อ่าน: 1736
Small_font Large_font

Nifedipine (Retard, Sustained release) (ไนเฟดิพีน รูปแบบออกฤทธิ์นาน)

คำอธิบายพอสังเขป

ไนเฟดิพีนรูปแบบปลดปล่อยแบบช้า ๆ (nifedipine retard, nifedipine sustained release) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เนิ่นหรือออกฤทธิ์ได้นาน

ไนเฟดิพีน (nifedipine) จัดเป็นยาในกลุ่มตัวต้านแคลเซียม (calcium antagonists) และปิดกั้นช่องแคลเซียม (calcium channel blocker) ชนิดไดไฮโดรไพริดีน (dihydropyridine) ออกฤทธิ์ลดปริมาณแคลเซียมในหัวใจและเซลล์กล้ามเนื้อ โดยลดการไหลเข้าสู่เซลล์ ส่งผลให้มีการผ่อนคลายและขยายหลอดเลือดทั้งในหลอดเลือดหัวใจและรอบนอก ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดการทำงานของหัวใจ

ยานี้ใช้ในการรักษาความดันเลือดสูง (hypertension), ป้องกันและลดอัตราการเกิดอาการปวดเค้นหัวใจ (angina pactoris), ป้องกันความดันสูงในปอด (pulmonary hypertension), ป้องกันโรคปวดหัวข้างเดียว (migraine), ใช้หยุดการคลอดก่อนกำหนด (preterm labor), ใช้ในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจ

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ไนเฟดิพีน (nifedipine) หริอ ยาอื่นในกลุ่มนี้ หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาการแพ้ยา เช่น ผื่น, คัน, ตุ่มพอง, ผิวหนังอักเสบหลุดลอกเป็นแผ่น (exfoliative dermatitis), ลมพิษ, ผิวแดง, ผิวลอก, หน้าบวม, มือบวม, ลิ้นบวม, รู้สึกบวมและซ่าที่คอและปาก, แน่นหน้าอก, หายใจลำบาก, หายใจมีเสียงหวีด, ผิวหนังอักเสบ, ตับอักเสบจากการแพ้, บวมน้ำกดไม่บุ๋ม (angioedema), ผิวหนังแดงแบบหลายรูป (erythema multiforme), กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome), แอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis), ปฏิกิริยาคล้ายแอนาฟิแล็กซิส (anaphyloctoid)

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • น้ำเกรฟฟรุต (grapefruit) อาจทำให้ระดับยานี้ในเลือดสูงขึ้น และส่งผลให้เพิ่มผลของการลดความดันจนอาจทำให้ความดันเลือดต่ำได้ จึงไม่ควรดื่มน้ำเกรฟฟรุตระหว่างใช้ยานี้ รวมทั้งไม่ควรใช้ยานี้ภายในช่วง 3 วันหลังการหยุดการดื่มน้ำเกรฟฟรุตแล้ว (หมายเหตุ: น้ำเกรพฟรุตได้จากผลไม้ตระกูลส้ม ไม่ใช่น้ำองุ่น)
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น แปะก๊วย, โสม, ฮอว์ทอร์น, มาฮวง (ma huang หรือ ephedra), เมลาโทนิน (melatonin), โยฮิมบีน (yohimbine), เซนต์จอห์นเวิร์ท (St John’s wort), กระเทียม, เรดยีสต์ไรซ์ (red yeast rice), ตังกุย (dong quai)

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

สตรีมีครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยานี้ อาจพิจารณาให้ได้เมื่อได้รับการฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ แต่การศึกษาในสัตว์พบว่าการใช้ยาในกลุ่มนี้ในขนาดสูง ทำให้กำเนิดทารกวิรูป ระยะตั้งครรภ์นานเกินกำหนด พัฒนาการของกระดูกต่ำ และภาวะตายคลอด ความดันต่ำ ดังนั้นควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

สตรีให้นมบุตร ไม่ควรใช้ยานี้ แม้ว่ายาหลายชนิดในยากลุ่มนี้สามารถผ่านออกทางน้ำนมได้ และไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดปัญหาในทารกที่ได้รับนมแม่

เด็ก

ไม่แนะนำให้ใช้นี้ในเด็ก หากมีการใช้ยานี้ในเด็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด

ผู้สูงอายุ

ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความไวต่อยานี้ดังนั้นอาจมีอุบัติการของอาการไม่พึงประสงค์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นควรเริ่มใช้ยาในขนาดต่ำ นอกจากนี้ควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันอาการวิงเวียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ก.ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน เช่น

  • ยารักษาอาการของหัวใจ เช่น ดิจอกซิน (digoxin), อะมิโอดาโรน (amiodarone), ควินิดีน (quinidine), ฟลีเคไนด์ (flecainide), โพรเคนาไมด์ (procainamide)
  • ยาลดความดันเลือดในกลุ่มยับยั้งเบต้า เช่น อะทีโนลอล (atenolol), เมโทโพรลอล (metoprolol), โพรแพโนนอล (propanolol)
  • ยาลดความดันเลือดในกลุ่มเดียวกัน เช่น ดิลไทอาเซม (diltiazem), วีราพามิล (verpamil)
  • ไซเมทิดีน (cimetidine), ซิสแซไพรด์ (cisapride)
  • ยาต้านจุลชีพ ริแฟมพิซิน (ripampicin)
  • กลุ่มยากันชัก เฟนิทอยน์ (phenytoin), คาร์บามาซีพีน (carbamazepine), กรดวาลโพรอิก (valproic acid)
  • ยารักษาหอบหืด เช่น ทีออฟิลลีน (theophylline), แอมิโนฟิลลิน (aminophyline)

ข.ยาที่ควรระมัดระวังเมื่อใช้ร่วมกัน เช่น

  • ยารักษาความดันเลือดตัวอื่น
  • ยาต้านจุลชีพ เช่น อีริโทรไมซิน (erythromycin), คลาริโทรไมซิน (clarithromycin), ดอกซีไซคลีน (doxycycline)
  • ยาฆ่าเชื้อรา เช่น คีโทโคนาโซล (ketoconazole), อิทราโคนาโซล (itraconazole), ฟลูโคนาโซล (fluconazole), แอมโฟเทอริซินบี (amphotericin B)
  • ยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) เช่น อินดินาเวียร์ (indinavir), เนลฟินาเวียร์ (nelfinavir), ริโทนาเวียร์ (ritonavir), ซาควินาเวียร์ (saquinavir), นีไวราพีน (nevirapine)
  • ยาต้านซึมเศร้า เช่น ฟลูออกซีทีน (fluoxitine)
  • ยากดภูมิ เช่น แทโครลิมัส (tracolimus), ไซโคลสพอริน (cyclosporin)
  • ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มต้านโมโนแอมินแอนตีออกซิเดส (MAOIs)
  • กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen), นาพรอกเซน (naproxen), ไดโคลฟีแนก (diclofenac)
  • ยาอื่น ๆ เช่น บาร์บิทูเรต (barbiturat), ฟีโนบาร์บิทอล (phenobarbital), เกลือแคลเซียม , ฮอร์โมนเพศหญิง, ยาชาเฉพาะที่, เกลือแมกนีเซียม, ยารักษาต่อมลูกหมากโต, เมตฟอร์มิน (metformin), วอร์ฟาริน (warfarin), กลุ่มยาขับปัสสาวะ, เฟนทานิล (fentanyl), แอเซตาโซลาไมด์ (acetazolamide), ไอโซไนอาซิด (isoniazid), โพรโพฟอล (propofol), สารยับยั้งประสาทร่วมกล้ามเนื้อ

ระมัดระวังยาที่มีผลเพิ่มระดับความดันเลือด เช่น ยาลดน้ำหนัก ยาสูตรผสมแก้หวัดคัดจมูก ภูมิแพ้ และยาแก้หอบหืด

ค.ยังมียาหลายชนิดที่ไม่ควรใช้ร่วมกับไนเฟดิพีน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยานี้ ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย
ก.ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่มีลิ้นเอออร์ติกตีบ (aortic stenosis), ช็อกเหตุหัวใจ (cardiogenic shock), มีความถี่และความรุนแรงของโรคปวดเค้นหัวใจ(angina pectoris) มากขึ้น, ผู้ที่มีเพิ่งมีอาการหัวใจล้ม (heart attack) ใน 1 เดือนที่ผ่านมา
  • ไม่ใช้หยุดการกำเริบของโรคปวดเค้นหัวใจ, ความดันเลือดสูงรุนแรง, โรคปวดเค้นหัวใจแบบไม่เสถียร (unstable angina pectoris), กล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (myocardial infarction) ใน 1 เดือนที่ผ่านมา
  • ไม่ใช้ป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด

ข.ระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยดังต่อไปนี้
ผู้ที่มีความดันเลือดต่ำ, ผู้ป่วยที่มีกำลังหัวใจสำรองต่ำ, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่ทำการล้างไต, ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคตับ, เด็ก, ผู้ป่วยที่กลืนลำบาก, หัวใจเต้นช้าหรือไม่เป็นจังหวะ, มีประวัติหัวใจล้ม (heart attack), ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ, กระเพาะอาหารมีปัญหา, ภาวะหัวใจวายเหตุเลือดคั่ง (congestive heart failure)

แพทย์อาจพิจารณาสั่งใช้ยานี้ถึงแม้เป็นข้อห้าม หากมีเหตุผลทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้

การใช้ที่ถูกต้อง

  • รับประทานยาโดยกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำ ไม่ควรแบ่ง บด หรือเคี้ยวยา
  • ไม่รับประทานยาร่วมกับน้ำเกรพฟรุต (grapefruit) (หมายเหตุ: น้ำเกรพฟรุตได้จากผลไม้ตระกูลส้ม ไม่ใช่น้ำองุ่น)
  • รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ขณะท้องว่างเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการรับประทาน ทั้งนี้สามารถรับประทานยาได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร รับประทานพร้อมอาหารหากรู้สึกไม่สบายท้อง การรับประทานยาหลังอาหารที่มีไขมันต่ำจะช่วยลดอาการหน้าแดง
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดรับประทานยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์

ขนาดยา

ขนาดยาของยาไนเฟดิพีนรูปแบบปลดปล่อยแบบช้า ๆ (nifedipine retard, nifedipine sustained release) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรงของโรคที่ท่านเป็น ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

เมื่อลืมใช้ยา

ให้รับประทานทันทีทีนึกได้ ถ้าใกล้เวลาของมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปโดยใช้ตามขนาดและวิธีใช้ตามแพทย์สั่ง ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า ไม่ควรเปลี่ยนขนาดยาหรือหยุดยาเอง

การเก็บรักษา

  • เก็บยาในภาชนะเดิม หรือภาชนะปิดสนิท อย่าให้โดนแสงโดยตรง และความร้อน
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียส
  • เก็บยาในที่แห้ง อย่าเก็บในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาทุกชนิดให้พ้นสายตาและ มือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ใช้ยานี้หลังจากวันหมดอายุ
  • ไม่ควรทิ้งยานี้ผ่านท่อน้ำทิ้งหรือร่วมกับขยะจากครัวเรือน ควรปรึกษาเภสัชกรสำหรับการกำจัดยา

ข้อควรระวัง

  • หากแพ้ยา หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
  • หากมีอาการแย่ลง หรือไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์
  • หากได้รับยานี้ในครั้งแรกและมีอาการปวดหน้าอกภายใน 1 ถึง 4 ชั่วโมงหลังได้รับยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาครั้งต่อไป
  • ไม่หยุดยาเองโดยทันที ก่อนปรึกษาแพทย์ อาจจำเป็นต้องค่อยๆลดขนาดยาลงเนื่องจากอาจทำให้เกิดการกำเริบของโรคที่รุนแรงขึ้นได้
  • ลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันอาการวิงเวียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยาน และการทำงานกับเครื่องจักรที่อันตราย เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ง่วงซึม นอกจากรับรู้ว่ายานี้ไม่มีผลทำให้เกิดอาการดังกล่าวกับตนเอง
  • ถ้าท่านต้องผ่าตัด แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ให้ทราบว่าท่านกำลังใช้ยานี้อยู่
  • ในช่วงการรับประทานยานี้อาจพบเปลือกของเม็ดยาในอุจจาระได้
  • หากมีอาการท้องผูกควรรับประทานน้ำเพิ่มขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือรับประทานอาหารที่มีเส้นใย อาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับยาที่ทำให้อุจจาระนุ่ม
  • ยานี้ไม่ได้ใช้สำหรับการรักษาเพียงแค่ช่วยควบคุมระดับความดันเลือดให้อยู่ในช่วงปกติ จึงควรรับประทานยาเป็นประจำเพื่อช่วยในการควบคุม

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก.อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • อาการบวมที่เท้าหรือข้อเท้า, บวมทั่วตัว
  • เจ็บอก, ความดันเลือดต่ำ, อัตราหัวใจเต้นเร็ว, ใจสั่น, หายใจลำบาก, ปวดเค้นหัวใจ, หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ, หัวใจเต้นตุบ ๆ (heart pounding), ผิวออกสีน้ำเงิน, หัวใจเต้นช้า, ภาวะหัวใจวาย
  • ประสาทอ่อน (nervousness), หย่อนสมรรถภาพทางเพศ, รู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia), อารมณ์เปลี่ยน, ซึมเศร้า, ความจำผิดปกติ, หวาดระวัง (paranoid), วิตกกังวล
  • หมดสติ, เวียนศีรษะรุนแรง, รู้สึกวิงเวียนคล้ายจะหมดสติ, ทรงตัวลำบาก
  • การทดสอบการทำหน้าที่ของตับผิดปรกติ, ดีซ่าน, ปวดท้องรุนแรง, คลื่นไส้หรืออาเจียนไม่ยอมหยุด, อุจจาระมีสีคล้ำหรือมีเลือด,อาเจียนเป็นเลือด, น้ำดีคั่ง
  • เลือดออกในปัสสาวะ ปัสสาวะลดลง, ปัสสาวะมาก, ปัสสาวะสีคล้ำ, ปัสสาวะลำบากหรือปวด
  • มีปัญหาในการมอง, ปวดตา, ตาบอด, มองเห็นไม่ชัด

ข.อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, เวียนศีรษะ, ปวดท้อง, อ่อนแรง, รู้สึกไม่สบาย, ท้องผูก, ท้องร่วง, ปากแห้ง, การย่อยอาหารไม่ดี, นอนไม่หลับ, รู้สึกหมุน, ท้องอืด, อาเจียน, ปวดกล้ามเนื้อ, เป็นเหน็บ, เหงือกบวม, สั่น, เต้านมโตในผู้ชาย, อ่อนเปลี้ย (asthenia), ความดันเลือดตกขณะทำการ, ผิวหนังอักเสบเหตุภาวะไวแสง, ปวดขา, คัดจมูก, น้ำมูกไหล, แสบร้อนกลางอก, ตะคริวกล้ามเนื้อ, ไอ, หลั่งเหงื่อมาก, มีเสียงในหู, ตกเลือดกำเดา, ไมเกรน
แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรือทนไม่ได้หรือเกิดต่อเนื่องให้ไปพบแพทย์ทันที

ค.อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่คาดว่าน่าจะเกิดจากยานี้ ให้ไปพบแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • อย่าลืมแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่า ท่านแพ้ยาอะไร มีโรคประจำตัวหรือไม่ กำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้ กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรหรือไม่ ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่หรือไม่
  • การลดความเครียด การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ลดเกลือ การลดน้ำหนัก จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของยา
  • วัดความดันและอัตราการเต้นของหัวใจเป็นประจำและควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับค่าที่เหมาะสม
  • พบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์จะได้ติดตามผลการรักษาและอาการไม่พึงประสงค์ โดยการตรวจวัดความดันโลหิต และอัตราชีพจร นอกจากนี้แพทย์อาจมีการตรวจวัดอื่น ๆ เช่น วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นครั้งคราว

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Amlodipine, Cinnarizine, Diltiazem, Felodipine, Flunarizine, Nifedipine (Controlled release), Nifedipine (Immediate-release), Verapamil

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Calcigard Retard tablets , Depin-E Retard tablets , Nelapine SR capsules , Nicardia Retard tablets , Nifedi-Denk 10 tablets, Nifedi-Denk 20 Retard tablets , Nifedipin T20 Stada Retard tablets, Nifelat R tablets

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

ไนเฟดิปีน, ไนเฟดอิพีน รูปแบบออกฤทธิ์นาน

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 30 April, 2010.
  2. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com. Access Date: 3 March, 2010.
  3. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook with international trade names index. 18th ed. Ohio: Lexi Comp In;2009.
  4. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Calcium channel blocker. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

panupong puttarak
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
06 พฤศจิกายน 2552 15 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย