อ่าน: 739
Small_font Large_font

Oral iron supplements (ธาตุเหล็กชนิดรับประทาน)

คำอธิบายพอสังเขป

ธาตุเหล็กในรูปแบบรับประทานใช้สำหรับเสริมธาตุเหล็กสำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากธาตุเหล็ก หรือมีความเสี่ยงจากการขาดธาตุเหล็ก

แพทย์อาจสั่งใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกร
ธาตุเหล็กเป็นเกลือแร่ที่มีความจำเป็นในการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบในเม็ดเลือดแดง หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง

ธาตุเหล็กมีอยู่มากในอาหารหลายชนิด หากรับประทานอาหารได้ตามปกติและรับประทานอาหารครบถ้วน ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เช่น ผู้สูญเสียเลือด, ผู้ป่วยโรคไตที่ทำฮีโมไดแอลิสิส (haemodialysis), ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้, ผู้รับประทานอาหารได้น้อยหรือรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ, ทารกที่ได้รับนมแม่หรือนมผสมที่มีธาตุเหล็กต่ำ และหากได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการของการขาดธาตุเหล็กได้ ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจได้สั้น ๆ เคลื่อนไหวเชื่องช้าลง และมีปัญหาในการเรียนรู้ และทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

แหล่งของอาหารที่มีธาตุเหล็กมากคือ เนื้อสัตว์, ปลา, สัตว์ปีก, ถั่ว ผลไม้แห้งและเมล็ดธัญญพืช ธาตุเหล็กในอาหารมีสองรูปแบบคือ เหล็กในรูปแบบฮีม (heam iron) ซึ่งดูดซึมในทางเดินอาหารได้ดี และเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (nonheam iron) ซึ่งดูดซึมได้น้อยกว่ารูปแบบฮีม แหล่งของอาหารที่ธาตุเหล็กแบบฮีม คือ เนื้อแดงไม่ติดมัน (เนื้อสัตว์สี่เท้า) สำหรับเนื้อสัตว์ปีกและปลามีธาตุเหล็กเช่นกันแต่มีน้อยกว่าเนื้อแดง ส่วนเมล็ดธัญญพืช ถั่ว และผักบางชนิดมีธาตุเหล็กในรูปแบบที่ไม่ใช่ฮีม

ไม่ควรเริ่มต้นรับประทานธาตุเหล็กเสริมเองโดยไม่ได้รับการตรวจจากแพทย์ เนื่องจากภาวะโลหิตจางไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว แต่เกิดได้ทั้งจากการขาดสารอาหารอื่นด้วย เช่น วิตามินบี 12, กรดโฟลิก นอกจากนี้อาจเกิดจากการสูญเสียเลือด หรือ เม็ดแดงถูกทำลายด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ยา, โรคธาลัสซีเมีย (thalassaemia) โดยเฉพาะผู้ที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจะมีเหล็กออกมาจากเม็ดเลือดที่ถูกทำลายและสะสมอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว เมื่อได้รับธาตุเหล็กจากยาที่รับประทานเข้าไปอีกจะยิ่งเสริมทำให้เกิดพิษจากธาตุเหล็กได้

ยาเสริมธาตุเหล็กมีสองรูปแบบคือ เกลือเฟอร์รัส (ferrous salts) และเกลือเฟอร์ริก (ferric salts) โดยเกลือเฟอร์รัส ถูกดูดซึมในทางเดินอาหารได้ดีกว่าเกลือเฟอร์ริก นอกจากนี้ยาเสริมธาตุเหล็กอาจอยู่ในรูปแบบของเกลือหลายชนิด เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรท (ferrous fumarate), เฟอร์รัสซัลเฟต (ferrous sulfate), เฟอร์รัสกลูโคเนต (ferrous gluconate), เฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเตรท (ferric ammonium citrate) และไอรอนไฮดรอกซีโพลีมอลโทสคอมเพลกซ์ (iron hydroxide polymaltose complex) เกลือของธาตุเหล็กแต่ละชนิดมีปริมาณธาตุเหล็กแตกต่างกัน หากขนาดยาที่ให้มีปริมาณธาตุเหล็กที่เพียงพอ อัตราการสร้างฮีโมโกลบินก็จะไม่ขึ้นกับชนิดของเกลือของธาตุเหล็ก

ขนาดยาของเกลือของธาตุเหล็กสำหรับรับประทานต้องคำนวณในรูปของธาตุเหล็ก (elemental iron) เช่น

  • เฟอร์รัสฟูมาเรตแบบไม่มีน้ำ (anhydrous) 200 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 65 มิลลิกรัม
  • เฟอร์รัสกลูโคเนตซึ่งมีน้ำ 2 โมเลกุล (dihydrate) 300 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 35 มิลลิกรัม
  • เฟอร์รัสซัลเฟตซึ่งมีน้ำ 7 โมเลกุล (heptahydrate) 300 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม
  • เฟอร์รัสซัลเฟตแบบไม่มีน้ำ (anhydrous) 200 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 65 มิลลิกรัม

ธาตุเหล็กถูกดูดซึมได้ดีในสภาวะที่เป็นกรด เนื่องจากเหล็กอยู่ในสภาพที่ละลายได้ดี โดยถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) แต่เนื่องจากในลำไส้เล็กส่วนต้นมีความเป็นกรดน้อย ดังนั้นสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น วิตามินซี หรือกรดแอสคอบิก (ascorbic acid) จึงช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก สูตรของธาตุเหล็กชนิดรับประทานบางสูตรจึงมีการเติมวิตามินซีเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของเหล็ก

นอกจากนี้ยังมีการเติมสารอาหารอื่น ๆ อย่างหลากหลาย เช่น วิตามิน ได้แก่ วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 6, วิตามินบี 12, กรดโฟลิก (จัดเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง), ไนอาซิน (หรือวิตามินบี 3 บางตำราใช้คำว่าไนอาซินเป็นคำรวมสำหรับกรดนิโคทินิก และ นิโคทินาไมด์ หรือ ไนอาซินาไมด์), แคลเซียมแพนโททีเนท (จัดเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง), ไบโอทิน (จัดเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง), วิตามินดี, วิตามินอี, วิตามินเค, และเกลือแร่อื่น เช่น ทองแดง, แมกนีเซียม, แมงกานีส, แคลเซียม, ไอโดดีน, ฟลูออไรด์, สังกะสี, ฟอสฟอรัส นอกจากนี้บางสูตรยังมีการเติมสารสกัดตับ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ของการเติมสารอาหารเหล่านี้ลงไป ยกเว้นการเติมกรดโฟลิกในสูตรยาสำหรับสตรีมีครรภ์ซึ่งพบว่ามีประโยชน์ เนื่องจากทารกในครรภ์ต้องได้รับกรดโฟลิกอย่างเพียงพอด้วย การเลือกใช้ธาตุเหล็กตำรับใดนั้นจึงควรพิจารณาจากสูตรตำรับ, รสชาติ, อุบัติการณ์ของอาการไม่พึงประสงค์ และราคา

ถ้าท่านใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีธาตุเหล็กด้วยตนเอง ควรอ่านฉลากให้ละเอียดและปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ในกรณีการใช้ยาที่มีธาตุเหล็ก ให้คำนึงเสมอว่า ยาทุกชนิดมีความเสี่ยง การตัดสินใจใช้ยาจึงต้องประเมินผลดีและผลเสียที่จะได้รับ สำหรับการรับประทานยาที่มีธาตุเหล็ก

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาที่มีธาตุเหล็ก หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยาเหล่านี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

เมื่อรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับกับอาหารบางชนิดจะทำให้ลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ลดประสิทธิผลของธาตุเหล็ก จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก ๆ ร่วมกับธาตุเหล็ก หากท่านจะรับประทานอาหารเหล่านี้ ควรรับประทานอาหารเหล่านี้ให้ห่างจากการรับประทานธาตุเหล็กอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง

  • นม
  • ไข่
  • ชีส และโยเกิรต์
  • ผักโขม (spinach)
  • ชา หรือกาแฟ
  • ข้าวกล้อง, เมล็ดธัญญพืช และขนมปังธัญญพืช

ตั้งครรภ์

ไม่มีข้อมูลการจัดยาที่เป็นธาตุเหล็กว่าอยู่ในประเภทใดของการจัดกลุ่มยาที่มีผลต่อสตรีมีครรภ์ (pregnancy category)

สตรีมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม

อย่างไรก็ตามในช่วง 6 เดือนหลังของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กในการพัฒนาการเพิ่มขึ้น สตรีมีครรภ์จึงต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีธาตุเหล็ก ปริมาณมากในระหว่างมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกในครรภ์

เด็ก

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในเด็กที่รับประทานยาที่มีธาตุเหล็กตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน อาการข้างเคียงของยาที่มีธาตุเหล็กที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะมีรายงานเด็กรับประทานธาตุเหล็กมากเกินไปโดยอุบัติเหตุ จนทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย เนื่องจากเด็กเข้าใจผิดว่ายาที่มีธาตุเหล็กเป็นลูกอมหรือขนมกินเล่น

ผู้สูงอายุ

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในผู้สูงอายุที่รับประทานยาที่มีธาตุเหล็กตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน บางครั้งผู้สูงอายุอาจต้องการยาที่มีธาตุเหล็กในปริมาณสูงกว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากมีปัญหาในการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่มปริมาณยาที่มีธาตุเหล็กด้วยตนเอง ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยาที่มีธาตุเหล็ก ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้

ก. ยาที่ธาตุเหล็กมีผลรบกวนการดูดซึม ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดลดลง และลดผลการรักษาได้ เช่น

  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น อีนอกซาซิน (enoxacin), ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin), โลมืฟลอกซาซิน (lomefloxacin), ลีโวฟลอกซาซิน (levofloxacin), นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin), โอฟลอกซาซิน (ofloxacin), สปาร์ฟลอกซาซิน (sparfloxacin)
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเททราไซคลีนชนิดรับประทาน
  • เอทิโดรเนต (etidronate)
  • เอนทาคาโพน (entacapone)
  • ลีโวโดพา (levodopa)
  • เมทิลโดพา (methyldopa)
  • ลีโวไทรอกซีน (levothyroxine) หรือ ไทรอกซีน (thyroxine)
  • ฯลฯ

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาที่มีธาตุเหล็กห่างจากการรับประทานยาเหล่านี้ 2 ชั่วโมง

ข. ยาที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ประสิทธิผลของธาตุเหล็กลดลง

  • ยาลดกรด (antacids)
  • แมกนีเซียมไทรซิลิเคต (magnesium trisilicate)
  • เกลือแคลเซียม (calcium salts)
  • ยาที่มีส่วนประกอบของสังกะสี โดยสังกะสีลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และในขณะเดียวกัน ธาตุเหล็กก็ลดการดูดซึมของสังกะสีเข้าสู่กระแสเลือด

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาที่มีธาตุเหล็กก่อนหรือหลังยาเหล่านี้ 2 ชั่วโมง

ค. ยาที่เมื่อใช้ร่วมกับยาที่มีธาตุเหล็กอาจทำให้ประสิทธิผลของยาทั้งสองชนิดลดลง

  • กรดแอซีโทไอดรอกซามิก (acetohydroxamic acid)

ง. ยาที่เมื่อใช้ร่วมกับยาที่มีธาตุเหล็กจะทำให้เกิดอันตรายได้

  • ไดเมอแคพรอล (dimercaprol) เนื่องจากธาตุเหล็กและไดเมอแคพรอลอาจจับกันในร่างกายและทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาที่มีธาตุเหล็ก ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ติดสุราเรื้อรัง หรือ
  • มีแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร (stomach ulcer) หรือ
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ (intestinal problems) หรือ
  • ได้รับการเลือด (เนื่องจากในเลือดมีเม็ดเลือดแดงที่มีธาตุเหล็กมาก) หรือ
  • ภาวะที่มีเหล็กในร่างกายมากอยู่แล้ว เช่น ฮีโมโครมาโทซีส (hemochromatosis), ฮีโมสิเดอโรซีส (hemosiderosis), ฮีโมกลอบิโนพาทีส์ (hemoglobinopathies) หรือ
  • ภาวะโลหิตจางที่ไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เพราะการได้รับธาตุเหล็กโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดพิษได้ โดยเฉพาะภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก, โรคธาลัสซีเมีย หรือ
  • มีการติดเชื้อในไต หรือ
  • เป็นโรคตับ หรือ
  • เป็นโรคพอร์ฟีเรียคิวทาเนียสทาร์ดา (porphyria cutaneous tarda) เพราะอาจทำให้มีระดับของเหล็กในเลือดสูงจนเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ หรือ
  • เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rheumatoid arthritis) หรือ
  • เป็นโรคหอบหืด (asthma)

ยา

ยาต่อไปนี้อยู่ในกลุ่มยานี้

แหล่งอ้างอิง

  1. British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary. 50th ed. (September, 2005) BMJ Publishing Group Ltd., London, 460-465, 484-489, 489-494.
  2. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 29 April, 2010.
  3. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Iron supplements (systemic). Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  4. Anderson PO, Knoben JE, Troutman EG. Handbook of Clinical Drug Data. 10th ed. McGraw-Hill, Medical Publishing Division, New York. 2002: 619-621.
  5. Sweetman SC, Martindale The complete drug reference 34th ed,, 2005, Pharmaceutical press, p.1436
  6. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ประเภททะเบียน ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ ... Available at: www2.fda.moph.go.th/.../dgexp111.asp?... Access date: June 20, 2010.

วิบุล วงศ์ภูวรักษ์ , โพยม วงศ์ภูวรักษ์
26 มิถุนายน 2553 11 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย