ปัจจุบันการดำเนินชีวิตของคนเราต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดันนานัปการ คนส่วนใหญ่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ชีวิตเต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรง แต่การแข่งขันมิได้นำมาซึ่งชัยชนะเสมอไป ความอิจฉาริษยาไม่เคยทำให้สังคมเกิดความสงบสุขได้เลย และสมัยนี้คนส่วนใหญ่มุ่งแต่พัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความสามารถ ความรอบรู้ในด้านวิชาการเพื่อก้าวให้ทันโลก ทันเทคโนโลยี เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาองค์กรหรือสถาบัน ตลอดจนพัฒนาประเทศชาติ แต่ลืมพัฒนาจิตใจ ลืมแม้แต่การสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ตนเองและคนรอบข้าง แล้วการพัฒนาดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างไร ดังนั้นท่ามกลางความสับสนวุ่นวายนี้ ผู้ที่แข็งแกร่งหรือผู้ที่รู้เคล็ดลับในการดำเนินชีวิตเท่านั้น ที่สามารถเอาตัวรอดประสบความสำเร็จในสังคมที่มีแต่การแข่งขันได้อย่างเป็นสุข
เรื่อง “กำลังใจ...พลังที่สร้างได้” นี้ เป็นบทความแนวสังคมจิตวิทยาไม่เน้นวิชาการ บทความนี้ได้รวบรวมเรียบเรียงข้อคิดดี ๆ จากหนังสือของนักเขียนทั้งภายในและต่างประเทศที่มีชื่อเสียง เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการให้กำลังใจต่อตนเองและคนรอบข้าง เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมส่วนรวมได้อยู่กันอย่างสงบสุขตลอดไป
สาเหตุที่ทำให้คนในสังคมหมดกำลังใจ เช่น
- ความเครียด การที่คนมีความเครียดมากเป็นเวลายาวนาน โดยไม่ได้รับการเยียวยา อาจเกิดความหวาดระแวง กำลังใจถดถอยลงไปเรื่อย ๆ และบางรายอาจถึงขั้นเป็นโรคจิต โรคประสาทได้
- ความสามารถต่ำ คนประเภทนี้เมื่อประสบความล้มเหลวบ่อย ๆ จะหมดกำลังใจลงไปทุกที สร้างความขมขื่นและเกิดความทุกข์ได้
- ความสามารถปกติ แต่ชอบคิดว่าตัวเองมีความสามารถต่ำ ทำให้หมดกำลังใจได้ พวกนี้มักมองโลกในแง่ร้าย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องลำบากไปหมด ฉะนั้นคงมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ยาก และคนประเภทนี้มักมีปมด้อย ชอบตั้งความหวังไว้สูง เมื่อก้าวไปไม่ถึงเป้าหมายในบางครั้งอาจทำให้รู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง ชีวิตมีแต่ความกดดัน วิ่งไล่ไขว่คว้าความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา และบางคนยังขาดความหวังในชีวิต เป็นคนชอบตำหนิติเตียนหรือลงโทษตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยให้กำลังใจหรือรางวัลแก่ตนเองเลย รอแต่รับคำชมเชยจากผู้อื่น คนประเภทนี้มักขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่
ดังนั้นพวกเราควรเรียนรู้วิธีสร้างกำลังใจ ซึ่งมีหลายวิธีการ ได้แก่ การเรียนรู้วิธีรักษาสุขภาพกายและใจให้สมบูรณ์ รู้วิธีฝึกคิดดีกับตนเอง มองโลกอย่างไรให้มีความสุขและสามารถรับมือกับปัญหาได้ รู้วิธีกำหนดจุดมุ่งหมายของชีวิต ฝึกตนเองให้เป็นคนรักษาคำมั่นสัญญามีสัจจะ มีความเชื่อมั่นในตัวเองและรู้วิธีพัฒนาความคิดในทางสร้างสรรค์ ฝึกตนเองให้เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและเป็นคนใจเย็น ฝึกให้เป็นคนมุมานะอดทน และสุดท้ายหมั่นสร้างระเบียบแบบแผนสำหรับตนเอง ดังนี้
- การรู้วิธีรักษาสุขภาพกายและใจให้สมบูรณ์ มนุษย์จะประสบความสำเร็จได้ จำต้องมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี หากสุขภาพอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดบกพร่อง อาจเป็นสาเหตุให้ขาดกำลังใจได้ ฉะนั้นการรักษาสุขภาพให้ดี จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาตน เป็นการสร้างกำลังใจให้แข็งแกร่งเพื่อต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิต
- การฝึกคิดดีกับตนเอง ผู้ที่ก้าวสู่ความสำเร็จได้นั้น จะต้องผ่านอุปสรรคและความทุกข์มาทุกคน บางคนผ่านมาก บางคนผ่านน้อย เดล คาร์เนกี ได้เขียนหนังสือชื่อ “วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข ” โดยได้แนะวิธีแก้ความ ความทุกข์ไว้ดังนี้คือ ให้เขียนหรือพิมพ์เรื่องที่เราวิตกกังวล กลัว หรือมีความทุกข์ต่าง ๆ ลงในกระดาษ แล้วหาสาเหตุ หาว่ามีวิธีแก้ไขอย่างไร เลือกวิธีที่ดีที่สุด แล้วลงมือแก้ไขทันที หากแก้แล้วไม่ได้ ก็จำเป็นต้องยอมรับโดยดุษฎี อย่าอยู่ว่าง จงทำตนให้มีภาระอยู่เสมอ และให้คิดแต่เพียงปัจจุบัน นอกจากอดีตบางเรื่องสมควรจดจำเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนเรา แต่บางเรื่องไม่ควรจดจำ ( ยิ่งอตีดที่เลวร้ายด้วยแล้ว ) สดท้ายให้ลืมความทุกข์ของตนเองด้วยการทำให้ผู้อื่นมีความสุข ซึ่งวิธีการของ เดล คาร์เนกี ที่กล่าวข้างต้นนี้คล้ายอริยสัจจ์ 4 หลักธรรมทางพุทธศาสนาที่สอนให้พ้นทุกข์ กล่าวคือ ยอมรับว่าทุกข์นั้นมีจริง ทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรแน่นอน มีเกิด มีดับ วันนี้สุข พรุ่งนี้ทุกข์ ทุกสิ่งในโลกล้วนสมมุติขึ้นทั้งนั้น อย่าถือว่านั่นเป็นตัวเรา เป็นของเรา ให้เดินสายกลาง ไม่มากไม่น้อยเกินไป ให้ประพฤติธรรม รักษาศีลมีใจเป็นกุศล ทำสมาธิและอบรมปัญญาให้มีสติสัมปชัญญะทุกขณะจิต
- การมองโลกอย่างไรให้มีความสุขเพื่อสามารถรับกับปัญหาได้ คือ สร้างนิสัยให้เป็นคนมีความสุขอยู่เสมอ ผู้รอดพ้นจากเคราะห์กรรมได้ ย่อมเป็นคนรักชีวิต แม้กำลังเดือดร้อนก็สามารถผ่านชีวิตได้อย่างสงบ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงได้ เมื่อพบความทุกข์อย่างหนักก็จงยอมรับมือกับมันให้ได้ ไม่ใช่ยอมรับอย่างยอมจำนน แต่จงยอมรับด้วยความปรารถนาที่จะได้รับประโยชน์จากมัน หัดเป็นคนไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม คนที่ขลาดกลัวเมื่อพบเหตุร้ายมักตีโพยตีพาย คิดในทางลบ คิดแต่สิ่งเลวร้ายคอขาดบาดตาย แต่ถ้าเป็นคนกล้าหาญ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ มักจะคิดเสมอว่าฉันจะต้องทำอะไรตั้งแต่นี้ต่อไป และสุดท้ายจงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เฟรเดริก บั้กเนอร์ ได้เขียนหนังสือ ชื่อ “ความมืดอันหิวโหย” ตอนหนึ่งของหนังสือว่า “ไม่มีใครสามารถทำให้ชีวิตในอดีตกลับคืนมาใหม่ได้ รวมทั้งไม่มีใครหยั่งรู้ชีวิตในอนาคต ได้เช่นกัน เฉพาะเวลาปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นของเราและมันก็อยู่กับเราไม่นาน หากจากเราไปแล้วก็จะเป็นการสายเกินแก้”
- ฝึกตนเองให้เป็นคนรักษาคำมั่นสัญญามีสัจจะ ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร ทำธุรกิจการงานใด ๆ ขอได้โปรดระลึกไว้เสมอว่า ก่อนรับปากหรือให้สัญญากับใคร ต้องมั่นใจว่าท่านสามารถกระทำได้จริง และจงถือสัญญาคือสัจจะที่ต้องรักษาไว้ให้จงได้ เพราะการที่คนเขาจะเชื่อถือ ศรัทธา รักใคร่และอยากร่วมงานกับเราหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่ที่คำพูด และการกระทำตามคำมั่นสัญญา เป็นตัวตัดสินว่าเราสมควรแก่การยกย่องเชื่อถือเพียงไร และมีเกียรติแค่ไหน
- มีความเชื่อมั่นในตัวเองและรู้วิธีพัฒนาความคิดในทางสร้างสรรค์ มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิด นึกเอาเองว่าความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในกลุ่มคนที่ฉลาดปราดเปรื่องจริง ๆ หรือในกลุ่มคนที่มีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ วิศวกร ศิลปิน และนักประพันธ์ แล้วเหมาว่าตนเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะไม่ฉลาดล้ำลึก และก็ไม่ใช่คนอยู่ในอาชีพดังกล่าว ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา ไม่ว่าเป็นใคร อาชีพใดก็ตาม ล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ได้ทุกคน มีมากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวเอง ความทรงจำ ประสบการณ์ และการฝึกฝน ดังนั้นวิธีสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ก่อนอื่นต้องเชื่อว่าตนเองสามารถทำได้ ต้องขจัดความคิดหรือคำพูดในแง่ลบออกเสีย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เปิดใจให้กว้าง มองทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง รักความก้าวหน้าเป็นนิจ วิจารณ์และตรวจสอบวิธีทำงานของตัวเองอยู่เสมอว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง และรีบแก้ไข หมั่นเปลี่ยนแปลงชีวิตที่จำเจบ้าง ฝึกนิสัยให้ชอบแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งหมั่นเสนอตัวเข้าช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อื่น วิธีนี้เป็นการปลูกความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดแก่ตนเองเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีโอกาสช่วยผู้อื่นไปในตัวด้วย นอกจากนี้การหาเครื่องกระตุ้น ยังช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ เช่นคบคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ อ่านหนังสือ ฯลฯ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์เอกของโลกได้กล่าวไว้ว่า “ จินตนาการมีความสำคัญมากกว่าความรู้ ” และต้องไม่ลืมคุณสมบัติที่ดีที่มีอยู่ในตัวของเราเอง ควรยอมรับว่าตนเองเป็นคนมีคุณค่า ไม่ควรเทิดทูนผู้อื่นอย่างสูงส่งเกินความจำเป็น หมั่นสร้างจิตใจให้เข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับอุปสรรค ควรแสวงหาความรู้รอบตัว เพราะความรู้ทำให้องอาจ อย่าคิดเปรียบเทียบกับคนอื่นในรูปแบบการทำลายความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะการเปรียบเทียบแบบนี้ก่อให้เกิดความกลัว ความอิจฉาริษยา แต่ควรคิดเปรียบเทียบเพื่อชื่นชม สร้างสรรค์ในสิ่งที่ดี และสุดท้ายการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องอย่าอ่อนแอ จงสู้ต่อไป ลดปมด้อยหรือแก้ไขให้น้อยลง และเอาชนะอุปสรรคหรือคนที่คิดร้ายต่อเราด้วยการให้ความรัก ความเอื้ออาทรและแผ่เมตตา มีความยินดีเมื่ออีกฝ่ายประสบความสำเร็จ และเห็นอกเห็นใจเมื่ออีกฝ่ายมีความทุกข์ และพยายามเตือนตนเองด้วยข้อคิดดี ๆ เพื่อให้เกิดกำลังใจ และหมั่นฝึกฝนตนเองให้เป็นที่พึ่งแห่งตนอยู่เสมอ
- ฝึกตนเองให้เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและเป็นคนใจเย็น คนบางคนมีการศึกษาสูง เฉลียวฉลาด แต่ชีวิตล้มเหลว เพราะขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ส่วนบางคนความรู้น้อย ยากจนแต่ชีวิตประสบความสำเร็จ เพราะสามารถสร้างความรักใคร่นับถือ ความภักดี สามารถครองใจคน และได้รับความร่วมมือจากคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี ดังนั้นมนุษยสัมพันธ์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ หลักทั่วไปของมนุษยสัมพันธ์ คือ ต้องเข้าใจตนเองและผู้อื่น รวมทั้งต้องทำให้ผู้อื่นเข้าใจตัวเราในทางที่ดี และควรเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ต้องฝึกให้เป็นคนใจเย็น ฝึกตั้งสติให้ได้ก่อน อย่าโวยวาย การคิด การพูด และการมีกิริยาที่ช้าลง เป็นการเหนี่ยวรั้งสติ การนิ่งเฉยเป็นการแสดงออกถึงการมีกำลังใจอันแข็งแกร่งและมีความสามารถควบคุมตนเองได้
- ฝึกให้เป็นคนมุมานะอดทน ความมานะอดทนเป็นกำลังใจอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่จะประสบความสำเร็จหรือสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ บุคคลประเภทนี้สามารถควบคุมตัวเองได้ รู้จักการรอคอย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง ไม่ยอมแพ้ต่อชีวิต หากผู้ใดต้องการความ ก้าวหน้าและความสำเร็จในชีวิต จะต้องปลูกฝังคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งนี้ไว้ให้เป็นนิสัยตลอดไปให้จงได้
- หมั่นสร้างระเบียบแบบแผนสำหรับตนเอง ชีวิตที่ปราศจากระเบียบ ก็เปรียบเสมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ จะล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมายปลายทาง สุดแล้วแต่คลื่นลมจะพาไป ในระยะเวลาไม่นาน ก็จะล่มอับปางจมลงสู่ท้องทะเลได้
มนุษย์ทีสามารถเผชิญกับความทุกข์ยากและเคราะห์ภัยอย่างกล้าหาญ และสามารถผ่านพ้นไปได้ จะค้นพบพลังที่มีค่าอย่างยิ่งในตัวเรา พลังนั้น คือ“กำลังใจ” ดังคำกล่าวที่ว่า หากเราสูญเสียเงินทองหรือทรัพย์สินก็เปรียบเสมือนกับไม่ได้เสียอะไรเลย หากเราสูญเสียอวัยวะบางส่วนก็เปรียบเสมือนสูญเสียบางอย่าง แต่เมื่อไรเราสูญเสียกำลังใจก็เท่ากับสูญเสียทุกอย่างในชีวิต ฉะนั้นการสร้างกำลังใจให้แข็งแกร่งย่อมสามารถเอาชนะอุปสรรคของชีวิตได้ กลายเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ และทำให้ชีวิตมีคุณภาพเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม การสร้างกำลังใจ ต้องอาศัยความร่วมมือของสมองหรือปัญญาด้วย กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและทรงพลังที่สุดก็จริง แต่มนุษย์เรากลับให้ความสำคัญของการให้กำลังใจแก่ตนเองเป็นอันดับรองลงมา กำลังใจเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงควรมาเรียนรู้วิธีสร้างกำลังใจให้แข็งแกร่งกันเถิด ควรคิดถึงเป้าหมายในอนาคตอยู่เสมอ คิดถึงคนที่เรารัก รวมทั้งคนที่รักเรา และทำเพื่อพวกเขาเหล่านั้น หากยามใดที่เรารู้สึกท้อแท้ ให้กำลังใจตัวเองแล้วไม่ได้ผล ขอให้ลองหากำลังใจจากคนใกล้ชิดดูบ้าง เขาอาจให้กำลังใจเราได้ เพราะ “กำลังใจ คือ พลังที่สร้างได้”
เอกสารอ้างอิง :-
1. ก้าวอย่างผู้ชนะหรือแพ้ตลอดกาล. เชาว์ศิลป์ จินดาละออง, กรุงเทพมหานคร : อินฟอร์มีเดียบุ๊คส์, 2546
2. การสร้างกำลังใจ. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 29 มีนาคม 2550] เข้าถึงได้จาก : http://www.stjohn.ac.th/University/Guidance/gan-srang-gam-lang-jai.htm – 5k
3. กำลังใจ..เอาชนะความเศร้า. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 29 มีนาคม 2550] เข้าถึงได้จาก : http://www.juniorhealthguard.org//pdf/Enviro/willpower.html – 9k
4. คู่มือสร้างกำลังใจ. พล.ต.ต.เพ็ชร ณ ป้อมเพ็ชร, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ 108 สุดยอดไอเดีย, 2546
ผู้เขียน: วนิดา ชุลิกาวิทย์
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี