีน (phenothiazine) เช่น คลอร์โพรมาซีน (chlorpromazine), ฟลูเฟนาซีน (fluphenazine), เมโทไทรมีพราซีน (methotrimeprazine), เพอร์เฟนาซีน (perphenazine), โพรคลอร์เพอราซีน (prochlorperazine), โพรมาซีน (promazine), ไทโอริดาซีน (thioridazine), ไทรฟลูโอเพอราซีน (trifluoperazine), ไทรฟลูโพรมาซีน (triflupromazine)
  • โพรเคนาไมด์ (procainamide)
  • ควินีดีน (quinidine)
  • ซาโทลอล (satolol)
  • เทอฟีนาดรีน (terfenadine)
  • ยาต้านซึมเศร้าที่มีโครงสร้างเป็นไตรไซคลิก (tricyclic antidepressant) ได้แก่ แอมิทริปทิลีน (amitriptylline), แอมอกซาพีน (amoxapine), โคลมิพรามีน (clomipramine), เดซิพรามีน (desipramine), ดอกซีพีน (doxepin), อิมิพรามีน (imipramine), นอร์ทริปไทลีน (nortriptyline), โพรทริปไทลีน (protryptyline), ไตรมิพรามีน (trimipramine)

ข. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมินัม (aluminum) แคลเซียม (calcium) และ/หรือแมกนีเซียม (magnesium), ไดดาโนซีน (didanosine), ธาตุเหล็กและซูคราลเฟต (sucralfate) ร่วมกับโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) โดยรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) ก่อนรับประทานยาเหล่านี้อย่างน้อย 4 ชั่วโมงรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) หลังรับประทานยาเหล่านี้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคทางสมองและไขสันหลัง รวมถึงภาวะเส้นเลือดแดงในสมองแข็งตัวหรือโรคลมชัก โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาทส่วนกลาง
  • โรคหัวใจ โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจทำให้อาการของโรคนี้แย่ลง
  • โรคไตหรือโรคตับ ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคตับอาจทำให้ความเสี่ยงของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin)
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้แสงแดด ผู้ป่วยที่รับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้แสงแดดรุนแรงเพิ่มขึ้น
  • ผู้ที่มีประวัติเส้นเอ็นอักเสบ โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจทำให้ความเสี่ยงของเส้นเอ็นถูกทำลายเพิ่มขึ้น

การใช้ที่ถูกต้อง

ห้ามรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) ขณะตั้งครรภ์ ห้ามรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) ในทารก, เด็กหรือวัยรุ่น ยกเว้นแพทย์สั่ง เนื่องจากมีรายงานในสัตว์ทดลองว่าทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการของกระดูก

รับประทานยานี้แล้วดื่มน้ำตามมากๆ (ประมาณ 8 ออนซ์หรือ 240 ซีซี) ยกเว้นแพทย์สั่ง

ควรรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) พร้อมอาหารหรือตอนท้องว่าง

เพื่อให้ยากำจัดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ ท่านควรใช้ยานี้ตลอดการรักษา แม้ว่าท่านจะมีอาการดีขึ้นแล้วหลังจากใช้ยาเพียงไม่กี่วันก็ตาม หากท่านหยุดใช้ยานี้เร็วเกินไปอาจทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำ

ยานี้ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดเมื่อระดับยาในเลือดหรือในปัสสาวะคงที่ เพื่อรักษาระดับยาให้คงที่จึงไม่ควรลืมรับประทานยา และจะดีที่สุดหากระยะห่างของการรับประทานยาแต่ละครั้งในตอนกลางวันและตอนกลางคืนเท่ากัน เช่น หากท่านรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ควรรับประทานห่างกัน 12 ชั่วโมง หากสิ่งเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่านหรือท่านต้องการความช่วยเหลือในการวางแผนช่วงเวลาที่จะรับประทานยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ขนาดยา

ขนาดยาของโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร หรือ ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

จำนวนเม็ดหรือปริมาณยาน้ำแขวนตะกอนที่ท่านรับประทานขึ้นกับความแรงของยา จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้นอยู่กับสภาวะโรคของท่านที่ท่านต้องรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin)

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

ก. ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมินัม (aluminum) หรือแมกนีเซียม (magnesium) หรือซูคราลเฟต (sucralfate) หากต้องรับประทานร่วมกันให้ปฏิบัติดังนี้

  • รับประทานยาเหล่านี้ก่อนรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) โดยห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมงหรือหลังรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ข. หากท่านรับประทานโลหะหนัก เช่น เหล็ก (iron) และวิตามินรวมที่มีส่วนผสมของสังกะสี (zinc) หรือไดดาโนซีน (didanosin) หากต้องรับประทานร่วมกันให้ปฏิบัติดังนี้

  • รับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) ห่างจากยาเหล่านี้โดยรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) ก่อนยาเหล่านี้อย่างน้อย 4 ชั่วโมงหรือหลังยาเหล่านี้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง

ค. ผู้ป่วยบางรายที่รับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ การสัมผัสกับแสงแดดแม้ในช่วงเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดผิวหนังแสบไหม้รุนแรงหรือเกิดผื่นที่ผิวหนัง แดง คัน หรือผิวหนังเปลี่ยนสีได้ ขณะที่รับประทานยานี้

  • ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะช่วง 10.00 น. และ 15.00 น.
  • สวมเสื้อผ้าปกป้องผิวหนังรวมถึงหมวกและแว่นตากันแดด
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 15 โดยเฉพาะหากท่านมีผิวสีขาวซีด หากท่านมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ห้ามใช้โคมไฟหรือผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผิว

หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดหรือแสงสังเคราะห์ (เช่น โคมไฟหรือผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผิว) ต่ออีก 5 วันหรือจนกระทั่งไม่มีอาการ

  • หยุดรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) แล้วไปพบแพทย์หากท่านมีผื่นที่ผิวหนังหรืออาการแพ้อื่นๆ

ง. โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการมึนงง, รู้สึกหวิว, ง่วงซึมหรือตื่นตัวน้อยกว่าปกติ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักรหรือกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายหากท่านมีอาการมึนงงหรือไม่ตื่นตัว หากอาการเหล่านี้รบกวนท่านควรปรึกษาแพทย์

จ. โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงหรือเส้นเอ็น (เส้นที่เชื่อมกล้ามเนื้อกับกระดูก) ฉีกขาดได้น้อยมาก หยุดรับประทานโมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) หากท่านปวดเส้นเอ็นเฉียบพลันหลังจากออกกำลังกาย (เช่น ปวดบริเวณข้อเท้า, หลังหัวเข่าหรือขา, ไหล่, ข้อศอกหรือข้อมือ) พักผ่อนและห้ามออกกำลังกายจนแพทย์แน่ใจว่าท่านไม่มีอาการบาดเจ็บหรือเอ็นฉีกขาด

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้เกิดขึ้น

พบบ่อย

  • ท้องอืด
  • หน้า แขน ขาบวม, มือหรือเท้าไม่มีความรู้สึก
  • ผิวหนังมีตุ่มน้ำใส, รู้สึกแสบร้อนที่ผิวหนัง, มีผื่นคันที่ผิวหนัง แดงหรือบวม
  • มองภาพไม่ชัด
  • มึนงง, ปวดศีรษะ, กระวนกระวาย, ได้ยินเสียงในหู
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ
  • ชีพจรเต้นช้าลงหรือเร็วขึ้น

พบน้อย

  • เป็นลม, หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดจังหวะ

พบน้อยมาก

  • ปวดเกร็งหน้าท้อง (รุนแรง), กล้ามเนื้อกระตุก, อ่อนเพลีย, ปวดหลัง สีข้างหรือท้อง, กล้ามเนื้อตึง
  • ตัวสั่น, หนาว, ตัวอุ่นหรือรู้สึกร้อน, มีไข้
  • มีผื่นคันเป็นบริเวณกว้าง, เป็นตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง คัน แดงหรือผิวหนังหลุดลอก, ผิวหนังเปลี่ยนสี, ผิวหนังมีสีแดงโดยเฉพาะที่ใบหน้าหรือคอ, มีผื่นลมพิษ, มีแผลเป็น, หน้าหรือคอบวมแดง, ขาบวม
  • อุจจาระมีสีดำหรือสีเหมือนน้ำมันดิน (ทาร์), อุจจาระมีลักษณะคล้ายดินเหนียว
  • มีแผลที่เยื่อบุของร่างกายร่วมกับมีไข้
  • ปัสสาวะมีเลือดปน, ปัสสาวะมีสีเข้มหรือสีเหลืองอำพัน, ปัสสาวะบ่อย, ปวดขณะขับถ่ายปัสสาวะ
  • ปวดแสบปวดร้อน, รู้สึกเหมือนโดนเข็มทิ่ม, คันหรือไร้ความรู้สึก
  • เจ็บหน้าอก, หายใจลำบาก
  • สับสน, มึนงง, เป็นลม, รู้สึกวูบเมื่อเปลี่ยนท่าเมื่อลุกขึ้นจากท่านอนหรือท่านั่งทันที, ประสาทหลอน, ร่างกายทำงานไม่ประสานกัน, สูญเสียความทรงจำ, ชัก
  • ท้องร่วง (ถ่ายเหลวเป็นน้ำและรุนแรง อาจมีเลือดปน), รู้สึกหิวมากขึ้น, กระหายน้ำมากขึ้น, เบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียนอาจมีเลือดปน
  • กลืนลำบาก, ปากแห้ง, พูดหรือออกเสียงลำบาก
  • การได้ยินหรือการมองเห็นมีปัญหา
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ, ชีพจรเต้นเร็ว
  • ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้หรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์, หายใจเสียงดัง
  • อักเสบ, ติดเชื้อ
  • ปวดข้อ
  • มีไขมันในเลือดสูงขึ้น
  • ลิ้นแดง บวมหรือเจ็บ, มีแผลในปากหรือริมฝีปากและมีการอักเสบ

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • ปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบายท้อง (ไม่รุนแรง), ท้องร่วง (ไม่รุนแรง), ง่วงซึม, รู้สึกหวิว, กระวนกระวาย, หลับยาก, ปวดช่องคลอดหรือมีของเหลวไหลจากช่องคลอด

พบน้อยหรือน้อยมาก

  • ฝันผิดปกติ, ซึมเศร้า, เคลื่อนไหวลำบาก, นอนหลับยาก, พูดลำบาก, กังวลใจ, เคลิบเคลิ้ม, รู้สึกกลัว, บ้านหมุน, อารมณ์เปลี่ยนแปลง, ง่วงนอนหรือง่วงซึมผิดปกติ, หวาดระแวง, นอนไม่หลับ
  • ปัสสาวะลำบาก, ปวดอุ้งเชิงกราน,
  • กระเพาะอาหารมีกรดมาก, การรับรสหรือกลิ่นผิดปกติ, เรอ, ท้องอืดท้องเฟ้อ, มีแก๊สในกระเพาะอาหารหรือลำไส้มาก, แสบร้อนยอดอก, เจ็บปากและ/หรือลิ้น, อาหารไม่ย่อย, ไม่สบายท้อง, ลิ้นเปลี่ยนสี, น้ำหนักลด
  • ปวดแสบปวดร้อน
  • ปวดหลัง, ข้อบวมหรือแดง
  • การมองเห็นผิดปกติ, การมองเห็นบกพร่อง, มีอาการบวมบริเวณหนังตาหรือรอบตา หน้า ริมฝีปากหรือลิ้น
  • ท้องผูก
  • ได้ยินเสียงในหู, สูญเสียการได้ยิน
  • ร้องไห้, รู้สึกไม่สบายตัว
  • ผิวหนังไวต่อแสงแดด, มีจุดเข็มสีแดงหรือสีม่วงตามผิวหนัง
  • หายใจสั้น
  • ช่องคลอดติดเชื้อยีสต์

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin) สามารถใช้ในการรักษาโรคเหล่านี้ได้อีกด้วย

  • โรคแผลริมอ่อน
  • โรคปอดกำเริบ (ติดเชื้อในทางเดินหายใจ) ในโรคเป็นถุงพังผืด (cystic fibrosis)

ข้อมูลข้างต้นยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ที่ถูกต้องเหมาะสม, ข้อควรระวังหรืออาการไม่พึงประสงค์ของการใช้ในข้อบ่งใช้เหล่านี้

กลุ่มยา

ชื่อทางการค้า

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยาที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 799-804.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 15, 2009).
  3. Joint Formulary Committee. British National Formulary. 57th ed. London: British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain, 2009: 323, 325.
  4. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

เขียนโดย โพยม วงศ์ภูวรักษ์, นรวร เจนณรงค์, หทัยรัตน์ คังคะสุวรรณ

เขียนเมื่อ 15 Oct 2009 19:10 แก้ไขเมื่อ 15 Oct 2010 11:10

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย