อ่าน: 752
Small_font Large_font

Fluocinolone acetonide (Topical) (ฟลูโอซิโนโลนแอซีโทไนด์ชนิดใช้กับผิวหนัง)

คำอธิบายพอสังเขป

ฟลูโอซิโนโลนชนิดใช้กับผิวหนัง (topical fluocinolone) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า สเตอรอยด์ หรือ สเตียรอยด์ อยู่ในรูปแอซีโทไนด์เอสเทอร์ (acetonide ester) ใช้สำหรับต้านการอักเสบ แก้คันที่ผิวหนัง เช่น ใช้บรรเทาอาการอักเสบผิวหนังของโรคสะเก็ดเงิน และโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อคอร์ติโคสเตอรอยด์

ยาที่มีจำหน่ายได้แก่

  • ฟลูโอซิโนโลนชนิดชนิดครีม (fluocinolone acetonide cream)
  • ฟลูโอซิโนโลนชนิดชนิดโลชั่น (fluocinolone acetonide lotion)
  • ฟลูโอซิโนโลนชนิดชนิดขี้ผึ้ง (fluocinolone acetonide ointment)

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมีประวัติการแพ้ยาฟลูโอซิโนโลน (fluocinolone) หรือยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเว้นแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งท่านเป็นอย่างอื่น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันถึงความปลอดภัยของการใช้คอร์ติโคสเตอรอยด์ทางผิวหนัง (topical corticosteroids) ในสตรีมีครรภ์ แต่จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการใช้คอร์ติโคสเตอรอยด์ทางผิวหนัง ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อน จึงไม่ควรใช้ยาประเภทนี้เป็นจำนวนมาก หรือเป็นเวลานานในสตรีมีครรภ์ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยานี้ทุกครั้ง

กำลังให้นมบุตร

ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ยาฟลูโอซิโนโลนชนิดใช้กับผิวหนัง (topical fluocinolone) ในสตรีระยะให้นมบุตร อย่างไรก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้และไม่ควรทายาบริเวณเต้านมในระหว่างที่ให้นมบุตร

เด็ก

ผู้ป่วยเด็กอาจจะมีความไวต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากคอร์ติโคสเตอรอยด์ชนิดใช้กับผิวหนัง (topical corticosteroids) โดยอาจทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-ต่อมหมวกไต (hypothalamic-pituitary-adrenal axis suppression) ซึ่งอาจแสดงออกโดยกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome), น้ำตาลในเลือดสูง และมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะ (glucosuria) เนื่องจากเด็กมีอัตราส่วนระหว่างผื้นที่ผิวหนังต่อน้ำหนักตัวที่มาก
ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ เนื่องจากยาอาจถูกดูดซึมผ่านผิวหนังอาจทำให้เกิดปัญหาการเจริญเติบโตและอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้

ผู้สูงอายุ

อาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น ผิวแตก หรือมีตุ่มพอง อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากผิวหนังมักจะบางกว่าผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ทั่วไป

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาที่ทาบริเวณเดียวกันกับยาฟลูโอซิโนโลนชนิดใช้กับผิวหนัง (topical fluocinolone)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาฟลูโอซิโนโลนชนิดใช้กับผิวหนัง (topical fluocinolone) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • เบาหวาน
  • โรคไต
  • วัณโรค
  • ต้อหิน
  • แผลติดเชื้อไวรัส เช่น เริม สุกใส
  • ภาวะที่ผิวหนังบางจนเกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย เนื่องจากการใช้ยาอาจทำให้มีอาการแย่ลง

การใช้ที่ถูกต้อง

การใช้ยารูปแบบครีม ขี้ผึ้งหรือโลชั่น

  • ก่อนใช้ยาควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะทาให้สะอาด
  • ทายาบาง ๆ ให้ทั่วบริเวณที่เป็นโรค
  • ควรหยุดใช้ยาเมื่อคุมอาการได้แล้ว ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ โดยที่ไม่ได้รับการตรวจดูอาการจากแพทย์อีก
  • อาจทายาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ซ้ำอีกเพื่อควบคุมการกำเริบของโรค หากจำเป็นต้องรักษาด้วยยาสเตอรอยด์อย่างต่อเนื่องควรเปลี่ยนไปใช้ยาที่มีความแรงน้อยกว่ายาฟลูโอซิโนโลนชนิดใช้กับผิวหนัง (topical fluocinolone)
  • ไม่ควรปิดบริเวณที่ทายาด้วยผ้าพันแผล เว้นแต่แพทย์สั่ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาฟลูโอซิโนโลนชนิดใช้กับผิวหนัง (topical fluocinolone) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหรือตามที่ฉลากระบุ
จำนวนครั้งของการใช้ยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการทายาในแต่ละครั้ง, ระยะเวลาที่ใช้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมทายาให้รีบทาทันทีที่นึกได้ อย่างไรก็ตามหากใกล้ถึงการทายาครั้งต่อไป ให้ทายาครั้งต่อไปได้เลย

การเก็บรักษา

  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ห้ามใช้ยาหลังวันสิ้นอายุของยาที่แสดงไว้บนฉลาก หากไม่ระบุเป็นอย่างอื่น วันสิ้นอายุของยา หมายถึง วันสุดท้ายของเดือนที่แสดงบนฉลาก

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 14 วันหรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

  • ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณมากเกินไป หรือใช้ในระยะเวลานานกว่าที่แพทย์ หรือเภสัชกรแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีผิวหนังบาง เช่น หน้า รักแร้ หรือ ขาหนีบ เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังยิ่งบางลง และเพิ่มการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก เนื่องจากอาจมีผลกดการทำงานของต่อมหมวกไต แม้ว่าจะไม่ได้ปิดคลุมแผลก็ตาม
  • หากต้องทายาบริเวณเปลือกตา ต้องระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดต้อหินได้
  • หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ ฟลูโอซิโนโลนชนิดใช้กับผิวหนัง (topical fluocinolone) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในทารกและเด็ก เนื่องจากอาจมีผลกดการทำงานของต่อมหมวกไต แม้ว่าจะไม่ได้ปิดแผลอย่างแน่นหนาก็ตาม หากต้องใช้ยาในเด็ก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และควรระลึกไว้เสมอว่าผ้าอ้อมที่ใช้ในทารกอาจทำหน้าที่เสมือนผ้าปิดแผลที่แน่นหนาและเพิ่มการดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดได้
  • การใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) ในปริมาณมากและเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดเซลล์ผิวหนังฝ่อเฉพาะที่ เช่น ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกลาย และมีการขยายตัวของหลอดเลือดใกล้ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปิดคลุมแผลหรือบริเวณซอกพับของผิวหนัง
  • การใช้ยาสเตอรอยด์ชนิดทาในการรักษาโรคสะเก็ดเงินอาจทำให้เกิดอันตรายได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น โรคกลับมาเป็นซ้ำและมีอาการรุนแรงกว่าเดิม เกิดการดื้อยา เสี่ยงต่อการเกิดโรคสะเก็ดเงินชนิดมีตุ่มหนองทั่วร่างกาย และเกิดอาการพิษเฉพาะที่หรือทั้งร่างกาย เนื่องจากผิวหนังเสียหน้าที่ในการปกป้องไป หากต้องใช้ยาสเตอรอยด์ชนิดทาในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • การทายาเป็นบริเวณกว้าง อาจทำให้ยาฟลูโอซิโนโลนชนิดใช้กับผิวหนัง (topical fluocinolone) ถูกดุดซึมเข้าสู่ร่างกายและอาจทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-ต่อมหมวกไต (hypothalamic-pituitary-adrenal axis suppression) ซึ่งอาจแสดงออกโดยกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome) ซึ่งทำให้มีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น บวมน้ำ น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ มีโหนกตรงต้นคอ นอกจากนี้ยังทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะ
  • ปฏิกิริยาภูมิไวเกินที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ ได้แก่ ผิวหนังแดง เป็นผื่น คัน ลมพิษ ผิวหนังไหม้ และผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ จากการสัมผัส อาจเกิดขึ้นได้ในบริเวณที่ทายา
  • ห้ามทายานี้ในผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาทางผิวหนังที่เกิดจากการฉีดวัคซีนต่าง ๆ, มีอาการแสดงทางโรคผิวหนังจากวัณโรค ซิฟิลิส โรคติดเชื้อไวรัส (เช่น โรคสุกใส) โรคผิวหนังเรื้อรัง, โรคหัดกุหลาบ (rosacea) และผิวหนังอักเสบบริเวณรอบริมฝีปาก เนื่องจากอาจทำให้สภาวะโรคเลวร้ายยิ่งขึ้น

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ถึงแม้ว่าอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ก. พบแพทย์โดยเร็วหากมีอาการต่อไปนี้
พบไม่บ่อย

  • ตุ่มพุพองมีเลือดภายใน
  • แสบร้อน และคันผิวหนัง
  • แผลหายช้า
  • รูขุมขนอักเสบ
  • ผิวหนังติดเชื้อง่าย
  • ผิวหนังบาง มีจ้ำเลือด

ข. อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นหากใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้ยาเป็นระยะเวลานาน
พบน้อย

  • สิว หรือหน้ามัน
  • ตาพร่า หรือปวดตา หากใช้ทาใกล้ดวงตา
  • ความดันโลหิตสูง
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
  • หน้ากลม
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักขึ้น หรือลดอย่างรวดเร็ว
  • ผิวหนังแตกลาย
  • ขนดก
  • ผิวหนังรอบปากอักเสบ
  • ปวดท้อง
  • ขาบวม เท้าบวม
  • มีจ้ำเลือด
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ค.อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบไม่บ่อย

  • ผิวแห้ง
  • ผิวหนังแดง คัน

ง. อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Amcinonide (Topical) , Betamethasone (Topical) , Betamethasone and Calcipotriol (Topical) , Betamethasone and Clioquinol (Topical), Betamethasone and Clotrimazole (Topical) , Betamethasone and Fusidic acid (Topical) , Betamethasone and Gentamicin (Topical) , Betamethasone and Miconazole (Topical) , Betamethasone and Neomycin (Topical) , Betamethasone and Salicylic acid (Topical) , Betamethasone and Tolnaftate (Topical) , Betamethasone, Gentamicin, Tolnaftate and Clioquinol (Topical), Clobetasol propionate (Topical) , Desoximetasone (Topical) , Desoximetasone, Framycetin and Gramicidin (Topical) , Dexamethasone and Neomycin (Topical) , Fluocinolone acetonide and Gentamicin (Topical) , Fluocinolone acetonide and Neomycin (Topical) , Hydrocortisone (Topical) , Hydrocortisone and Chloramphenicol (Topical) , Hydrocortisone and Clotrimazole (Topical) , Hydrocortisone and Fusidic acid (Topical) , Hydrocortisone and Mepyramine (Topical) , Hydrocortisone and Miconazole (Topical) , Hydrocortisone and Neomycin (Topical) , Isoconazole and Diflucortolone (Topical) , Mometasone furoate (Topical) , Prednicarbate (Topical) , Prednisolone (Topical) , Prednisolone and Chloramphenicol (Topical) , Prednisolone and Neomycin (Topical) , Prednisolone and Nitrofurazone (Topical) , Prednisolone, Nitrofurazone and Lidocaine (Topical) , Triamcinolone acetonide (Topical) , Triamcinolone acetonide and Econazole (Topical) , Triamcinolone acetonide and Miconazole (Topical) , Triamcinolone acetonide, Neomycin, Gramicidin and Nystatin (Topical)

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Fluonid cream (ฟลูโอนิด ครีม), Flunolone-V cream, Fluciderm cream (ฟลูซิเดอร์ม ครีม), Flunolone ointment (ฟลุโนโลน ชนิดขี้ผึ้ง), Furama cream (ฟูราม่า ครีม), Synolone cream (ไชโนโลน ครีม), Flunolone cream (ฟลูโนโลน ครีม), Fluocinar cream (ฟลูโอชินาร์ ครีม), Cervicum cream (เซอร์วิครัม ครีม), Synalar (cream) (ซินนาลาร์ ครีม), Fluocort cream (ฟลูโอคอร์ท ครีม), Fulone cream (ฟูโลน ครีม), Clinalar lotion (คลินาลาร์ โลชั่น), Fluocine cream (ฟลูโอซีน ครีม), Fluolar cream (ฟลูโอลาร์ ครีม), Fluostar cream (ฟลูโอสตาร์ ครีม), Melloderm - FC cream (เมลโลเดิร์ม - เอฟซี)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.Fluocinolone. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: Oct 12, 2010.
  2. Dailymed current medication information . Fluocinolone. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=1744 Date: Jan 3, 2011
  3. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 3/1/2011).
  4. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Corticosteroids Medium to Very High Potency (Topical) Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
03 มกราคม 2554 05 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย