อ่าน: 4175
Small_font Large_font

Cefuroxime (เซฟิวรอกซีม )

คำอธิบายพอสังเขป

เซฟิวรอกซีม (cefuroxime) เป็นยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ในกลุ่มเซฟาโลสปอรินรุ่นที่ 2 (2nd-generation cephalosporins) มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้กว้าง ใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

  • ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินมีหลายชนิด แต่ละชนิดใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่ต่างกัน
  • ยาตัวหนึ่ง ๆ ในกลุ่มนี้อาจใช้ทดแทนตัวอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันไม่ได้ บางครั้งอาจให้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ตัวอื่น ๆ
  • ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินไม่ได้ใช้รักษาไข้หวัดหรือการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) หรือ ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (cephalosporins) ตัวอื่น หรือ ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (penicillins)หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่มี น้ำตาลต่ำหรืออาหารอื่น ๆ เนื่องจากเภสัชภัณฑ์ที่เป็นยาน้ำสำหรับรับประทานส่วนใหญ่มีน้ำตาลและแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบ

ท่านสามารถรับประทานอาหารอื่นได้ตามปกติ เว้นเสียแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งท่านเป็นอย่างอื่น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'B' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ หรือ จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายามีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ค่อนข้างปลอดภัย

อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้และการใช้ยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ ควรใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เพราะการศึกษาผลของยาต่อตัวอ่อนของสัตว์ทดลองอาจไม่สามารถทำนายผลที่จะเกิดกับทารกมนุษย์ได้

กำลังให้นมบุตร

ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ อาจทำให้เกิดการแพ้ยา ท้องร่วง ติดเชื้อราและผื่นผิวหนังในทารกที่ได้รับน้ำนมมารดา

เด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) ในเด็กแรกเกิดจนถึง 3 เดือน

ในขนาดยาที่ให้ผลการรักษาในเด็ก พบว่ายังไม่มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือปัญหาใด ๆ ที่แตกต่างจากการใช้ในผู้ใหญ่

ผู้สูงอายุ

มีการใช้ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) ในผู้สูงอายุและยังไม่มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือปัญหาใด ๆ ที่แตกต่างกับการใช้ยานี้ในวัยอื่น ๆ

ยาเซฟิวรอกซีมถูกขับออกทางไต ดังนั้นความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาอาจจะเพิ่มขึ้นในผู้ที่การทำงานของไตบกพร่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีการทำงานของไตลดลง แพทย์อาจมีการปรับขนาดยาของผู้ป่วยได้

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่
  • ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (oral contraceptive)
  • แอมิเคซิน (amikacin)
  • ไซเมทิดีน (cimetidine)
  • ฟาโมทิดีน (famotidine)
  • เจนทาไมซิน (gentamicin)
  • คานาไมซิน (kanamycin)
  • ไซโคลสพอริน (cyclosporine)
  • ดิจอกซิน (digoxin)
  • ฟิวโรซีไมด์ (furosemide)
  • ไพคิวโรเนียม (pipecuronium)
  • รานิทิดีน (ranitidine)
  • โรคิวโรเนียม (rocuronium)
  • โทบราไมซิน (tobramycin)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • การแพ้โดยทั่วไป เช่น หอบหืด, ผื่นผิวหนัง, ไข้ละอองฟาง (hay fever), ลมพิษ, ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (penicillins) และ/หรือยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (cephalosporins) อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้หากใช้ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime)
  • โรคไต ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอาจทำให้โอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเพิ่มขึ้น
  • ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis)
  • ฟีนิลคีโตนูเรีย หรือ ภาวะปัสสาวะมีฟีไนล์คีโทน (phenylketonuria) ในยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) ชนิดน้ำแขวนตะกอนบางผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของแอสพาเทม (aspartame) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของฟินิลอะลานีน (phenylalanine) จึงอาจทำให้ระดับฟินิลอะลานีน (phenylalanine) ในร่างกายสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria)
  • ยาในกลุ่มเซฟาโสปอริน (cephalosporins) อาจกระตุ้นให้เกิดการชักได้ ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคลมชัก

การใช้ที่ถูกต้อง

  • ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime)จะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานพร้อมอาหาร
  • รับประทานยานี้ติดต่อกันทุกวันจนยาหมด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม

ยานี้มีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด และยาผงแห้งสำหรับผสมน้ำให้เป็นยาแขวนตะกอน (powder for suspension)

ยาชนิดเม็ด

  • รับประทานโดยกลืนยาทั้งเม็ด พร้อมกับดื่มน้ำตามมาก ๆ ไม่ควร เคี้ยวเม็ดยา เพราะยามีรสขมมาก

ยาผงแห้งสำหรับผสมน้ำให้เป็นยาแขวนตะกอน

  • การผสมยาต้องใช้น้ำสุก หรือน้ำสะอาดที่เย็น ห้ามใช้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่น
  • ก่อนผสมน้ำควรเคาะผงยาในขวดให้ร่วน ไม่จับตัวกัน
  • เติมน้ำครั้งแรก ประมาณ 1/2 ของขีดที่กำหนด หรือพอท่วมผงยา
  • เขย่าให้ยากระจายตัวทั่ว ไม่มีก้อนแข็ง
  • เติมน้ำปรับระดับให้พอดีขีดที่กำหนด แล้วเขย่าอีกครั้ง
  • ควรรอให้ยาขวดแรกหมดก่อน แล้วจึงผสมขวดที่ 2 ถ้ายาเหลือให้ทิ้งไป
  • เขย่าขวดก่อนรับประทานยาน้ำแขวนตะกอนก่อนทุกครั้ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำหรือตามที่ระบุในฉลากยา จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้น อยู่กับสภาวะโรคของท่านที่ท่านต้องรับประทานยาเซฟิวรอกซีม

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • อุณหภูมิในการเก็บยาและระยะเวลาในการเก็บยาหลังผสมน้ำแล้วขึ้นกับชนิดยาและผลิตภัณฑ์ยาของแต่ละบริษัท ให้เก็บตามข้อมูลจำเพาะสำหรับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่ หลังจากผสมยาน้ำแขวนตะกอนแล้วให้เก็บยาในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

ก. ก่อนใช้ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) ควรแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติแพ้ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (penicillins)และ/หรือยาอื่นในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (cephalosporins) และควรสังเกตอาการแพ้ยาอย่างใกล้ชิดถ้าผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาดังกล่าวได้รับยาเซฟิวรอกซีมเพราะมีโอกาสเกิดการแพ้ข้ามกันได้

ข. การใช้ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) จะเปลี่ยนแปลงเชื้อที่อาศัยอยู่ตามปกติในลำไส้ใหญ่ และอาจทำให้เชื้อคลอสทริเดีย(clostridia) เจริญมากเกินไป ทำให้เกิดท้องร่วงจากเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียม ดิฟฟิไซล์ (Clostridium difficile associated diarrhea) รวมทั้งลำไส้ใหญ่อักเสบที่มีสาเหตุจากยาต้านจุลชีพ (pseudomembranous colitis) ควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการท้องร่วงรุนแรง เนื่องจากอาการท้องร่วงรุนแรงอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง และห้ามใช้ยารักษาอาการท้องร่วง โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะการใช้ยาแก้ท้องร่วงอาจทำให้อาการเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้น

ค. การใช้ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาและการเจริญมากไปของเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ (superinfection)

ง. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานมีส่วนผสมของเอสโทรเจน (estrogen) อาจออกฤทธิ์ไม่เต็มที่หากท่านใช้ยาคุมกำเนิดในขณะที่กำลังใช้เซฟิวรอกซีม (cefuroxime) อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ท่านควรเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นหรือใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วม ด้วยในขณะที่ท่านกำลังใช้เซฟิวรอกซีม หากท่านมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

จ. สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ยาเซฟิวรอกซีม (cefuroxime) อาจทำให้ผลการทดสอบระดับน้ำตาลในปัสสาวะมีผลบวกปลอม ก่อนที่ท่านจะรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังใช้ยานี้อยู่

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. หยุดใช้ยานี้และควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้
พบน้อย

    • หายใจเร็วและผิดปกติ มีไข้, ปวดข้อ, วิงเวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติหรือเป็นลม (ทันที), หน้าพองหรือบวม, กลุ่มอาการสตีเวนส์-จอห์สัน (Stevens-Johnson syndrome), หายใจได้สั้น, ผิวหนังเป็นผื่น, แดง, มีผื่นลมพิษ, คัน

ข. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้
พบน้อยมาก

  • ปวดเกร็งหน้าท้อง (รุนแรง), ชัก, ปริมาณปัสสาวะลดลง, ท้องร่วง (ถ่ายเหลวเป็นน้ำและรุนแรง) อาจมีเลือดปน, ซึมเศร้า, คลื่นไส้และอาเจียน, เจ็บคอและมีไข้, อาจมีเลือดออกหรือรอยฟกช้ำ, ตัวเหลืองตาเหลือง

หมายเหตุ อาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่กล่าวข้างต้น (ปวดเกร็งหน้าท้องและถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือท้องร่วงรุนแรงซึ่งอาจมีเลือดปน) อาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่หยุดใช้ยานี้แล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

  • ท้องร่วง (ไม่รุนแรง),ผื่น, ช่องคลอดอักเสบ (vaginitis), คลื่นไส้อาเจียน, นอนไม่หลับ, ปวดศีรษะ

ง.อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Cefaclor , Cefadroxil, Cefdinir, Cefditoren , Cefixime, Cefpodoxime, Cefprozil, Ceftibuten, Cephalexin or Cefalexin

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Furoxime tablets 250 mg. (ฟูร็อกซีม ชนิดเม็ด 250 มก.), Furoxime (500 mg tablet) (ฟูร็อกซีม ( ชนิดเม็ด 500 มก.)), Farmacef 500 tablets (ฟาร์มาเซ็ฟ 500 ชนิดเม็ด), Farmacef 125 tablets (ฟาร์มาเซ็ฟ 125 ชนิดเม็ด), Farmacef 250 tablets (ฟาร์มาเซ็ฟ 250 ชนิดเม็ด), A - roxime 500 tablets (เอ - โรซีม 500 ชนิดเม็ด), A - roxime 125 tablets (เอ - โรซีม 125 ชนิดเม็ด), A - roxime 250 tablets (เอ-โรซีม 250 ชนิดเม็ด), Cefurox - 250 tablets (เซฟฟูรอค - 250 ชนิดเม็ด), Cefurox - 500 tablets (เซฟฟูรอค - 500 ชนิดเม็ด), Cefurox - 125 tablets (เซฟฟูรอค - 125 ชนิดเม็ด), Innocef - 250 tablets (อินโนเซ็ฟ - 250 ชนิดเม็ด), Farmacef 250 suspension (ฟาร์มาเซ็ฟ 250 ชนิดแขวนตะกอน), Farmacef 125 suspension (ฟาร์มาเซ็ฟ 125 ชนิดแขวนตะกอน), Cefuxime for oral suspension (เซ็ฟฟูซีม ชนิดผงสำหรับละลายน้ำ), Cefurox - 500 capsule (เซฟฟูรอค - 500 แคปซูล), Cefurox - 250 capsule (เซฟฟูรอค - 250 แคปซูล), Furozef - 250 oral suspension (ฟูโรเซ็ฟ - 250 ชนิดแขวนตะกอน), Furozef-125 oral suspension (ฟูโรเซ็ฟ-125 ชนิดแขวนตะกอน), Furozef-500 tablets (ฟูโรเซ็ฟ-500 ชนิดเม็ด), Furozef-250 tablets (ฟูโรเซ็ฟ-250 ชนิดเม็ด), Magnaspor tablets 250 mg (แม็กนาสปอร์ ชนิดเม็ด 250 มิลลิกรัม), Magnaspor ( 125 mg/5ml ) suspension (แม็กนาสปอร์ (ชนิดแขวนตะกอน )), Zinnat (suspension 125 mg) (ซินแนท (ชนิดแขวนตะกอน 125 มก.)), Zinnat (suspension 250 mg) (ซินแนท (ชนิดแขวนตะกอน 250 มก.)), Xorimax 250 mg tablets, Zinnat (tablets 250 mg) (ซินแนท (เม็ด 250 มก.)), Zinnat (tablets 500 mg) (ซินแนท (เม็ด 500มก.)), Cefuroxim stada 500 mg, Cefuroxim stada 250 mg, Zocef 500 tablets (โซเซฟ 500 ชนิดเม็ด), Zocef 250tablets (โซเซฟ 250 ชนิดเม็ด), C-tri t 500 tablets

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

เซฟูรอกซีม, เซฟฟูรอกซีม

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.Cefuroxime. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: April 13, 2010.
  2. สุชาดา ชุติมาวรพันธ์, โพยม วงศ์ภูวรักษ์, อภิฤดี เหมะจุฑา. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2550). สภาเภสัชกรรม. หน้า 66-91.
  3. Baxter K. Stockley’s Drug Interactions. 8th ed. Pharmaceutical Press. London; 2008.
  4. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 4/12/2010).
  5. Dailymed current medication information.Cefuroxime. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/ dailymed/drugInfo.cfm?id=14969 Access Date: April 13, 2010.
  6. McEvoy GK, Snow EK, Miller J et al. AHFS Drug information 2009. the American Society of Health-System Pharmacists,Inc.Bestheda. 2009.
  7. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Cefuroxime. Available at : http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a601206.html Access Date: April 13, 2010.
  8. Tatro DS. Drug Interaction facts 2007. Wolters Kluwer health. St. Louis, Missouri. 2007.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
25 เมษายน 2553 12 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย