ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ สามารถทำได้ด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) แต่เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการตรวจปัสสาวะก็สามารถใช้วินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
คณะนักวิทยาศาสตร์นำโดยเหว่ย เจีย และคณะได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างของปัสสาวะจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 123 ราย ซึ่งนำมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จำนวน 60 ราย และไม่ได้เป็น 63 ราย ผลการวิเคราะห์พบว่าในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะมีระดับของทริปโตเฟน ( เป็น 1 ใน 20 กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย) เพิ่มขึ้นกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็น และยังสารอีก 16 ชนิดที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าการตรวจปัสสาวะก็น่าจะเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยเบื้องต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
การตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แม้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ยังสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ป่วยได้ รวมทั้งต้องใช้เวลาในการตรวจและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นหากการตรวจปัสสาวะสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ และมีการนำมาใช้จริง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่น้อย
ข่าวจาก: MeD INDIA