อ่าน: 3518
Small_font Large_font

Indomethacin (อินโดเมทาซิน)

คำอธิบายพอสังเขป

อินโดเมทาซิน (indomethacin) เป็นยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเรียกว่า NSAIDs (เอ็น-เสด) ใช้ในการบรรเทาอาการบางอาการที่มีสาเหตุมาจากข้ออักเสบ (ข้ออักเสบรูมาตอยด์) การอักเสบ บวม ตึง และเจ็บข้อ อย่างไรก็ตามยานี้ไม่ได้ใช้รักษาข้ออักเสบเพียงแค่ช่วยบรรเทาอาการของท่านให้ดีขึ้นเท่านั้น

ยานี้ใช้ในการบรรเทาอาการปวดของสภาวะต่างๆ เช่น

  • เกาต์กำเริบ
  • การอักเสบของถุงเล็ก ๆ ที่บรรจุน้ำไขข้อ (bursitis)
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)
  • อาการตึง เคล็ดขัดยอก
  • ปวดประจำเดือน (menstrual cramps)
  • อินโดเมทาซิน (indomethacin) ใช้ในการรักษาสภาวะต่างๆ ตามแพทย์สั่ง
  • อินโดเมทาซิน (indomethacin) เหล่านี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือใช้ในปริมาณมาก

อาการข้างเคียงบางอย่างทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือไม่สบายตัวหรืออาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากท่านจะใช้ยานี้นานกว่า 1-2 เดือน หรือใช้ในปริมาณมากๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อจะได้ทราบถึงการปฏิบัติตัวที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงนั้นได้

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) หรือ กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ตัวอื่น หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ หรือ ยาต่อไปนี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

  • แอสไพริน (aspirin) หรืออนุพันธ์ของซาลิซิเลต (salicylates)
  • คีโทโรแลก (ketorolac)
  • ออกซี่เฟนบิวทาโซน (oxyphenbutazone)
  • ซูโพรเฟน(suprofen)
  • โซมิพีแรค (zomepirac)

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ (low-salt) หรือน้ำตาลต่ำ เนื่องจากยาบางประเภทอาจมีส่วนประกอบของโซเดียมและน้ำตาล

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'B' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ หรือ จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายามีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ค่อนข้างปลอดภัย

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'B' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ หรือ จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายามีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ค่อนข้างปลอดภัย

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอดเพราะยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตามอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับหัวใจหรือความดันโลหิตของตัวอ่อนในครรภ์หรือทารกแรกคลอดได้หากรับประทานยาเหล่านี้เป็นประจำใน 2-3 เดือนสุดท้ายของการมีครรภ์

และจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า หากรับประทานยาใน 2-3 เดือนสุดท้ายของการมีครรภ์ อาจทำให้การมีครรภ์นานขึ้น, ระยะเวลาของการคลอดนานขึ้นและทำให้เกิดปัญหาในการคลอด

กำลังให้นมบุตร

อินโดเมทาซิน (indomethacin) สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมและทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ในทารกที่ได้รับนมแม่

เด็ก

มีการทดลองใช้อินโดเมทาซิน (indomethacin) ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ไม่พบอาการข้างเคียงที่ต่างจากการใช้ยาในผู้ใหญ่

ผู้สูงอายุ

อาการข้างเคียงบางอย่างเช่น สับสน , หน้าบวม แขนหรือขาบวม , ปริมาณปัสสาวะลดลง อาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุซึ่งไวต่อฤทธิ์ของยามากกว่าในวัยอื่นๆ ดังนั้นหากยาส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ผู้สูงอายุอาจรู้สึกไม่สบายตัวได้มากกว่าวัยอื่นๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานอินโดเมทาซิน (indomethacin) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants)
  • เซฟาแมนโดล (cefamandole)
  • เซโฟเพอราโซน (cefoperazone)
  • เซโฟทีแทน (cefotetan)
  • เฮพาริน (heparin)
  • พลิคามัยซัน (plicamycin)
  • กรดวาลโพรอิก (valproic acid) โอกาสการเกิดเลือดออกเพิ่มขึ้น
  • แอสไพริน (aspirin) โอกาสในเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงจะเพิ่มขึ้นหากใช้แอสไพรินร่วมกับอินโดเมทาซิน (indomethacin)* ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin)
  • อีน็อกซาซิน (enoxacin)
  • อิทราโคนาโซล (itraconazole)
  • คีโทโคนาโซล (ketoconazole)
  • โลมีฟลอกซาซิน (lomefloxacin)
  • นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin)
  • โอฟลอกซาซิน (ofloxacin)
  • ไซโคลสพอริน (cyclosporine)
  • ดิจิทัลลิส ไกลโคไซดิ์ (digitalis glycosides)
  • ลิเทียม (lithium)
  • เมโทเทรกเซต (methotrexate)
  • ฟีนีตอยน์ (phenytoin) อาจทำให้ระดับยาทั้งสองตัวในเลือดสูงขึ้น
  • โพรเบนีซิด (probenecid) ทำให้ระดับอินโดเมทาซิน (indomethacin) สูงขึ้นและโอกาสในการเกิดอาการข้างเคียงจะเพิ่มขึ้น
  • ไตรแอมเทอรีน (triamterene) โอกาสในการเกิดผลต่อไตจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเมื่อให้ร่วมกับอินโดเมทาซิน (indomethacin)
  • ไซโดวูดีน (zidovudine) โอกาสในการเกิดอาการข้างเคียงจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเมื่อให้ร่วมกับอินโดเมทาซิน (indomethacin)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้อินโดเมทาซิน (indomethacin) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ติดแอลกอฮอล์
  • ปัญหาเลือดออก
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis), โรคโครห์น (Crohn’s disease), ไดเวอร์ติคูลัมอักเสบ (diverticulitis) , แผลในกระเพาะอาหาร, ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • เบาหวาน
  • ริดสีดวงทวาร
  • ตับอักเสบหรือโรคตับอื่นๆ
  • โรคไต
  • ระคายเคืองทวารหนักหรือมีเลือดออกจากทวารหนัก
  • กลุ่มอาการของโรคผิวหนังลักษณะผื่นลูปุสทั่วร่างกาย (systemic lupus eythematous-SLE)
  • สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มาก่อน จะเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการข้างเคียง
  • โรคโลหิตจาง
  • โรคหอบหืด
  • โรคลมชัก
  • ของเหลวคั่ง (เท้า ขา บวม)
  • โรคหัวใจ
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • นิ่วในไตหรือเคยมีนิ่วในไต
  • จำนวนเกล็ดเลือดต่ำ
  • จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • มีปัญหาทางจิต
  • โรคพาร์คินสัน
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หลายข้อ
  • กลุ่มอาการฟอร์ฟิเรีย
  • หลอดเลือดแดงที่สมองส่วน temporal อักเสบ (temporal arteritis) อินโดเมทาซิน (indomethacin) จะทำให้อาการของโรคนี้รุนแรงขึ้น
  • มีแผลหรือฝ้าขาวในปาก อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงอาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่รุนแรง โปรดแจ้งแพทย์หากท่านมีอาการเหล่านี้

การใช้ที่ถูกต้อง

รับประทานยาเม็ดหรือยาแคปซูลพร้อมน้ำประมาณ 240 มิลลิลิตร ห้ามนอนประมาณ 15–30 นาทีหลังรับประทานยา เพื่อป้องกันการระคายเคืองทางเดินอาหาร

ควรรับประทานอินโดเมทาซิน (indomethacin) พร้อมอาหารหรือยาลดกรดเพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร

หากท่านรับประทานยารูปแบบปลดปล่อยตัวยาในลำไส้เล็ก (enteric-coated) ท่านไม่จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือยาลดกรด เนื่องจากยารูปแบบปลดปล่อยตัวยาในลำไส้เล็ก (enteric-coated) จะช่วยป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหารจากตัวยาอยู่

หากท่านต้องการรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรด ควรเลือกยาลดกรดที่ประกอบด้วยแมกนีเซียมและอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์หรือใช้ยาลดกรดตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรผสมอินโดเมทาซิน (indomethacin) ในรูปแบบของเหลวเข้ากับยาลดกรด เนื่องจากทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ หากท่านมีอาการไม่สบายท้อง (อาหารไม่ย่อย, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง, ท้องร่วง) อย่างต่อเนื่องหรือสงสัยว่าควรรับประทานยาอย่างไร ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์

ยาบางประเภทต้องกลืนทั้งเม็ด ห้ามบด เคี้ยวหรือหักแบ่ง ยาในรูปแบบแคปซูลห้ามแกะแคปซูลก่อนการรับประทานยา รวมถึงยาในรูปแบบที่ออกฤทธิ์ที่ลำไส้เล็ก (enteric-coated), ยาเม็ดหรือยาแคปซูลที่ออกฤทธิ์เนิ่น (extended-release) หากท่านไม่แน่ใจว่ายาที่ท่านกำลังรับประทานเป็นรูปแบบใดควรสอบถามจากเภสัชกร

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาในรูปยาเหน็บ

  • หากยาเหน็บนิ่มเกินไปจนไม่สามารถเหน็บได้ ควรนำไปแช่ตู้เย็นประมาณ 30 นาทีหรือนำไปจุ่มในน้ำเย็นก่อนนำออกจากห่อ
  • การเหน็บยาเหน็บ ควรเอายาเหน็บออกจากห่อแล้วทำให้ชุ่มชื้นด้วยการจุ่มในน้ำเย็น นอนตะแคงข้างแล้วใช้นิ้วดันยาเหน็บเข้าสู่ทวารหนัก
  • ยาเหน็บอินโดเมทาซิน (indomethacin) ควรขมิบก้นไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงเพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีและช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

ขนาดยา

ขนาดของยานี้อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร หรือ ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

จำนวนของแคปซูลหรือยาเม็ดหรือจำนวนช้อนชาของยาน้ำแขวนตะกอนที่รับประทานหรือจำนวนยาเหน็บขึ้นกับความแรงของยา จำนวนครั้งของการใช้ยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านใช้ยาขึ้นอยู่ว่าท่านกำลังรับประทานยานี้ในรูปแบบออกฤทธิ์นานหรือรูปแบบออกฤทธิ์สั้นและกับสภาวะของท่านที่ท่านต้องใช้ยานี้

ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบจำเป็นต้องใช้ยาทั้งขณะมีอาการและไม่มีอาการของข้ออักเสบ ดังนั้นขนาดยาอาจต้องเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับอาการของท่าน

เมื่อลืมใช้ยา

หากแพทย์สั่งให้ท่านรับประทานยานี้แล้วท่านลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้มื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติ (สำหรับยาที่ออกฤทธิ์นานหรือออกฤทธิ์เนิ่นที่รับประทานวันละ 1–2 ครั้ง หากมื้อที่ลืมอยู่ภายใน 1–2 ชั่วโมงของมื้อนั้นให้รับประทานยาทันที แต่ถ้าเกิน 1–2 ชั่วโมงแล้วให้ข้ามมื้อนั้นไปแล้วรับประทานยาตามปกติ) ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ห้ามเก็บยารูปแบบยาน้ำแขวนตะกอนในตู้เย็น
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

หากท่านจะใช้ยานี้เป็นเวลานานสำหรับบรรเทาอาการข้ออักเสบ ท่านควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา การตรวจบางอย่างมีความจำเป็นมากเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง รวมถึงแผลในกระเพาะอาหาร , เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือปัญหาเกี่ยวกับเลือด ซึ่งอาจเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ทราบคำเตือนนี้มาก่อน

การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในขณะที่ทำการรักษาด้วยการใช้ยานี้อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น

หากท่านดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 3 แก้ว ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้

การรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) 2 ชนิดหรือมากกว่า 2 ชนิดร่วมกันอาจทำให้โอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น การใช้ยาพาราเซทามอล (paracetamol), แอสไพริน (aspirin) หรืออนุพันธ์ซาลิซิเลต (salicylates) หรือคีโตโรแล็ค (ketorolac) ในขณะที่ใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อาจทำให้โอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขิ้น ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับจำนวนยาที่รับประทานในแต่ละวันและขึ้นกับระยะเวลาที่ประทานยาร่วมกัน หากแพทย์ให้ท่านรับประทานยานี้ร่วมกันเป็นประจำ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ห้ามรับประทานพาราเซทามอล (paracetamol) หรือแอสไพริน (aspirin) หรืออนุพันธ์ของซาลิซิเลต (salicylates) ร่วมกับอินโดเมทาซิน (indomethacin) มากกว่า 2-3 วัน และห้ามรับประทานร่วมกับคีโทโรแลก (ketorolac) ในขณะที่ท่านกำลังรับประทานยานี้ยกเว้นแพทย์สั่งและพบแพทย์ตามนัด

ก่อนทำการผ่าตัดใดๆ (รวมทั้งการผ่าตัดทางทันตกรรม) โปรดแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ว่าท่านกำลังรับประทานยานี้อยู่ ถ้าเป็นไปได้ควรบอกตอนที่กำลังวางแผนผ่าตัด ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) บางตัวทำให้โอกาสในการเกิดเลือดออกในระหว่างและหลังผ่าตัดเพิ่มขึ้น บางครั้งอาจจำเป็นต้องหยุดรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ชั่วคราวหรือเปลี่ยนไปใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ตัวอื่นที่ทำให้เกิดเลือดออกน้อยกว่า

ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายรู้สึกสับสน, หาวนอน , รู้สึกหวิวๆ , กระปี้กระเป่าน้อยกว่าปกติ บางครั้งยาอาจทำให้เกิดอาการตาพร่าหรือปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นในผู้ป่วยบางราย ดังนั้นควรตรวจสอบตัวเองให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีอาการเหล่านี้จากยา ก่อนที่จะขับรถยนต์หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย หากท่านมีอาการเหล่านี้และรู้สึกว่ารบกวนกิจวัตรประจำวันของท่าน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ผู้ป่วยบางรายที่ใช้อินโดเมทาซิน (indomethacin) อาจไวต่อแสงมากกว่าปกติ การสัมผัสแสงแดดเพียงไม่นานก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดผิวหนังไหม้เกรียมผิดปกติได้, เกิดถุงน้ำใต้ผิวหนัง, เกิดผื่น, แดง ,คัน ,หรือสีซีดจางลงได้ หรืออาจทำให้การมองเห็นผิดปกติไปเมื่อเริ่มใช้ยานี้

  • ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงโดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-15.00
  • ควรสวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนังเพื่อป้องกันแสงแดด รวมทั้งใส่หมวกกันแดดหรือแว่นกันแดด ทาครีมกันแดดซึ่งมีค่า SPF อย่างน้อย 15 บางรายอาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF สูงกว่านั้นโดยเฉพาะรายที่มีผิวบอบบาง หากท่านมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ห้ามใช้หลอดไฟแบบแสงอุลตร้าไวโอเลตหรือการทำให้สีผิวเข้มขึ้น
  • หากท่านเกิดผลต่างๆ ที่เกิดจากแสงแดด ควรไปพบแพทย์

อาการข้างเคียงที่รุนแรง รวมถึงการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างใช้ยานี้ บางครั้งอาการข้างเคียงที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นโดยที่ท่านไม่ได้รับการเตือนมาก่อน อาการแสดงที่เกิดขึ้นบ่อยที่สามารถเตือนว่าท่านอาจได้รับอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้แก่ การปวดท้องหรือปวดเกร็งท้องมากๆ , เจ็บท้องหรือปวดแสบปวดร้อนในท้อง , อุจจาระสีดำเหมือนน้ำมันดิน (ทาร์), คลื่นไส้รุนแรงหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน, แสบยอดอก, อาหารไม่ย่อย, หรืออาเจียนมีเลือดปนหรือมีสีคล้ายกาแฟ ควรหยุดยาและไปพบแพทย์ทันที หากท่านมีอาการดังกล่าว

ควรพบแพทย์ทันที หากท่านมีอาการหนาวสั่น, มีไข้, ปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อหรือมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะถ้าเกิดเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนหรือเกิดพร้อมกับมีผื่นที่ผิวหนังซึ่งพบได้น้อยมาก หากมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นอาการเตือนที่บ่งบอกถึงปฏิกิริยารุนแรงที่เกิดจากยา

อินโดเมทาซิน (indomethacin) อาจทำให้เกิดการแพ้ทางภูมิคุ้มกันที่รุนแรงได้ที่เรียกว่า แอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) ถึงแม้ว่าพบได้น้อยมากแต่ก็อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้ยาแอสไพริน (aspirin) หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

แอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาการเตือนที่รุนแรงที่สุดของปฏิกิริยานี้คือหายใจเร็วมากและผิดปกติ อ้าปากหายใจหอบ หายใจเข้ามีเสียงหวีด หรือเป็นลม อาการเตือนอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสีผิวของใบหน้า หัวใจหรือชีพจรเต้นเร็วและผิดปกติ ผิวหนังบวมมีลักษณะคล้ายรังผึ้งและหนังตาหรือรอบๆ ตาบวมหรือพอง ถ้ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องรีบได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน รีบขอความช่วยเหลือให้นำส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ถ้าทำตามนี้ไม่ได้ห้ามพยายามขับรถด้วยตนเอง แต่ให้รีบเรียกรถพยาบาล นอนลง รักษาตัวเองให้อุ่นและประคองให้เท้าสูงกว่าศีรษะ อยู่ในท่านั้นจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ

อาการไม่พึงประสงค์

เกิดขึ้นพร้อมกับผลการรักษา ยาอาจทำให้เกิดผลบางอย่างที่ไม่ต้องการ อาการข้างเคียงต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด ถ้าเกิดอาการข้างเคียงควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรหยุดยาและได้รับการช่วยเหลือจากแผนกฉุกเฉินในทันทีหากมีอาการเหล่านี้

พบน้อยมาก

  • เป็นลม, หายใจเร็วหรือผิดปกติ, หัวใจหรือชีพจรเต้นเร็วหรือผิดปกติ, บวมคล้ายรังผึ้งบริเวณใบหน้า (ขนาดใหญ่), เปลือกตา รอบตา ปาก ลิ้นบวม, หายใจสั้น, หายใจลำบาก, หายใจมีเสียงวี๊ด, แน่นหน้าอก

ข. ควรหยุดยาและพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเหล่านี้

พบน้อย

  • ปวดท้อง, ปวดเกร็งท้อง, ปวดแสบปวดร้อนในท้อง (อย่างรุนแรง), อุจจาระมีมีเลือดปนหรือมีสีดำคล้ายน้ำมันดิน (ทาร์), คลื่นไส้, แสบยอดอกและหรือมีอาการอาหารไม่ย่อย (รุนแรงและต่อเนื่อง)
  • ชัก, มีไข้และมีหรือไม่มีอาการหนาวสั่น
  • มีจุดแดงคล้ายหัวเข็มหมุดที่ผิวหนัง, เจ็บ ปวดหรือมีจุดสีขาวที่ริมฝีปากหรือในปาก
  • ความดันเลือดสูงขึ้น, เลือดไหลออกจากจมูกโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีเลือดออกหรือเกิดจ้ำเลือดที่ผิดปกติ, อาเจียนมีเลือดปนหรือมีสีคล้ายกาแฟ

ค. ควรปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น

พบบ่อย

  • เลือดออกจากทวารหนัก (เมื่อใช้ยาในรูปแบบยาเหน็บทวาร), ปวดศีรษะ (รุนแรง) โดยเฉพาะในตอนเช้า, มีผื่นที่ผิวหนัง

พบน้อย

  • ปวดกระเพาะปัสสาวะ, ปัสสาวะมีเลือดปนหรือขุ่นหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะลำบาก ปวดแสบ หรือปวดเวลาปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะมากขึ้นหรือน้อยลงมากผิดปกติ กลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • เลือดไหลจากการถูกมีดบาดหรือรอยถลอกที่นานเกินผิดปกติ, มีเลือดไหลหรือเจ็บฝีปาก
  • ตาพร่าหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น, ปวดตา ระคายเคือง แห้ง แดงและบวม
  • รู้สึกเหมือนร้อนไหม้ภายในลำคอ หน้าอกและกระเพาะอาหาร, กลืนลำบาก, ไอ
  • สับสน, หลงลืม, ซึมเศร้าหรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงไป, ประสาทหลอน (มองเห็น ได้ยินหรือรู้สึกถึงสิ่งที่ไม่มีจริงตรงนั้น), ปวดศีรษะ (รุนแรง), ปวดหัวตุบๆ, คอหรือหลังแข็ง
  • การได้ยินลดลงหรือมีความผิดปกติในการได้ยินอื่นๆ ได้ยินเสียงกริ่งหรือเสียงหึ่งๆในหู
  • ผิวหนังมีอาการคันหรือบวมคล้ายรังผึ้ง รวมทั้งความผิดปกติต่างๆเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น มีถุงน้ำ แดง สีเปลี่ยนแปลงไป ตึง ปวดแสบปวดร้อน ซีด หนาตัวหรือมีรอยแผลเป็น
  • ความดันโลหิตสูง, ระคายเคืองลิ้น, อุจจาระสีซีดลง
  • เล็บสีซีดลงหรือเล็บแยก, ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มือและเท้าไม่มีความรู้สึก รู้สึกเหมือนเข็มจิ้ม ปวดหรืออ่อนแรง, ปวดหลังด้านล่างและหรือด้านข้าง (รุนแรง), ท้องส่วนบน กระเพาะอาหาร ตึงและหรือบวม, ลิ้นและปากบวม, ต่อมบวมและเจ็บโดยเฉพาะต่อมที่คอ, กระหายน้ำอย่างต่อเนื่อง, พูดลำบาก, น้ำมูกไหลหรือจามโดยไม่มีสาเหตุ
  • เลือดไหลจากช่องคลอดมากผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้ามากผิดปกติ, ตัวเหลืองตาเหลือง

ง. ผลข้างเคียงอื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่จะหายไปในระหว่างการรักษาซึ่งร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์ถ้าผลข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนท่าน

พบบ่อย

  • ปวด เกร็งหรือไม่สบายท้องหรือกระเพาะอาหาร (เล็กน้อยถึงปานกลาง), วิงเวียนศีรษะ, ง่วงซึม, รู้สึกหวิวๆ, ปวดศีรษะ (เล็กน้อยถึงปานกลาง), แสบยอดอก, อาหารไม่ย่อย, คลื่นไส้หรืออาเจียน

พบน้อย

  • การรับรสเปลี่ยนไปหรือรู้สึกขมปาก, มีลม แก๊สในกระเพาะอาหาร, ท้องผูก, ไม่อยากอาหาร
  • หัวใจเต้นเร็วหรือแรง, หน้าแดง, รู้สึกเหมือนไม่สบาย, ตาทนแสงไม่ได้, ผิวหนังไวต่อแสง, เหงื่อออกมากขึ้น, ปากแห้ง ระคายเคืองหรือเจ็บ
  • กระวนกระวาย, ควบคุมตัวเองไม่ได้, สั่น, กระตุก, ระคายเคืองทวารหนัก (โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาในรูปแบบยาเหน็บทวารหนัก), มีปัญหาในการนอนหลับ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ, เหนื่อยล้า อ่อนแรงผิดปกติโดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย

แม้ว่าอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่จะเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) แต่ละตัวมีความคล้ายคลึงกันมาก จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังกล่าวได้คล้ายกัน

จ. อาการข้างเคียงอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Aspirin, Celecoxib, Diclofenac, Diflunisal, Flurbiprofen, Ibuprofen, Ketoprofen, Mefenamic acid, Meloxicam, Nabumetone, Naproxen, Nimesulide, Phenylbutazone, Piroxicam, Sodium salicylate, Sulindac, Tenoxicam

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Ammi-Indocin (แอมมิ-อินโดซิน), Andocit (แอนโดซิท), Docin (โดซิน), Dometa (โดมีต้า), IDC, Incosit (อินโคสิท), Indo capsules (อินโด ชนิดแคปซูล), Indo S.C tablets (อินโด เอส.ซี. ชนิดเม็ด), Indocin cap, Indocin film-coated tab, Indoman (capsule) (อินโดแมน (แคปซูล)), Indo-Mathacin capsule (อินโดเมธาซิน แคปซูล), Indomed capsules (อินโดเมด แคปซูล), Indomed F (capsules) (อินโดเมด เอฟ (แคปซูล)), Indometh (อินโดเม็ธ), Indomethacin K.B. cap, Indomethacin, Medicpharma cap, Indomethacin Patar cap, Indomethacin Picco cap, Indometin capsules (อินโดมิติน), Indono (อินโดโน่), Indo-Trustman capsules (อินโด-ทรัสท์แมน แคปซูล), Inflamate (อินฟลาเมท), Inthacine capsules (อินทราซีน แคปซูล), S-Docid (เอส-โดซิด), Zonema tab

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 185-96.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 6, 2009).
  3. Joint Formulary Committee. British National Formulary. 57th ed. London: British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain, 2009: 552, 557-8.
  4. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

นรวร เจนณรงค์ , หทัยรัตน์ คังคะสุวรรณ
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
23 สิงหาคม 2552 28 กันยายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย