การศึกษาใหม่พบว่า โรงพยาบาลที่เปิดเพลงเบา ๆ กล่อมเด็กคลอดก่อนกำหนด ช่วยให้เด็กพักผ่อนได้ดีขึ้น (โยเยน้อยลง) น้ำหนักเพิ่มดีขึ้น BBC รายงาน และที่สำคัญคือ ทำให้พ่อแม่เด็กมีอาการดีขึ้นด้วย (พ่อแม่หลาย ๆ รายมีอาการหนัก หงุดหงิด งุ่นง่าน ขี้บ่น วิตกกังวลมากกว่าลูกหลายเท่า)
คณะวิจัยจากแคนาดาทำการทบทวนผลการศึกษา 9 รายงานพบว่า ดนตรีเบา ๆ ช่วยลดความเจ็บป่วย และช่วยให้การป้อนนมเด็กทำได้ดีขึ้น ดนตรีมีส่วนช่วยให้ร่างกายของเด็ก ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดี ซึ่งวัดได้หลายทาง เช่น ชีพจร การหายใจ ฯลฯ ตอนนี้หน่วยทารกแรกเกิดหันมาใช้ดนตรีมากขึ้นเรื่อย ๆ
การศึกษา 6 รายงานจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ทาพบว่า ดนตรีช่วยลดอาการเจ็บปวดของเด็กที่เข้ารับการทำการตรวจรักษา เช่น การขริบอวัยวะเพศชาย การเจาะเลือดจากส้นเท้าไปตรวจ ฯลฯ
- การศึกษา 1 รายงานพบว่า ดนตรีช่วยให้การป้อนนมดีขึ้น
- ส่วนอีก 2 รายงานพบว่า เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและความประพฤติไปในทางที่ดีขึ้น
- การศึกษาเกือบทั้งหมดใช้เพลงกล่อมเด็ก (lullabies) เป็นหลัก มีเสียงอื่นบ้างไม่มีบ้าง เช่น เสียงหัวใจเต้น เสียงในมดลูก (บันทึกเสียงแบบนี้ผ่านทางหน้าท้องคุณแม่ได้) ฯลฯ
- การศึกษา 1 รายงานใช้เสียงพิเศษ คือ เสียงกลุ่มเด็กที่ไม่มีคำพูด (wordless lullaby) ที่ใช้เสียงผู้หญิงร้อง และมีพิณ ฮาร์พคลอ
- โรงพยาบาลอื่น ๆ ใช้ดนตรีบรรเลงเพลงคลาสสิค เช่น เพลงโมซาร์ท ฯลฯ
อ.ดร.มาโนช กุมาร์ (คนอินเดียชอบใช้ชื่อ “มาโนช” มาก; “กุมาร์” = “กุมาร”) และคณะกล่าวว่า ภาพรวมของเพลงเบา ๆ กล่อมเด็ก คือ ได้ผลดี
ศ. นพ.แอนดรูว์ เชนนาน (Andrew Shennan) สูติแพทย์ แห่งมูลนิธิเด็กทอมมีกล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา... อังกฤษ(UK)มีเด็กคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมีลูกตอนอายุมากขึ้น... ภาวะคลอดก่อนกำหนดเพิ่มเสี่ยง (ความน่าจะเป็น) โรคแทรกซ้อน เช่น หูหนวก ตาบอด ปัญญาอ่อน โรคปอดเรื้อรัง ปัญหาพฤติกรรม การเรียนรู้ช้าหรือบกพร่อง ฯลฯ
เด็กอังกฤษที่ตายในเดือนแรกเป็นผลจากภาวะคลอดก่อนกำหนด (ก่อน 37 สัปดาห์) 75% สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดมีมากมาย เช่น การสูบบุหรี่ของแม่ การติดเชื้อในครรภ์ ครรภ์แฝด ฯลฯ
ภาพจาก Flickr.com