อ่าน: 1035
Small_font Large_font

Ferric ammonium citrate (เฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต)

คำอธิบายพอสังเขป

เฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) เป็นเกลือของธาตุเหล็ก ซึ่งอยู่ในรูปแบบรับประทาน ใช้สำหรับเสริมธาตุเหล็กสำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากธาตุเหล็ก หรือมีความเสี่ยงจากการขาดธาตุเหล็ก

แพทย์อาจสั่งใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกร
ธาตุเหล็กเป็นเกลือแร่ที่มีความจำเป็นในการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบในเม็ดเลือดแดง หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง

ธาตุเหล็กมีอยู่มากในอาหารหลายชนิด หากรับประทานอาหารได้ตามปกติและรับประทานอาหารครบถ้วน ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เช่น ผู้สูญเสียเลือด, ผู้ป่วยโรคไตที่ทำฮีโมไดแอลิสิส (haemodialysis), ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้, ผู้รับประทานอาหารได้น้อยหรือรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ, ทารกที่ได้รับนมแม่หรือนมผสมที่มีธาตุเหล็กต่ำ และหากได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการของการขาดธาตุเหล็กได้ ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจได้สั้น ๆ เคลื่อนไหวเชื่องช้าลง และมีปัญหาในการเรียนรู้ และทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

แหล่งของอาหารที่มีธาตุเหล็กมากคือ เนื้อสัตว์, ปลา, สัตว์ปีก, ถั่ว ผลไม้แห้งและเมล็ดธัญญพืช ธาตุเหล็กในอาหารมีสองรูปแบบคือ เหล็กในรูปแบบฮีม (heam iron) ซึ่งดูดซึมในทางเดินอาหารได้ดี และเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (nonheam iron) ซึ่งดูดซึมได้น้อยกว่ารูปแบบฮีม แหล่งของอาหารที่ธาตุเหล็กแบบฮีม คือ เนื้อแดงไม่ติดมัน (เนื้อสัตว์สี่เท้า) สำหรับเนื้อสัตว์ปีกและปลามีธาตุเหล็กเช่นกันแต่มีน้อยกว่าเนื้อแดง ส่วนเมล็ดธัญญพืช ถั่ว และผักบางชนิดมีธาตุเหล็กในรูปแบบที่ไม่ใช่ฮีม

ไม่ควรเริ่มต้นรับประทานเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตเสริมเองโดยไม่ได้รับการตรวจจากแพทย์ เนื่องจากภาวะโลหิตจางไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว แต่เกิดได้ทั้งจากการขาดสารอาหารอื่นด้วย เช่น วิตามินบี 12, กรดโฟลิก นอกจากนี้อาจเกิดจากการสูญเสียเลือด หรือ เม็ดแดงถูกทำลายด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ยา, โรคธาลัสซีเมีย (thalassaemia) โดยเฉพาะผู้ที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจะมีเหล็กออกมาจากเม็ดเลือดที่ถูกทำลายและสะสมอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว เมื่อได้รับธาตุเหล็กจากยาที่รับประทานเข้าไปอีกจะยิ่งเสริมทำให้เกิดพิษจากธาตุเหล็กได้

ขนาดยาของเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต สำหรับรับประทานต้องคำนวณในรูปของธาตุเหล็ก (elemental iron) เช่น โดยเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเตรท 100 มิลลิกรัมมีธาตุเหล็กประมาณ 17 มิลลิกรัม (16.5% ถึง 18.5%)

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาที่มีเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) หรือธาตุเหล็กรูปแบบอื่น หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยาเหล่านี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

เมื่อรับประทานเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ร่วมกับอาหารบางชนิดจะทำให้ลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ลดประสิทธิผลของเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก ๆ ร่วมกับเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต หากท่านจะรับประทานอาหารเหล่านี้ ควรรับประทานอาหารเหล่านี้ให้ห่างจากการรับประทานเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง

  • นม
  • ไข่
  • ชีส และโยเกิรต์
  • ผักโขม (spinach)
  • ชา หรือกาแฟ
  • ข้าวกล้อง, เมล็ดธัญญพืช และขนมปังธัญญพืช

ตั้งครรภ์

ไม่มีข้อมูลการจัดยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ว่าอยู่ในประเภทใดของการจัดกลุ่มยาที่มีผลต่อสตรีมีครรภ์ (pregnancy category) สตรีมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม

อย่างไรก็ตามในช่วง 6 เดือนหลังของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กในการพัฒนาการเพิ่มขึ้น สตรีมีครรภ์จึงต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ปริมาณมากในระหว่างมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

สตรีกำลังให้นมบุตรต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ เพราะมีความจำเป็นสำหรับการเจริญของทารกที่ดื่มนม ในน้ำนมตามปกติจะมีธาตุเหล็กอยู่ระดับหนึ่ง ยังไม่มีรายงานว่ามีปัญหาใดเกิดขึ้นในทารกที่ดื่มนมแม่ที่ได้รับยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) แต่อย่ารับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ด้วยตนเองก่อนปรึกษาแพทย์ เพราะหากแม่หรือทารกมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายมากอยู่แล้วจะทำให้มีการสะสมธาตุเหล็กในร่างกายมากขึ้นจนเกิดอันตรายได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ในปริมาณมากในระหว่างให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกที่ดื่มนมได้

เด็ก

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในเด็กที่รับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน อาการข้างเคียงของยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต ที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะมีรายงานเด็กรับประทานเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตมากเกินไปโดยอุบัติเหตุ จนทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย เนื่องจากเด็กเข้าใจผิดว่ายาที่มีธาตุเหล็กเป็นลูกอมหรือขนมกินเล่น

ผู้สูงอายุ

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในผู้สูงอายุที่รับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน บางครั้งผู้สูงอายุอาจต้องการยาที่มีธาตุเหล็กในปริมาณสูงกว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากมีปัญหาในการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่มปริมาณยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตด้วยตนเอง ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ เช้น

ก. ยาที่เฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตมีผลรบกวนการดูดซึม ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดลดลง และลดผลการรักษาได้ เช่น

  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น อีนอกซาซิน (enoxacin), ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin), โลมืฟลอกซาซิน (lomefloxacin), ลีโวฟลอกซาซิน (levofloxacin),นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin), โอฟลอกซาซิน (ofloxacin), สปาร์ฟลอกซาซิน (sparfloxacin)
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเททราไซคลีนชนิดรับประทาน
  • เอทิโดรเนต (etidronate)
  • เอนทาคาโพน (entacapone)
  • ลีโวโดพา (levodopa)
  • เมทิลโดพา (methyldopa)
  • ลีโวไทรอกซีน (levothyroxine) หรือ ไทรอกซีน (thyroxine)

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตก่อนหรือหลังจากการรับประทานยาเหล่านี้ 2 ชั่วโมง

ข. ยาที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ประสิทธิผลของยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตลดลง

  • ยาลดกรด (antacids)
  • แมกนีเซียมไทรซิลิเคต (magnesium trisilicate)
  • เกลือแคลเซียม (calcium salts)
  • ยาที่มีส่วนประกอบของสังกะสี โดยสังกะสีลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และในขณะเดียวกัน ธาตุเหล็กก็ลดการดูดซึมของสังกะสีเข้าสู่กระแสเลือด

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตก่อนหรือหลังยาเหล่านี้ 2 ชั่วโมง

ค. ยาที่เมื่อใช้ร่วมกับยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตอาจทำให้ประสิทธิผลของยาทั้งสองชนิดลดลง

  • กรดแอซีโทไอดรอกซามิก (acetohydroxamic acid)

ง. ยาที่เมื่อใช้ร่วมกับยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตจะทำให้เกิดอันตรายได้

  • ไดเมอแคพรอล (dimercaprol) เนื่องจากธาตุเหล็กและไดเมอแคพรอลอาจจับกันในร่างกายและทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ติดสุราเรื้อรัง หรือ
  • มีแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร (stomach ulcer) หรือ
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ (intestinal problems) หรือ
  • ได้รับการเลือด (เนื่องจากในเลือดมีเม็ดเลือดแดงที่มีธาตุเหล็กมาก) หรือ
  • ภาวะที่มีเหล็กในร่างกายมากอยู่แล้ว เช่น ฮีโมโครมาโทซีส (hemochromatosis), ฮีโมสิเดอโรซีส (hemosiderosis), ฮีโมกลอบิโนพาทีส์ (hemoglobinopathies) หรือ
  • ภาวะโลหิตจางที่ไม่ได้เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เพราะการได้รับธาตุเหล็กโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดพิษได้ โดยเฉพาะภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก, โรคธาลัสซีเมีย หรือ
  • มีการติดเชื้อในไต หรือ
  • เป็นโรคตับ หรือ
  • เป็นโรคพอร์ฟีเรียคิวทาเนียสทาร์ดา (porphyria cutaneous tarda) เพราะอาจทำให้มีระดับของเหล็กในเลือดสูงจนเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ หรือ
  • เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rheumatoid arthritis) หรือ
  • เป็นโรคหอบหืด (asthma)

การใช้ที่ถูกต้อง

ยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ใช้ในการรักษาโรคได้หลายสภาวะ แต่ละสภาวะอาจมีวิธีการใช้ยาแตกต่างกัน ยานี้มีจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำเชื่อม (syrup) และยาน้ำสารละลายแบบหยด (drop solution) ให้ใช้ตามคำแนะนำตามฉลากยา หรือใช้ตามแนวทางทั่วไป ดังนี้

ชนิดยาเชื่อม หรือยาน้ำสารละลายแบบหยด

  • ยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีที่สุดตอนท้องว่าง ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ถ้าต้องรับประทานยาวันละมากกว่าหนึ่งครั้ง ให้เว้นระยะห่างของช่วงการรับประทานยาแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกัน เว้นแต่แพทย์จะสั่งเป็นอย่างอื่น
  • ยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) ในรูปแบบยาน้ำอาจทำให้มีสีติดฟันได้ เพื่อป้องกัน, ลด หรือเอาสีนี้ออกควรปฏิบัติดังนี้
  • หากแพทย์สั่งให้รับประทานยาเป็นหยดและให้ยาด้วยหลอดหยด ให้หยดยาบนลิ้น และดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ตาม
  • หากไม่มีหลอดหยด หรือแพทย์สั่งให้รับประทานยาเป็นช้อน ให้ผสมยาที่จะรับประทานแต่ละครั้งในน้ำ, น้ำผลไม้, หรือน้ำมะเขือเทศ และใช้หลอดดูดยาที่ผสมแล้วเพื่อให้ยาสัมผัสกับฟัน
  • สีของเหล็กที่ติดบนฟันสามารถเอาออกได้โดยการแปรงฟันด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) หรือสารเพอร์ออกไซด์ (peroxide) ที่ใช้เป็นยา เช่น 3% ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide)

ขนาดยา

ขนาดยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร หรือ ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก ยานี้ทำให้เด็กได้รับยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุบ่อย เด็กรับประทานยาในขนาดของผู้ใหญ่เพียง 3 – 4 ช้อนชา ก็ทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงได้
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • อย่าเก็บยาน้ำไว้ในช่องแช่แข็ง
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

  • อย่ารับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรต (ferric ammonium citrate) หากท่านกำลังได้รับการฉีดธาตุเหล็กอยู่ เพราะทำให้เกิดพิษจนเป็นอันตรายได้
  • อย่ารับประทานยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตในปริมาณมาก หรือรับประทานติดต่อกันนานเกินกว่า 6 เดือนโดยไม่ได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ ในกรณีที่แพทย์สั่งให้รับประทานยานี้ในปริมาณสูงหรือต้องรับยาเป็นเวลานาน แพทย์อาจนัดให้ท่านไปตรวจร่างกายเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าใช้ยาได้ผลและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา
  • บุคคลแต่ละคนมีความต้องการธาตุเหล็กไม่เท่ากัน ผู้ป่วยบางโรคอาจเป็นพิษจากธาตุเหล็กได้ หากได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป
  • ธาตุเหล็กที่ไม่ถูกดูดซึมจะทำให้อุจจาระเป็นสีดำคล้ายเลือด ซึ่งอาจบดบังอาการของโรคที่รุนแรง ทำให้ตรวจพบโรคช้าเกินไปได้
  • หากมีผู้ใดได้รับยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตเกินขนาด ให้รีบให้อาเจียน และนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน และนำภาชนะบรรจุยาและยาที่เหลือติดตัวไปด้วย อาการพิษจากยาเฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเทรตอาจไม่ปรากฎให้เห็นจนกว่าจะผ่านไป 1 ชั่วโมงหรือมากกว่า อย่ารอจนผู้ป่วยเกิดอาการจึงจะพาไปโรงพยาบาล เพราะอาจสายเกินไปแล้วก็ได้

**อาการของการได้รับธาตุเหล็กเกินขนาดแบ่งได้เป็นสองระยะดังนี้ **

อาการเริ่มแรกที่บ่งบอกว่าได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป

  • ท้องร่วง (อาจมีเลือดปน), มีไข้, เนื่องจากยาทำให้เกิดการระคายเคืองและกัดผนังทางเดินอาหาร จนทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจอาเจียนเป็นเลือด ปวดท้อง ท้องร่วง อาจถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระมีสีดำ

อาการในระยะหลังจากการได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป

  • ริมฝีปาก, เล็บ และฝ่ามือเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน
  • ง่วงซึม
  • ชัก
  • ผิวหนังซีดและชื้นเหนียว
  • หายใจเร็วและหายใจได้สั้น ๆ
  • เหนื่อยและอ่อนเพลียมากผิดปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วแต่เต้นอ่อนลง
  • โคม่าและช็อก

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่างที่ไม่ต้องการ ถึงแม้ว่าอาการข้างเคียงต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากเกิดอาการข้างเคียงขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม ยานี้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงมากขึ้น ในกรณีที่ใช้ยารับประทานมากหรือนานเกินไป หรือ ใช้ในผู้ที่เป็นโรคไต

ก. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการข้างเคียงต่อไปนี้
พบบ่อย

  • ปวดท้องหรือปวดกระเพาะ โดยอาจปวดเกร็งอย่างหรือเจ็บท้องอย่างต่อเนื่อง

ท้องผูกรุนแรงหรือต่อเนื่อง

พบน้อย

  • ปวดบริเวณหน้าอกหรือลำคอ โดยเฉพาะเวลากลืน
  • อุจจาระมีเลือดสีแดงปนออกมา

พบน้อย¬

  • ปัสสาวะมีสีคล้ำขึ้น
  • แสบร้อนกลางอก
  • ฟันติดสีของเหล็ก

ข. อาการข้างเคียงอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • อุจจาระมักเป็นสีเขียวคล้ำหรือสีดำ ซึ่งเกิดจากเหล็กที่ไม่ถูกดูดซึมซึ่งไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องตกใจ แต่หากอุจจาระมีสีดำร่วมกับมีอุจจาระเหนียวและมีอาการข้างเคียงอื่นร่วมด้วย เช่น มีแถบสีแดงในอุจจาระ, ปวดเกร็ง หรือปวดแปลบในท้อง ให้ไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • ท้องผูก ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ
  • ท้องร่วง
  • ขาเป็นตะคริว
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Ferrous fumarate, Ferrous sulfate, Iron hydroxide polymaltose complex Or Ferric hydroxide polymaltose complex

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Ferritone, syrup (เฟอริโทน, ยาน้ำเชื่อม)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary. 50th ed. (September, 2005) BMJ Publishing Group Ltd., London, 460-465, 484-489, 489-494.
  2. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 29 April, 2010.
  3. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Iron supplements (systemic). Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  4. Anderson PO, Knoben JE, Troutman EG. Handbook of Clinical Drug Data. 10th ed. McGraw-Hill, Medical Publishing Division, New York. 2002: 619-621.
  5. Sweetman SC, Martindale The complete drug reference 34th ed,, 2005, Pharmaceutical press, p.1436
  6. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ประเภททะเบียน ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ ... Available at: www2.fda.moph.go.th/.../dgexp111.asp?... Access date: April 29, 2010.

วิบุล วงศ์ภูวรักษ์ , โพยม วงศ์ภูวรักษ์
26 มิถุนายน 2553 22 สิงหาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย