มลพิษต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมเช่น ฝุ่น ควัน เชื้อโรค สารเคมี หากเราไม่มีความรู้ ไม่ทราบพิษภัยของมัน หรือใช้กันอย่างไม่ระมัดระวัง มันสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลาโดยปนเปื้อนมากับอากาศ อาหาร และน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ยิ่งในปัจจุบันมีการใช้สารเคมีกันอย่างแพร่หลาย การจะศึกษาถึงอันตรายจากสารปนเปื้อนเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อันตรายจากสารปนเปื้อนในน้ำ ถือเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ เพราะน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตรองจากอากาศ เนื่องจากในร่างกายมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ร้อยละ 50-75 ของน้ำหนักตัว และทุกๆ เซลล้วนมีน้ำเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น น้ำทำหน้าที่หลายอย่างในกระบวนการทำงานของร่างกายเช่น ช่วยย่อยและดูดซึมอาหารรวมทั้งของเสียไปตามกระแสเลือด ช่วยให้ปฏิกิริยาทางเคมีและการเผาผลาญอาหารในร่างกายเป็นไปตามปกติ ช่วยหล่อลื่นและรับการเคลื่อนไหวของเอ็น ข้อต่อต่างๆ ช่วยให้ผิวพรรณสดชื่น ช่วยในการสะสมอาหาร และช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสม ด้วยเหตุนี้น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคจึงควรเป็นน้ำที่สะอาด ปราศจากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย สารปนเปื้อนที่เป็นปัญหาในน้ำ อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้
- สารเคมี ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรมและในชีวิตประจำวันของมนุษย์ มีการใช้กันอย่างแพร่หลายและในปริมาณที่สูงมากขึ้นทุกวัน ทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เมื่อมีการนำน้ำจากแหล่งดังกล่าวมาใช้ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แบ่งออกได้เป็น
- สารก่อมะเร็ง สารเคมีส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งโดยจะกระตุ้นให้เกิดเซลมะเร็งในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ สารก่อมะเร็งได้แก่ กลุ่ม aromatic amines กลุ่ม aromatic nitro compounds กลุ่ม polycyclic aromatic hydrocarbons กลุ่ม heterocycles กลุ่ม dyes และกลุ่ม hydrazines
- สารเคมีที่มีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมน ซึ่งพบได้บ่อยและใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคเกษตรกรรมทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เช่น สารฆ่าหญ้า สารฆ่าแมลง สารเคมีเหล่านี้จะขัดขวางระบบสืบพันธุ์และระบบเผาผลาญอาหารของมนุษย์ โดยเฉพาะดีดีที เป็นสารเคมีที่มีครึ่งชีวิต(half-life)ยาวมาก จึงตกค้างอยู่นานโดยไม่เสื่อมสภาพ การที่มนุษย์ดื่มน้ำที่มีดีดีทีปนเปื้อนเข้าไปจะได้รับสารเคมีในรูป xenoestrogen ทำให้มีผลกระทบต่อฮอร์โมนจนเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศของผู้ชาย
- สารเคมีที่มาจากอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมักจะปล่อยออกมาปนเปื้อนกับแหล่งน้ำดิบ และบางครั้งจะมีการเติมสารเคมีบางชนิดลงในน้ำด้วย เช่น คลอรีน เป็นของเหลวสีน้ำตาลเหลืองหรือเป็นก๊าซสีเหลืองเขียวมีกลิ่นฉุน และเป็นพิษ ใช้ในการผลิตสารเคมีต่างๆ เช่น กรดเกลือ สารคลอรีน สารฆ่าแมลง สารทำความเย็น พลาสติก และสารฆ่าเชื้อโรคเป็นต้น แต่ถ้ามีคลอรีนตกค้างในน้ำดื่ม รวมทั้งคลอรีนที่ทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำจะทำให้เกิดสาร trihalomethanes หรือ trichloroethane ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง สามารถทำลายตับ ไต และก่อให้เกิดโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ หรือกระเพาะปัสสาวะ ส่วนคลอรีนที่ตกค้างในน้ำสำหรับอาบเช่นการแช่น้ำในอ่างอาบน้ำหรือว่ายน้ำในสระน้ำที่ใส่คลอรีนซึ่งมักเติมคลอรีนที่มีความเข้มข้นสูงกว่ามาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่าถ้าอาบน้ำที่มีคลอรีนนาน 15 นาที จะได้รับสารเคมีผ่านเข้าทางผิวหนังและทางการหายใจ มีจำนวนเกือบเท่ากับการดื่มน้ำที่มีคลอรีนปนเปื้อนอยู่ปริมาณ 2 ลิตร สารเคมีที่อยากกล่าวถึงอีกคือ ฟลูออไรด์ เป็นสารประกอบที่ได้จากฟลูออรีน พบในธรรมชาติทั่วไป และได้มีการนำฟลูออไรด์มาใช้มากมายในวงการแพทย์ ทันตแพทย์ เช่น การเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำดื่มเพื่อป้องกันฟันผุ และในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก อะลูมิเนียม ตะกั่ว ทองแดง แต่บางครั้งพบว่ามีการปนเปื้อนของฟลูออไรด์ในน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินจากโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ การดื่มน้ำที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูงอาจเกิดอันตรายได้ ถ้าปริมาณฟลูออไรด์มีมากถึงระดับที่เป็นพิษ คือ ฟลูออไรด์ 1 ส่วนในล้านส่วน จะทำให้เกิดจุดด่างขาวบนฟัน ฟลูออไรด์มากกว่า 2.5 ส่วนในล้านส่วน จะทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลในฟันและเคลือบฟันเป็นสีเข้ม ฟลูออไรด์ตั้งแต่ 10 ส่วนในล้านส่วน จะทำให้กระดูกคดงอ กล้ามเนื้ออ่อนแอ มีการเปลี่ยนแปลงที่กระดูกสันหลังอาจกลายเป็นคนพิการได้
2. โลหะหนัก ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติทางกายภาพคล้ายคลึงกัน แต่คุณสมบัติทางเคมีแตกต่างกันมากตามชนิดของโลหะนั้น จึงมีผลทำให้ความเป็นพิษที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตต่างกัน ซึ่งสิ่งมีชีวิตจะตอบสนองต่อพิษได้หลายแบบ โลหะหนักมีผลต่อพฤติกรรมในระดับเซล 5 แบบคือ ทำให้เซลตาย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของเซล เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิด และทำความเสียหายต่อโครโมโซม โลหะหนักที่มักพบในน้ำดื่มได้แก่ ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ซึ่งจะกล่าวถึงความเป็นพิษของโลหะแต่ละชนิดดังนี้
- ตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำมากที่สุด เมื่อเข้าไปสะสมในร่างกายจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและข้อ ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง ความจำเสื่อม ภูมิต้านทานลดลง และขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ในร่างกาย
- ปรอท ถ้าไปสะสมที่อวัยวะใดจะทำให้อวัยวะนั้นพิการ ที่พบบ่อยที่สุดคือที่สมองและไขสันหลัง ซึ่งจะทำให้เปลือกหุ้มเส้นประสาทชำรุด ทำให้อ่อนเพลียบริเวณแขนขาและใบหน้า เห็นภาพซ้อน ปัสสาวะลำบาก ถ้าเป็นในเด็กจะทำให้ปัญญาอ่อน สมาธิไม่ดี หงุดหงิด อาการปรอทเป็นพิษที่พบเสมอคือปวดข้อ ข้ออักเสบ ปวดท้อง อาการทางหัวใจ สมองเสื่อมและเป็นโรคภูมิแพ้
- แคดเมียม ถ้าไปสะสมในร่างกายจะมีความเสี่ยงต่อภาวะไตวาย ความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากบวม ผิวหนังอักเสบ ปวดข้อ เบื่ออาหาร ความจำเสื่อม และมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ในที่สุด
นอกจากสารปนเปื้อนในน้ำแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่มดังนี้
- แบคทีเรีย ทำให้เกิดโรคกับมนุษย์มากที่สุด เช่น อหิวาตกโรค โรคบิด โรคไข้รากสาดน้อย โรคไข้รากสาดใหญ่ เป็นต้น
- ไวรัส ที่มีอยู่ในน้ำและโรคติดต่อมนุษย์ เช่น โรคตับอักเสบ โรคโปลิโอ เป็นต้น
- พยาธิ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์มีหลายชนิด ได้แก่ พยาธิใบไม้ พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน และพยาธิตัวตืด
- โปรโตซัว ในน้ำมีโปรโตซัวหลายชนิดอยู่ตามธรรมชาติ รวมทั้งโปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรคบิดด้วย
- สาหร่าย น้ำที่มีสาหร่ายมากจะทำให้เกิดปัญหาเรื่อง รส กลิ่น และสีของน้ำ
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าน้ำถือเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต การตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคเป็นน้ำสะอาดปราศจากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เอกสารอ้างอิง
1. สมศักดิ์ วรคามิน : Water for Life. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร. 2546. หน้า 45 – 79.
2. มลพิษอันเกิดจากโลหะบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์. ปีที่ 31 เล่ม 10 เดือนตุลาคม 2520. หน้า 29 – 40.
3. น้ำเพื่อชีวิต (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก : http://www.elib-online.com
ผู้เขียน: อังสนา ฉั่วสุวรรณ์
โครงการเคมี
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี