การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับจำเป็นต้องได้รับความใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ
เพราะอาการของโรคอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อาการที่พบบ่อย คือ ท้องอืด เนื่องจากตับเป็นอวัยวะในการผลิตน้ำดีเพื่อทำการช่วยย่อยไขมัน และตับอยู่ใกล้ชิดกับบริเวณลำไส้จึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหารได้ง่าย นอกจากอาการทางระบบย่อยอาหารแล้ว ยังส่งผลต่อการรับรสอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป
รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสมองและระบบประสาท ดังนั้นอาหารจึงเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่อย่างมีความสุข
โปรตีน ในช่วงแรกของการเกิดโรคผู้ป่วยควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อให้ร่างกายมีโปรตีนเพียงพอที่จะไปซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งโปรตีนที่นักกำหนดอาหารแนะนำได้แก่ โปรตีนจากเนื้อปลา ไข่ไก่
หากผู้ป่วยมีอาการ มึนงง เบลอ การควบคุมตนเองผิดปกติอาจถึงขั้นชักได้ ต้องจำกัดรับประทานโปรตีน ควรต้องได้รับการดูแลและควบคุมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโปรตีนในเนื้อสัตว์ ดังนั้นเนื้อสัตว์หรืออาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนอื่น ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักกำหนดอาหารอย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าผู้เป็นมะเร็งตับจะมีอาการดังกล่าวทุกราย ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับคำวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อการดูแลตนเองที่ถูกต้องคาร์โบไฮเดรต
สามารถรับประทานได้ตามปกติ ควรได้รับคาร์โบไฮเดรต 55-60% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรืออาจจะเพิ่มได้บ้างในผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน แต่ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย อาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานมากขึ้นและเกิดอาการแน่นท้องมากขึ้น
หากผู้ป่วยรับคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าวได้น้อยมาก อาจจะให้ผู้ป่วยได้รับในรูปแบบของน้ำหวานเพิ่ม เพื่อที่จะป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายดึงโปรตีนมาใช้เป็นพลังงานทดแทน จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
ไขมัน
ผู้ป่วยควรระวังการบริโภคไขมันเป็นพิเศษเพราะ การสร้างน้ำดีอาจจะมีน้อยลง หากรับประทานไขมันในปริมาณสูงเข้าไป ไขมันจะย่อยยากหรือไม่สามารถย่อยได้ แน่นท้อง ท้องอืด จุลินทรีย์ในลำไส้จะเปลี่ยนไขมันเป็นแก๊ส ทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร จึงเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด แน่นท้อง แพทย์จะกำหนดใช้ไขมัน MCT (medium chain triglyceride) ให้ผู้ป่วยทดแทนไขมันปกติ เพราะไขมันชนิดนี้ร่างกายนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ตับก่อน
ผักใบเขียว
ผลไม้ทุกชนิดสามารถรับประทานได้ แต่หากมีอาการท้องอืดมาก ควรเลือกผักที่ไม่มีเส้นใยมากนัก และหลีกเลี่ยงผักที่ให้กลิ่นฉุน เช่น ต้นหอม คึ่นไช่ คะน้า เป็นต้น อาจก่อให้เกิดแก๊สในลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องอืดมากขึ้นกว่าเดิม
เบต้าแคโรทีน
ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายนำไปใช้สร้างวิตามินเอ จะช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ สาเหตุของโรคมะเร็ง สารชนิดนี้มีมากในพืชผักสีแดง เหลือง ส้ม หรือเขียวเข้ม เบต้าแคโรทีน มีอยู่มากในผักจำพวกผักใบเขียว และผลไม้ ที่มีสีเหลือง ส้ม หรือแดงส้ม เช่น ผักบุ้ง ตำลึง แครอท ฟักทอง มะลอกอสุก แอ๊ปเปิ้ล ซึ่งผักผลไม้เหล่านี้ยังให้กากใย มีผลดีต่อการกำจัดพิษที่คั่งค้างในร่างกายได้ด้วย
ประโยชน์ของเบต้าแคโรทีน(UsefulnessofBeta-carotene) พิษร้ายของสารชนิดหนึ่งที่เราเรียกกันว่า อนุมูลอิสระ (Free Radicals) ที่มีอยู่อย่างมากมายในร่างกายของเรา และมีทั้งชนิดที่ร่างกายของเราสร้างขึ้นเอง เบต้าแคโรทีนเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ถูกค้นพบว่ามีคุณสมบัติในการทำลายอนุมูลอิสระ ได้อย่างดีเลิศ พบว่าเบต้าแคโรทีนจะทำปฏิกิริยาต้านการเกิดอ๊อกซิเดชั่นระหว่างอนุมูลอิสระกับสารสำคัญในเซลล์ที่มีชีวิตโดยแย่งทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระเสียก่อน แล้วขับถ่ายออกไปตามระบบขับถ่ายต่างๆ ของร่างกาย
เซลล์ของเราก็รอดชีวิตจากขบวนการในการทำลาย
เบต้าแคโรทีน สามารถให้ผลกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกาย ที่ชื่อ ทีเฮลเปอร์เซลล์ ( T-helper Cell ) ให้มีประสิทธิภาพการทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้นจึงให้ผลดีกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็ง
อ้างอิง โภชนบำบัดมะเร็ง : ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
เรียบเรียงโดย พรพิศ เรืองขจร
ขอบคุณครับ ผมเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อภาวะ การเกิดโรคนี้ครับ เพราะชอบดื่มสุรา เบียร์ เป็นประจำและนานแล้วหลายปี ปัจจุบันมีอาการ แน่นท้อง ท้องอืด ซึ่งดูแล้วอาการใกล้เคียง กับการที่ไม่มีน้ำดีผลิต 555+ ขอบคุณที่ให้ข้อมูลดีๆ ครับ