อ่าน: 1929
Small_font Large_font

Chlortetracycline (คลอร์เททราซัยคลิน )

คำอธิบายพอสังเขป

คลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเททราซัยคลิน (tetracyclines) ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยานี้ เช่น การติดเชื้อที่หู คอ จมูก หลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ปอดอักเสบ การติดเชื้อในทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน สิว โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และใช้ในการรักษาภาวะตับอักเสบจากเชื้ออะมีบา เป็นต้น

  • ยาในกลุ่มเททราซัยคลิน มีหลายชนิด แต่ละชนิดอาจใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่ต่างกัน
  • ยาตัวหนึ่ง ๆ ในกลุ่มนี้อาจใช้ทดแทนตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันไม่ได้ บางครั้งอาจให้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ตัวอื่น ๆ
  • ยาในกลุ่มเททราซัยคลินไม่ได้ใช้รักษาไข้หวัดหรือการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) หรือ ยาในกลุ่มเททราซัยคลิน (tetracyclines) ตัวอื่น หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • การรับประทานยาร่วมกับนมหรือผลิตภัณฑ์นมอาจลดการดูดซึมยาได้ หากจำเป็นต้องรับประทานให้รับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็ก หรือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบระหว่างรับประทานยานี้ หากจำเป็นต้องรับประทานให้รับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ห้ามใช้ยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสีของฟัน (เหลือง-เทา-น้ำตาล) ทารกในครรภ์และการเจริญเติบโตของกระดูกและฟันทารกในครรภ์ช้าลง นอกจากนี้เกิดทำให้เกิดพิษต่อตับในสตรีตั้งครรภ์ที่ใช้ยาในขนาดสูงฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

กำลังให้นมบุตร

ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ระหว่างให้นมบุตรเนื่องจากยาสามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ และอาจทำให้ฟันของเด็กที่ได้รับน้ำนมมารดาเปลี่ยนสี และการเจริญของกระดูกและฟันช้าลง นอกจากนี้อาจทำให้เด็กที่ได้รับน้ำนมเกิดการแพ้แสงแดด และติดเชื้อราในช่องปากและช่องคลอดได้

เด็ก

ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี เนื่องจากอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของฟันอย่างถาวร (เหลือง-เทา-น้ำตาล) และทำให้การเจริญของกระดูกช้าลง เว้นแต่ว่าแพทย์สั่ง

ผู้สูงอายุ

ยาหลายชนิดยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบผลที่แท้จริงว่าเป็นเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยวัยอื่นหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ทราบว่ายานี้ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์, ปัญหาใดๆ ที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุกับวัยอื่นหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้ยากลุ่มเททราซัยคลิน (tetracyclines) ในผู้สูงอายุกับวัยอื่น ๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยายาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (oral contraceptives) แอซิทรีทิน (acitretin)
อะลูมินัมคาร์บอเนต (aluminum carbonate) อะลูมินัมไอดรอกไซด์ (aluminum hydroxide)
อะลูมินัมฟอสเฟต (aluminum phosphate) แคลเซียม (calcium)
ไดไฮดรอกซีอะลูมินัมแอมิโนแอซิเทต (dihydroxyaluminum aminoacetate) ไดไฮดรอกซีอะลูมินัมโซเดียมคาร์บอเนต (dihydroxyaluminum sodium carbonate)
แมกอลเดรต (magaldrate) ยาลดกรด (antacids)
แมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate) แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide)
แมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide) แมกนีเซียมไทรซิลิเคต (magnesium trisilicate)
เพนิซิลลิน จี (penicillin G) เพนิซิลลิน จี โพรเคน (penicillin G procaine)
เพนิซิลลิน วี (penicillin V) ราพาคิวโรเนียม (rapacuronium)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง ในผู้ป่วยที่มีการทำงานบกพร่องของตับและไต หรือร่วมกับยาที่มีแนวโน้มว่าเป็นพิษต่อตับ
  • กลุ่มอาการภูมิต้านทานตนเอง (autoimmune syndromes) เช่น โรคเอสเเอลอี (SLE or systemic lupus erythematosus)

การใช้ที่ถูกต้อง

  • ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร โดยกลืนยาทั้งเม็ดแล้วดื่มน้ำตามมากๆ
  • ไม่ควรรับประทานร่วมกับอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นม เช่น โยเกิร์ต ชีส ไอศกรีม เป็นต้น
  • ยาลดกรดบางอย่างจะรบกวนการดูดซึมของยา ควรรับประทานห่างจากคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • รับประทานยานี้ติดต่อกันทุกวันจนยาหมด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ยานี้จะใช้ได้ผลดีเมื่อมีระดับยาในเลือดคงที่จึงไม่ควรลืมรับประทานยา และอาจรับประทานยาตามเวลา เช่น รับประทานยาทุก 6 ชั่วโมง
  • ถ้าจำเป็นต้องรับประทานธาตุเหล็กหรือแคลเซียมเสริม ควรรับประทานห่างจากยาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหรือตามที่ฉลากระบุ
จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้น อยู่กับสภาวะโรคของท่านที่ท่านต้องรับประทานยาคลอร์เททราซัยคลิน

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยา ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • หลังจากผสมยาน้ำแขวนตะกอนให้เก็บยาในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง และทิ้งยาเมื่อครบกำหนด 14 วัน
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ( 2-3 สัปดาห์หรือเดือนสำหรับการรักษาสิว) หรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

  • ก่อนใช้ยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) ควรแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติแพ้ยาอื่นในกลุ่มเททราซัยคลิน (tetracyclines) และควรสังเกตอาการแพ้ยาอย่างใกล้ชิดถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาดังกล่าวและได้รับยาคลอร์เททราซัยคลิน เพราะมีโอกาสเกิดการแพ้ข้ามกันได้

  • การใช้ยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) จะเปลี่ยนแปลงเชื้อที่อาศัยอยู่ตามปกติในลำไส้ใหญ่ และอาจทำให้เชื้อคลอสทริเดีย (clostridia) เจริญมากเกินไป ทำให้เกิดท้องร่วงจากเชื้อแบคทีเรีย คลอสทริเดียม ดิฟฟิไซล์ ( Clostridium difficile associated diarrhea)รวมทั้งลำไส้ใหญ่อักเสบเหตุจากยาต้านจุลชีพ (pseudomembranous colitis) ควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือท้องร่วงรุนแรงซึ่งอาจมีเลือดปนโดยมีหรือไม่มีอาการปวดเกร็งหน้าท้องและไข้ก็ได้ และห้ามใช้ยารักษาอาการท้องร่วง โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะการใช้ยาแก้ท้องร่วงอาจทำให้อาการเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้น

หมายเหตุ อาการปวดเกร็งหน้าท้องและถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือท้องร่วงรุนแรงซึ่งอาจมีเลือดปน อาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่หยุดใช้ยานี้แล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานมีส่วนผสมของเอสโทรเจน (estrogen) อาจออกฤทธิ์ไม่เต็มที่หากท่านใช้ยาคุมกำเนิดในขณะที่กำลังใช้ยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) และอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ท่านควรเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นหรือใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วม ด้วยในขณะที่ท่านกำลังใช้ยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) หากท่านมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ก่อนการผ่าตัดหรือถอนฟันร่วมกับการใช้ยาสลบ ควรแจ้งแพทย์ว่าท่านกำลังใช้ยาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline)
  • การใช้ยายาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาและการเจริญมากไปของเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ซ้ำซ้อนได้ (superinfection)
  • การใช้ยายาคลอร์เททราซัยคลิน (chlortetracycline) อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมากขึ้น ซึ่งแสดงออกโดยเพิ่มความรุนแรงของปฏิกิริยาแดดเผา ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ต้องไม่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ควรสวมเสื้อผ้าที่ป้องกันแสงแดด แว่นตากันแดด ใช้ครีมกันแดดที่มีเอสพีเอฟ (SPF) 15 ขึ้นไป โดยอาการนี้อาจยังคงอยู่หลายเดือนหลังจากหยุดยาไปแล้ว ควรรีบพบแพทย์ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น
  • การให้ยาร่วมกับการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำอาจทำให้รบกวนกระบวนการเมแทบอลิซึมของไนโตรเจนในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสารอาหาร

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. พบแพทย์โดยเร็วหากมีอาการต่อไปนี้
พบบ่อย

  • ผิวหนังไวต่อแสง

พบน้อยมาก
  • ปวดท้อง, ทารกมีขม่อมที่ศีรษะโป่ง (bulging fontanel), ปวดศีรษะ, เบื่ออาหาร, คลื่นไส้อาเจียน, การมองเห็นเปลี่ยนไป, ตัวเหลือง

ข.อาการไม่พึงประสงค์อื่ นๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบบ่อย

  • ปวดเกร็งหรือแสบร้อนกระเพาะอาหาร, ท้องร่วง

พบน้อย
  • ติดเชื้อราช่องคลอด, เจ็บปากหรือลิ้น

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Chlortetracycline (Ophthalmic) , Chlortetracycline (Topical) , Doxycycline , Minocycline, Oxytetracycline, Oxytetracycline and Polymyxin B (Ophthalmic), Oxytetracycline and Polymyxin B (Topical), Tetracycline (Oral or Injection) , Tetracycline (Topical) , Tetracycline, Sulfamethizole, and Phenazopyridine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Cobalmycin capsules (โคบาลมัยซิน แค๊ปซูล), Flavomycin troches (ยาอม เฟลวอไมซิน เม็ด), Chlortetracycline hydrochloride capsules (คลอเตตร้าไซคลีน ไฮโดรคลอไรด์ แคปซูล), Aureomycin * (capsules 250 mg) (ออริโอไมซิน* (แคปซูล 250 มก)), Aureomycin capsule (ออริโอไมซิน แคปซูล), Royalmycin capsule (โรแยลมัยซิน แคปซูล), Chlortetracycline Chew Brothers capsule

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

คลอร์เตตร้าซัยคลิน, คลอร์เตตราซัยคลิน, คลอร์เตตราไซคลิน, คลอร์เตตร้าไซคลิน, คลอร์เตทตราซัยคลิน

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.Chlortetracycline . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: May 6, 2010.
  2. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 3/5/2010).
  3. McEvoy GK, Snow EK, Miller J et al. AHFS Drug information 2009. the American Society of Health-System Pharmacists,Inc.Bestheda. 2009. p459-462
  4. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: p 1563-1566.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
05 พฤษภาคม 2553 12 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย