Levofloxacin (Ophthalmic)

คำอธิบายโดยสังเขป

ลีโวฟลอกซาซิน (levofloxacin) เป็นยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones)
ลีโวฟลอกซาซินชนิดใช้กับดวงตาใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ดวงตา เช่น เยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis) เป็นต้น อาจใช้ร่วมกับยาหยอดตา ยาป้ายตาหรือยารับประทานอื่น ๆได้

  • ยานี้ไม่ได้ผลต่อเชื้อไวรัสหรือเชื้อราในโรคติดเชื้อที่ดวงตา

ยามีจำหน่ายในรูปแบบ

  • ลีโวฟลอกซาซินชนิดหยอดตา (levofloxacin ophthalmic solution)

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมี ประวัติการแพ้ยาลีโวฟลอกซาซิน (levofloxacin) หรือ
ยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones) ตัวอื่น หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเว้นแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งท่านเป็นอย่างอื่น

ตั้งครรรภ์

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ไม่มีการศึกษาการใช้ยานี้ในมนุษย์ที่ตั้งครรภ์ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายานี้ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนเมื่อให้ยาในรูปแบบรับประทาน หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้นสตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้

กำลังให้นมบุตร

ไม่มีข้อมูลว่าลีโวฟลอกซาซินชนิดหยอดตา (levofloxacin ophthalmic solution) ผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ อย่างไรก็สตรีที่กำลังให้นมบุตรตามควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้

ผู้สูงอายุ

มีการใช้ยาลีโวฟลอกซาซินชนิดหยอดตา (levofloxacin ophthalmic solution) ในผู้สูงอายุและยังไม่มีรายงานการเกิดอาการข้างเคียงหรือปัญหาใดๆที่แตกต่าง กับการใช้ยานี้ในวัยอื่น ๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่จำเป็น โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาหยอดบริเวณเดียวกันกับยาลีโวฟลอกซาซินชนิดหยอดตา (levofloxacin ophthalmic solution)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาการเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาลีโวฟลอกซาซินชนิดหยอดตา (levofloxacin ophthalmic solution)โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาหากท่านกำลังเจ็บป่วยอยู่

การใช้ที่ถูกต้อง

ขั้นตอนการใช้ยาหยอดตา

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะใช้ยาหยอดตา
  2. อ่านวิธีใช้ยาบนฉลากยา ตรวจสอบวันหมดอายุของยาทุกครั้งที่ใช้
  3. เขย่าขวดยาก่อนใช้ยาหยอดตา
  4. เปิดเกลียวจุกของขวดยาไว้
  5. นอน หรือนั่งลงให้ศีรษะเอนไปทางด้านหลัง พร้อมกับมองแหงนตาขึ้น กรณีผู้ป่วยเป็นเด็ก ควรหยอดในท่านอนสะดวกกว่า และไม่ควรหยอดตาในขณะที่เด็กร้องไห้
  6. ค่อย ๆ ใช้มือข้างหนึ่งดึงหนังตาล่างลงมาให้เป็นกระพุ้ง และเหลือบตาขึ้นข้างบน
  7. ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับขวดยา โดยให้ปลายหลอดอยู่ใกล้ตา แต่อย่าให้สัมผัสกับตาหรือขนตา
  8. หยดยาตามจำนวนที่แพทย์สั่งลงตรงกระพุ้ง ด้านในของเปลือกตาล่าง
  9. ใช้นิ้วมือกดตรงหัวตาด้านในเบาๆประมาณ 1-2 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้ยาไหลเข้าสู่ท่อนํ้าตา จะได้ไม่รู้สึกขมคอ
  10. ปิดตาเบา ๆ (อย่าขยี้ตา) ใช้กระดาษทิชชูซับนํ้ายาส่วนเกินออก หลับตาอย่างน้อย 2 นาที
  11. ถ้าต้องหยอดยาตามากกว่า 1 ชนิด ควรหยอดยาตาแต่ละชนิดห่างกันอย่างน้อย 5 นาที ถ้ามีทั้งยาหยอดตาและยาป้ายตาพร้อม ๆ กัน ควรจะใช้ยาหยอดตาก่อน ทิ้งระยะ 10 นาที แล้วจึงป้ายตา
  12. หลังจากหยอดยา เรียบร้อยแล้ว ปิดจุกยาให้สนิท ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา
  13. หลังจากเปิดยาหยอดตาใช้แล้ว ไม่ควรจะใช้ยานั้นเกิน 1 เดือน
  14. ถ้ามีอาการแพ้ คือ ตาแดง บวม แสบตามาก หรือมีผิวหนังแดงมาก ต้องหยุดยา และพบจักษุแพทย์

คำ แนะนำ อื่น ๆ ในการใช้ยาหยอดตา

  • เพื่อให้ได้ผลดี ควรใช้ยานี้จนครบเวลาการรักษา ถึงแม้ว่าอาการของท่านจะดีขึ้นหลังจากใช้ยาไม่กี่วันก็ตาม หากท่านหยุดใช้ยานี้เร็วเกินไป อาจจะกลับมามีอาการใหม่ และ ไม่ควรลืมใช้ยา
  • หากมีขี้ตามาก ให้ล้างตาด้วยนํ้ายาล้างตา หรืออาจเช็ดขี้ตาก่อนป้ายตา

ขนาดยา

ขนาดยาของยาลีโวฟลอกซาซินชนิดหยอดตา (levofloxacin ophthalmic solution) แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหรือตามที่ฉลากระบุ

เมื่อลืมใช้ยา

ถ้าลืมหยอดตา ให้หยอดตาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเกือบจะถึงเวลาที่จะหยอดตาครั้งต่อไป ก็ไม่ต้องหยอดตาครั้งที่ลืม แต่รอหยอดยาครั้งต่อไปได้เลย

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
  • ยาหยอดตาหลังจากเปิดใช้แล้วมีอายุ 1 เดือน หากใช้เกิน 1 เดือนให้ทิ้งยานั้น

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นใน 7 วัน หรืออาการเลวลงควรรีบกลับไปพบแพทย์
หยุดยา และรีบกลับไปพบแพทย์ทันที หากใช้ยาแล้ว มีผื่นผิวหนัง หรือปฏิกิริยาการแพ้เกิดขี้น

  • ก่อนใช้ยาลีโวฟลอกซาซินชนิดหยอดตา (levofloxacin ophthalmic solution) ควรแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติแพ้ยาอื่นในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones) และควรสังเกตอาการแพ้ยาอย่างใกล้ชิดถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาดังกล่าวและได้รับยาลีโวฟลอกซาซิน เพราะมีโอกาสเกิดการแพ้ข้ามกันได้
  • การใช้ยานี้อาจทำให้ดวงตามีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการแสงแดด หรือใส่แว่นตากันแดด เพื่อลดอาการระคายเคืองตา
  • การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาและการเจริญมากไปของเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ (superinfection)

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. พบแพทย์โดยเร็วหากมีอาการต่อไปนี้
พบน้อยมาก

  • ตาบวม, ผื่นลมพิษ, คัน , หน้าบวม, แน่นหน้าอก, หายใจลำบาก

ข. พบแพทย์โดยเร็ว หากในอาการต่อไปนี้
พบน้อยมาก

  • เวียนศรีษะ

ค.อาการข้างเคียงอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบบ่อย

  • แสบตา
    พบน้อย
  • ตาพร่า, เจ็บตา, ตาไวต่อแสงมากขึ้น, ตาแดง, ระคายเคืองตา, น้ำตาไหล, หรือตาแห้ง

ง. อาการข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ชื่อทางการค้า

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยาที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.Levofloxacin. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: June 19, 2010.
  2. สุชาดา ชุติมาวรพันธ์, โพยม วงศ์ภูวรักษ์, อภิฤดี เหมะจุฑา. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2550). สภาเภสัชกรรม. หน้า 66-91.
  3. Dailymed current medication information .Levofloxacin. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=17704 Date: June 20, 2010.
  4. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals Levofloxacin Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/lexicomp/levofloxacin.html Access Date: June 20, 2010.

เขียนโดย โพยม วงศ์ภูวรักษ์, ไตรรัตน์ แก้วเรือง

เขียนเมื่อ 20 Jun 2010 01:06 แก้ไขเมื่อ 15 Oct 2010 12:10

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย