อ่าน: 4519
Small_font Large_font

Ferrous fumarate (เฟอร์รัสฟูมาเรต)

คำอธิบายพอสังเขป

เฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) เป็นเกลือของธาตุเหล็ก ซึ่งอยู่ในรูปแบบรับประทานใช้สำหรับเสริมธาตุเหล็กสำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากธาตุเหล็ก หรือมีความเสี่ยงจากการขาดธาตุเหล็ก

แพทย์อาจสั่งใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกร
ธาตุเหล็กเป็นเกลือแร่ที่มีความจำเป็นในการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบในเม็ดเลือดแดง หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง

ธาตุเหล็กมีอยู่มากในอาหารหลายชนิด หากรับประทานอาหารได้ตามปกติและรับประทานอาหารครบถ้วน ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เช่น ผู้สูญเสียเลือด, ผู้ป่วยโรคไตที่ทำฮีโมไดแอลิสิส (haemodialysis), ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้, ผู้รับประทานอาหารได้น้อยหรือรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ, ทารกที่ได้รับนมแม่หรือนมผสมที่มีธาตุเหล็กต่ำ และหากได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการของการขาดธาตุเหล็กได้ ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจได้สั้น ๆ เคลื่อนไหวเชื่องช้าลง และมีปัญหาในการเรียนรู้ และทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

แหล่งของอาหารที่มีธาตุเหล็กมากคือ เนื้อสัตว์, ปลา, สัตว์ปีก, ถั่ว ผลไม้แห้งและเมล็ดธัญญพืช ธาตุเหล็กในอาหารมีสองรูปแบบคือ เหล็กในรูปแบบฮีม (heam iron) ซึ่งดูดซึมในทางเดินอาหารได้ดี และเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (nonheam iron) ซึ่งดูดซึมได้น้อยกว่ารูปแบบฮีม แหล่งของอาหารที่ธาตุเหล็กแบบฮีม คือ เนื้อแดงไม่ติดมัน (เนื้อสัตว์สี่เท้า) สำหรับเนื้อสัตว์ปีกและปลามีธาตุเหล็กเช่นกันแต่มีน้อยกว่าเนื้อแดง ส่วนเมล็ดธัญญพืช ถั่ว และผักบางชนิดมีธาตุเหล็กในรูปแบบที่ไม่ใช่ฮีม

ไม่ควรเริ่มต้นรับประทานเฟอร์รัสฟูมาเรตเสริมเองโดยไม่ได้รับการตรวจจากแพทย์ เนื่องจากภาวะโลหิตจางไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว แต่เกิดได้ทั้งจากการขาดสารอาหารอื่นด้วย เช่น วิตามินบี 12, กรดโฟลิก นอกจากนี้อาจเกิดจากการสูญเสียเลือด หรือ เม็ดแดงถูกทำลายด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ยา, โรคธาลัสซีเมีย (thalassaemia) โดยเฉพาะผู้ที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจะมีเหล็กออกมาจากเม็ดเลือดที่ถูกทำลายและสะสมอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว เมื่อได้รับธาตุเหล็กจากยาที่รับประทานเข้าไปอีกจะยิ่งเสริมทำให้เกิดพิษจากธาตุเหล็กได้

ขนาดยาของเฟอร์รัสฟูมาเรตสำหรับรับประทานต้องคำนวณในรูปของธาตุเหล็ก (elemental iron) เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรตแบบไม่มีน้ำ (anhydrous) 200 มิลลิกรัม มีธาตุเหล็ก 65 มิลลิกรัม

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาที่มีเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) หรือธาตุเหล็กรูปแบบอื่น หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยาเหล่านี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

เมื่อรับประทานเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) ร่วมกับอาหารบางชนิดจะทำให้ลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ลดประสิทธิผลของเฟอร์รัสฟูมาเรต จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก ๆ ร่วมกับเฟอร์รัสฟูมาเรต หากท่านจะรับประทานอาหารเหล่านี้ ควรรับประทานอาหารเหล่านี้ให้ห่างจากการรับประทานเฟอร์รัสฟูมาเรตอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง

  • นม
  • ไข่
  • ชีส และโยเกิรต์
  • ผักโขม (spinach)
  • ชา หรือกาแฟ
  • ข้าวกล้อง, เมล็ดธัญญพืช และขนมปังธัญญพืช

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'A' สำหรับสตรีมีครรภ์

โดยจัดตามกลุ่มยาที่มีผลต่อสตรีมีครรภ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเภท A

จากการศึกษาในมนุษย์ ไม่พบความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์เมื่อใช้ยาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์เมื่อใช้ยาหลังจาก 3 เดือนแรก ดังนั้น สตรีมีครรภ์จึงควรสามารถใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัย

หมายเหตุ หากยึดตามการจัดกลุ่มยาที่มีผลต่อสตรีมีครรภ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (US pregnancy category) จะไม่มีข้อมูลการจัดยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) ว่าอยู่ในประเภทใด แต่หากยึดตามการจัดกลุ่มยาที่มีผลต่อสตรีมีครรภ์ของประเทศออสเตรเลีย ยานี้จะอยู่ในกลุ่มเอ (A)

สตรีมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์หากรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม

อย่างไรก็ตามในช่วง 6 เดือนหลังของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กในการพัฒนาการเพิ่มขึ้น สตรีมีครรภ์จึงต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรตปริมาณมากในระหว่างมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

สตรีกำลังให้นมบุตรต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ เพราะมีความจำเป็นสำหรับการเจริญของทารกที่ดื่มนม ในน้ำนมตามปกติจะมีธาตุเหล็กอยู่ระดับหนึ่ง ยังไม่มีรายงานว่ามีปัญหาใดเกิดขึ้นในทารกที่ดื่มนมแม่ที่ได้รับยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) แต่อย่ารับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรตด้วยตนเองก่อนปรึกษาแพทย์ เพราะหากแม่หรือทารกมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายมากอยู่แล้วจะทำให้มีการสะสมธาตุเหล็กในร่างกายมากขึ้นจนเกิดอันตรายได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรตในปริมาณมากในระหว่างให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกที่ดื่มนมได้

เด็ก

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในเด็กที่รับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) ตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน อาการข้างเคียงของยาเฟอร์รัสฟูมาเรตที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะมีรายงานเด็กรับประทานเฟอร์รัสฟูมาเรตมากเกินไปโดยอุบัติเหตุ จนทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย เนื่องจากเด็กเข้าใจผิดว่ายาที่มีธาตุเหล็กเป็นลูกอมหรือขนมกินเล่น

ผู้สูงอายุ

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในผู้สูงอายุที่รับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) ตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน บางครั้งผู้สูงอายุอาจต้องการยาที่มีธาตุเหล็กในปริมาณสูงกว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากมีปัญหาในการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่มปริมาณยาเฟอร์รัสฟูมาเรตด้วยตนเอง ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ เช่น

ก. ยาที่เฟอร์รัสฟูมาเรตมีผลรบกวนการดูดซึม ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดลดลง และลดผลการรักษาได้ เช่น

  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น อีนอกซาซิน (enoxacin), ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin), โลมืฟลอกซาซิน (lomefloxacin), ลีโวฟลอกซาซิน (levofloxacin),นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin), โอฟลอกซาซิน (ofloxacin), สปาร์ฟลอกซาซิน (sparfloxacin)
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเททราไซคลีนชนิดรับประทาน
  • เอทิโดรเนต (etidronate)
  • เอนทาคาโพน (entacapone)
  • ลีโวโดพา (levodopa)
  • เมทิลโดพา (methyldopa)
  • ลีโวไทรอกซีน (levothyroxine) หรือ ไทรอกซีน (thyroxine)

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรตก่อนหรือหลังจากการรับประทานยาเหล่านี้ 2 ชั่วโมง

ข. ยาที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ประสิทธิผลของยาเฟอร์รัสฟูมาเรตลดลง

  • ยาลดกรด (antacids)
  • แมกนีเซียมไทรซิลิเคต (magnesium trisilicate)
  • เกลือแคลเซียม (calcium salts)
  • ยาที่มีส่วนประกอบของสังกะสี โดยสังกะสีลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และในขณะเดียวกัน ธาตุเหล็กก็ลดการดูดซึมของสังกะสีเข้าสู่กระแสเลือด

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรตก่อนหรือหลังยาเหล่านี้ 2 ชั่วโมง

ค. ยาที่เมื่อใช้ร่วมกับยาเฟอร์รัสฟูมาเรตอาจทำให้ประสิทธิผลของยาทั้งสองชนิดลดลง

  • กรดแอซีโทไอดรอกซามิก (acetohydroxamic acid)

ง. ยาที่เมื่อใช้ร่วมกับยาเฟอร์รัสฟูมาเรตจะทำให้เกิดอันตรายได้

  • ไดเมอแคพรอล (dimercaprol) เนื่องจากธาตุเหล็กและไดเมอแคพรอลอาจจับกันในร่างกายและทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ติดสุราเรื้อรัง หรือ
  • มีแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร (stomach ulcer) หรือ
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ (intestinal problems) หรือ
  • ได้รับการเลือด (เนื่องจากในเลือดมีเม็ดเลือดแดงที่มีธาตุเหล็กมาก) หรือ
  • ภาวะที่มีเหล็กในร่างกายมากอยู่แล้ว เช่น ฮีโมโครมาโทซีส (hemochromatosis), ฮีโมสิเดอโรซีส (hemosiderosis), ฮีโมกลอบิโนพาทีส์ (hemoglobinopathies) หรือ
  • ภาวะโลหิตจางที่ไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เพราะการได้รับธาตุเหล็กโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดพิษได้ โดยเฉพาะภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก, โรคธาลัสซีเมีย หรือ
  • มีการติดเชื้อในไต หรือ
  • เป็นโรคตับ หรือ
  • เป็นโรคพอร์ฟีเรียคิวทาเนียสทาร์ดา (porphyria cutaneous tarda) เพราะอาจทำให้มีระดับของเหล็กในเลือดสูงจนเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ หรือ
  • เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rheumatoid arthritis) หรือ
  • เป็นโรคหอบหืด (asthma)

การใช้ที่ถูกต้อง

ยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) ใช้ในการรักษาโรคได้หลายสภาวะ แต่ละสภาวะอาจมีวิธีการใช้ยาแตกต่างกัน และยาแต่ละรูปแบบก็มีวิธีการใช้ยาที่แตกต่างกัน ให้ใช้ตามคำแนะนำตามฉลากยา หรือใช้ตามแนวทางทั่วไป ดังนี้

ก. ชนิดยาเม็ดธรรมดา
  • ยาเฟอร์รัสฟูมาเรตดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีที่สุดตอนท้องว่าง ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง ให้รับประทานยาพร้อมกับน้ำหรือน้ำผลไม้ สำหรับผู้ใหญ่ดื่มน้ำ 1 แก้วเต็ม หรือ 240 ซีซี สำหรับเด็กดื่มน้ำครึ่งแก้วหรือ 120 ซีซี แต่หากรับประทานตอนท้องว่างแล้วมีอาการปวดมวนท้อง อาจรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
  • ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ถ้าต้องรับประทานยาวันละมากกว่าหนึ่งครั้ง ให้เว้นระยะห่างของช่วงการรับประทานยาแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกัน เว้นแต่แพทย์จะสั่งเป็นอย่างอื่น

ข. ชนิดยาน้ำ เช่น ยาชนิดหยดแบบยาแขวนตะกอน (drop suspension)

  • ยาเฟอร์รัสฟูมาเรตดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีที่สุดตอนท้องว่าง ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ถ้าต้องรับประทานยาวันละมากกว่าหนึ่งครั้ง ให้เว้นระยะห่างของช่วงการรับประทานยาแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกัน เว้นแต่แพทย์จะสั่งเป็นอย่างอื่น

  • ยาเฟอร์รัสฟูมาเรตในรูปแบบยาน้ำอาจทำให้มีสีติดฟันได้ เพื่อป้องกัน, ลด หรือเอาสีนี้ออกควรปฏิบัติดังนี้
  • หากแพทย์สั่งให้รับประทานยาเป็นหยดและให้ยาด้วยหลอดหยด ให้หยดยาบนลิ้น และดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ตาม
  • หากไม่มีหลอดหยด หรือแพทย์สั่งให้รับประทานยาเป็นช้อน ให้ผสมยาที่จะรับประทานแต่ละครั้งในน้ำ, น้ำผลไม้, หรือน้ำมะเขือเทศ และใช้หลอดดูดยาที่ผสมแล้วเพื่อให้ยาสัมผัสกับฟัน
  • สีของเหล็กที่ติดบนฟันสามารถเอาออกได้โดยการแปรงฟันด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) หรือสารเพอร์ออกไซด์ (peroxide) ที่ใช้เป็นยา เช่น 3% ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide)

ขนาดยา

ขนาดยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกรหรือตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก ยานี้ทำให้เด็กได้รับยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุบ่อย เด็กรับประทานยาในขนาดของผู้ใหญ่เพียง 3 – 4 เม็ด ก็ทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงได้
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • อย่าเก็บยาน้ำไว้ในช่องแช่แข็ง
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

  • อย่ารับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) หากท่านกำลังได้รับการฉีดธาตุเหล็กอยู่ เพราะทำให้เกิดพิษจนเป็นอันตรายได้
  • อย่ารับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรตในปริมาณมาก หรือรับประทานติดต่อกันนานเกินกว่า 6 เดือนโดยไม่ได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ ในกรณีที่แพทย์สั่งให้รับประทานยานี้ในปริมาณสูงหรือต้องรับยาเป็นเวลานาน แพทย์อาจนัดให้ท่านไปตรวจร่างกายเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าใช้ยาได้ผลและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา
  • บุคคลแต่ละคนมีความต้องการธาตุเหล็กไม่เท่ากัน ผู้ป่วยบางโรคอาจเป็นพิษจากธาตุเหล็กได้ หากได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป
  • ธาตุเหล็กที่ไม่ถูกดูดซึมจะทำให้อุจจาระเป็นสีดำคล้ายเลือด ซึ่งอาจบดบังอาการของโรคที่รุนแรง ทำให้ตรวจพบโรคช้าเกินไปได้
  • หากท่านรับประทานยาเฟอร์รัสฟูมาเรตชนิดเม็ดเคลือบ และอุจจาระยังเป็นสีปกติ ไม่ได้มีสีคล้ำขึ้นหรือเป็นสีดำ ให้ตรวจสอบกับแพทย์ เพราะยาเม็ดอาจไม่แตกตัวในทางเดินอาหาร และไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ท่านได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ
  • หากมีผู้ใดได้รับยาเฟอร์รัสฟูมาเรตเกินขนาด ให้รีบให้อาเจียน และนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน และนำภาชนะบรรจุยาและยาที่เหลือติดตัวไปด้วย อาการพิษจากยาเฟอร์รัสฟูมาเรตอาจไม่ปรากฎให้เห็นจนกว่าจะผ่านไป 1 ชั่วโมงหรือมากกว่า อย่ารอจนผู้ป่วยเกิดอาการจึงจะพาไปโรงพยาบาล เพราะอาจสายเกินไปแล้วก็ได้

**อาการของการได้รับธาตุเหล็กเกินขนาดแบ่งได้เป็นสองระยะดังนี้ **

อาการเริ่มแรกที่บ่งบอกว่าได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป

  • ท้องร่วง (อาจมีเลือดปน), มีไข้, เนื่องจากยาทำให้เกิดการระคายเคืองและกัดผนังทางเดินอาหาร จนทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจอาเจียนเป็นเลือด ปวดท้อง ท้องร่วง อาจถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระมีสีดำ

อาการในระยะหลังจากการได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป

  • ริมฝีปาก, เล็บ และฝ่ามือเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน
  • ง่วงซึม
  • ชัก
  • ผิวหนังซีดและชื้นเหนียว
  • หายใจเร็วและหายใจได้สั้น ๆ
  • เหนื่อยและอ่อนเพลียมากผิดปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วแต่เต้นอ่อนลง
  • โคม่าและช็อก

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่างที่ไม่ต้องการ ถึงแม้ว่าอาการข้างเคียงต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากเกิดอาการข้างเคียงขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม ยานี้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงมากขึ้น ในกรณีที่ใช้ยามากเรับประทานไป นานเรับประทานไป หรือ ใช้ในผู้ที่เป็นโรคไต

ก. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการข้างเคียงต่อไปนี้
พบบ่อย

  • ปวดท้องหรือปวดกระเพาะ โดยอาจปวดเกร็งอย่างหรือเจ็บท้องอย่างต่อเนื่อง

ท้องผูกรุนแรงหรือต่อเนื่อง
พบน้อย
  • ปวดบริเวณหน้าอกหรือลำคอ โดยเฉพาะเวลากลืน
  • อุจจาระมีเลือดสีแดงปนออกมา

พบน้อย

  • ปัสสาวะมีสีคล้ำขึ้น
  • แสบร้อนกลางอก
  • ฟันติดสีของเหล็ก

ข. อาการข้างเคียงอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • อุจจารมักเป็นสีเขียวคล้ำหรือสีดำ ซึ่งเกิดจากเหล็กที่ไม่ถูกดูดซึมซึ่งไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องตกใจ แต่หากอุจจาระมีสีดำร่วมกับมีอุจจาระเหนียวและมีอาการข้างเคียงอื่นร่วมด้วย เช่น มีแถบสีแดงในอุจจาระ, ปวดเกร็ง หรือปวดแปลบในท้อง ให้ไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • ท้องผูก ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ
  • ท้องร่วง
  • ขาเป็นตะคริว
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Ferric ammonium citrate, Ferrous sulfate, Iron hydroxide polymaltose complex Or Ferric hydroxide polymaltose complex

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Ferra, tab (เฟอรา, ยาเม็ด), Ferrous fumarate tablets B.P. 1973 (ยาเม็ด เฟอร์รัส ฟูมาเรต บี.พี. 1973), Fermate tablets (ยาเม็ดเฟอร์เมท), Fermiron, tab ((เฟิร์มไอรอน, ยาเม็ด), I - ron, tab (ไอ-รอน, เม็ด), Femarate, tab (ฟีมาเรท, เม็ด), Fermasian s/c tablets, sugar coat (เฟอร์มาเซี่ยน เอส/ซี, เม็ด), Ferdek drops, suspension (เฟอร์เดค,ชนิดหยดแบบยาแขวนตะกอน), Ferrosol drops, suspension (เฟอโรโซล ชนิดหยดแบบยาแขวนตะกอน)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary. 50th ed. (September, 2005) BMJ Publishing Group Ltd., London, 460-465, 484-489, 489-494.
  2. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 29 April, 2010.
  3. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Iron supplements (systemic). Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  4. Anderson PO, Knoben JE, Troutman EG. Handbook of Clinical Drug Data. 10th ed. McGraw-Hill, Medical Publishing Division, New York. 2002: 619-621.
  5. Sweetman SC, Martindale The complete drug reference 34th ed,, 2005, Pharmaceutical press, p.1436
  6. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ประเภททะเบียน ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ ... Available at: www2.fda.moph.go.th/.../dgexp111.asp?... Access date: April 29, 2010.

วิบุล วงศ์ภูวรักษ์ , โพยม วงศ์ภูวรักษ์
26 มิถุนายน 2553 22 สิงหาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย