อ่าน: 1172

ยาหรือสิ่งใดบ้างที่ควรระวังหากใช้ร่วมกับยาคุมกำเนิด ??

นิติธร วรรณกิตติคุณ , อรพรรณ ทองตัน , ศิวพร เดชไพบูลย์ศรี / วิบุล วงศ์ภูวรักษ์
11 มกราคม 2553 13 มกราคม 2553

ยาหรือสิ่งใดบ้างที่ควรระวังหากใช้ร่วมกับยาคุมกำเนิด ??


ยาบางชนิดอาจเกิดอันตรกิริยากับยาคุมกำเนิด และอาจมีข้อแนะนำว่า ไม่ควรใช้ร่วมกัน  แต่ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม  โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือแนะนำข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น


ก. ยาที่ลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด


ก.1. ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin), แอมพิซิลลิน (ampicillin), ด็อกซีซัยคลิน (doxycycline), เพนิซิลิน (penicillin), เตตราซัยคลิน (tetracycline)


ยาปฏิชีวนะจะไปมีผลลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด ทำให้ระดับของยาคุมกำเนิดลงลดซึ่งอาจเกิดการตั้งครรภ์โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ (unplanned pregnancy) ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าวร่วมกับยาคุมกำเนิดนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์


ก.2. ยากลุ่มบาร์บิทูเรต (barbiturates), ยากันชักคาร์บามาซีพิน (carbamazepine), เฟนิทอยน์ (phenytoin), ไพรมิโดน (primidone), ยาต้านวัณโรคไรแฟมพิซิน (rifampicin), ยาฆ่าเชื้อรากริซีโอฟุลวิน (griseofulvin) ยาดังกล่าวนี้ถูกเปลี่ยนรูปที่ตับและจะรบกวนประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด


ก.3. ยาต้านไวรัสริโทนาเวียร์ (ritonavir)


ยาต้านไวรัสนี้จะไปลดระดับยาคุมกำเนิดได้ถึง 40%


ก.4. ยาต้านไวรัสเนอร์วิราพีน (nevirapine)


ยาต้านไวรัสนี้จะถูกเปลี่ยนรูปที่ตับและจะรบกวนประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด


การใช้ยาข้างต้นร่วมกับยาคุมกำเนิดโดยเฉพาะชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจน (estrogen) เป็นส่วนประกอบ มีผลลดระดับยาคุมกำเนิดและเพิ่มการเกิดเลือดออกกะปริดกะปรอย (breakthrough bleeding) ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากกำลังใช้ยาเหล่าอยู่ และควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หรืออาจมีการปรับระดับยาคุมกำเนิดตามความเหมาะสมของแพทย์


ข. ยาที่ยาคุมกำเนิดรบกวนการออกฤทธิ์หรือเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ของยาอื่น มีดังนี้


ข.1. ยารักษามะเร็งเต้านมทาม็อกซิเฟน (tamoxifen)


ยาคุมกำเนิดจะไปรบกวนฤทธิ์ของยาทาม็อกซิเฟน


ข.2. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) เช่น คูมาริน (coumarin)


ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดร่วมด้วย ในบางรายมีผลลดประสิทธิภาพของยาต้านการแข็งตัวของเลือด แต่บางรายอาจมีผลเพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งยังไม่ทราบกลไกที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ร่วมกันต้องมีการติดตามการใช้ยาและปรับขนาดยาต้านการแข็งตัวของเลือดตามความเหมาะสมของแพทย์


ข.3. อินซูลิน (insulin)


เนื่องจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม มีฮอร์โมนเอสโทรเจน (estrogen) เป็นส่วนประกอบซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) จะมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรควบคุมการรับประทานอาหารและติดตามผลการรักษาร่วมด้วย


ข.4. ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepine) เช่น ไดอะซีแพม (diazepan), อัลปราโซแลม(alprazolam), ไตรอะโซแลม (triazolam)


ยากลุ่มนี้มีข้อบ่งใช้แตกต่างกันไป เช่น คลายกังวล, ต้านซึมเศร้า, คลายกล้ามเนื้อ โดยยาคุมกำเนิดมีผลเพิ่มระยะเวลาในการกำจัดยาออกให้นานขึ้น ทำให้ยาเบนโซไดอะซีพีนอยู่ในร่างกายนานขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้


ข.5. ยาลดระดับไขมันในเลือดคลอไฟเบรท (clofibrate)


ยาคุมกำเนิดไปมีผลลดประสิทธิภาพของยาคลอไฟเบรท


ข.6. ยากันชักลาโมไตรจีน (Lamotrigine)


ยาคุมกำเนิดจะลดความเข้มข้นของยาลาโมไตรจีน


ข.7. ยาต้านมะเร็งไซโคสปอร์ริน (Cyclosporin)


ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเข้มข้นของยาไซโคสปอร์ริน


ข.8. ยาลดความดันกลุ่มที่เพิ่มการเก็บกลับโพแทสเซียม (potassium sparing)


ยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนชนิดโดสไปรีโนน (drospirenone) มีความเสี่ยงทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง (hyperkalaemia) หากใช้ร่วมกับยาลดความดันกลุ่มนี้


ค. การดื่มกาแฟและการสูบบุหรี่


ค.1. คาเฟอีน (caffeine)


ยาคุมกำเนิดไปมีผลเพิ่มระดับคาเฟอีนได้ถึง 30-40% จึงควรระวังผลข้างเคียงจากคาเฟอีน เช่น อาการใจสั่น, นอนไม่หลับ


ค.2. บุหรี่


ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมากกว่า 20 มวนต่อวัน ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานเนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจและหลอดเลือด โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นในผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป


 


 


 


อ้างอิง


1. Micromedex Thomson Healthcare. Estrogen and Progestins (Oral Contraceptive) ,Drug Information for Health Care Profession . USP DI volume l: Micromedex , 2007: 1461-2.


2. Amy JJ, Tripathi V. Contraception for women: an evidence based overview. BMJ 2009; 563-8.

: กาย
: บทความทั่วไป
: สุขภาพ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย