อ่าน: 2312
Small_font Large_font

Erythromycin (Topical) (อีริโทรมัยซิน ชนิดใช้กับผิวหนัง)

คำอธิบายพอสังเขป

อีริโทรมัยซินชนิดใช้กับผิวหนัง (topical erythromycin) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลด์ (macrolides) ใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยานี้ อีริโทรมัยซินชนิดใช้กับผิวหนังใช้สำหรับรักษาสิว อาจใช้เดี่ยวๆ หรือร่วมกับยาอื่น นอกจากนี้ยังใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิหนังได้อีกด้วย

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมีประวัติการแพ้ยาอีริโทรมัยซิน (erythromycin ) หรือ ยาในกลุ่มแมคโครไลด์ (macrolides) ตัวอื่น หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเว้นแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งท่านเป็นอย่างอื่น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'B' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ หรือ จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายามีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ค่อนข้างปลอดภัย

กำลังให้นมบุตร

ยังไม่มีข้อมูลว่ายาอีริโทรมัยซินชนิดใช้กับผิวหนัง (topical erythromycin) สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้เหมือนชนิดรับประทาน และยังไม่พบว่ายาอีริโทรมัยซินชนิดใช้ภายนอกก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกที่ได้รับน้ำนมมารดาที่ใช้ยา

เด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาอีริโทรมัยซินชนิดใช้กับผิวหนัง (topical erythromycin) ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีในขนาดยาที่ให้ผลในการรักษา พบว่า ยังไม่มีรายงานการทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือปัญหาอื่นที่แตกต่างจากในผู้ใหญ่

ผู้สูงอายุ

ยาหลายชนิดยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบผลที่แท้จริงว่าเป็นเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยวัยอื่นหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ทราบว่ายานี้ทำให้อาการไม่พึงประสงค์, ปัญหาใดๆ ที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุกับวัยอื่นหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้ยาอีริโทรมัยซินชนิดใช้กับผิวหนัง (topical erythromycin) ในผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาที่ทาบริเวณเดียวกันกับอีริโทรมัยซินชนิดใช้กับผิวหนัง (topical erythromycin)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาการเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาอีริโทรมัยซินชนิดใช้กับผิวหนัง (topical erythromycin) โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาหากท่านกำลังเจ็บป่วยอยู่

การใช้ที่ถูกต้อง

  • ก่อนทายานี้ ควรล้างหน้าให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่ แล้วซับหน้าให้แห้ง จากนั้นรอ 30 นาทีจึงทายา เนื่องจากยาอาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หากทาทันทีหลังล้างหน้าหรือโกนหนวดอาจเกิดการระคายเคืองผิวได้
  • ใช้ปริมาณยาให้เพียงพอในการทาบริเวณที่เป็นสิว ท่านควรทายานี้ ในบริเวณที่เป็นสิวทั้งหมด ไม่ใช่ทาเฉพาะที่ตุ่มหนอง การทาแบบนี้จะช่วยให้ตุ่มหนองที่ขึ้นใหม่ไม่แตกออก
  • ท่านควรหลีกเลี่ยงการล้างหน้าบ่อยๆ ในบริเวณที่เป็นสิว ซึ่งอาจทำให้หน้าแห้งและอาการสิวรุนแรงขึ้น การล้างหน้าด้วยสบู่อ่อน ๆ วันละ 2 หรือ 3 ครั้งก็เพียงพอแล้ว การล้างหน้าบ่อยเกินไปอาจทำให้หน้ามันมากขึ้น หากท่านมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ยาอีริโทรมัยซินชนิดใช้ภายนอก (topical erythromycin) ไม่ได้ทำให้สิวของท่านหายไป แต่ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดสิวมากขึ้น ควรใช้ยานี้จนครบเวลาการรักษา ถึงแม้ว่าอาการของท่านจะดีขึ้นหลังจากใช้ยาไม่กี่วันก็ตาม ท่านอาจต้องใช้ยานี้ทุกวันเป็นเวลาหลายเดือนหรือนานกว่านานนั้นในผู้ป่วยบาง ราย หากท่านหยุดใช้ยานี้เร็วเกินไป อาจจะกลับมาเป็นสิวใหม่ และ ไม่ควรลืมทายา
  • ท่านอาจใช้เครื่องสำอางต่อไปได้ในขณะที่กำลังใช้ยารักษาสิว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ใช้ยาได้ผลดีท่านควรใช้เครื่องสำอางที่เป็นละลายน้ำได้ (water-base), ไม่ทาเครื่องสำอางหนาและบ่อยเกินไป เนื่องจากจะทำให้อาการสิวของท่านยิ่งแย่ลง หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ขนาดยา

ขนาดยาของอีริโทรมัยซินชนิดใช้กับผิวหนัง (topical erythromycin) แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหรือตามที่ระบุบนฉลากยา ห้ามเปลี่ยนขนาดยาเอง
จำนวนครั้งของการใช้ยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการทายาในแต่ละครั้ง, ระยะเวลาที่ใช้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมทายาให้รีบทาทันทีที่นึกได้ อย่างไรก็ตามหากใกล้ถึงการทายาครั้งต่อไป ให้ทายาครั้งต่อไปได้เลย

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

  • หากอาการของท่านไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์หรืออาการยิ่งแย่ลง ควรกลับไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม การรักษาสิวอาจใช้เวลาตั้งแต่ 8 ถึง 12 สัปดาห์จึงจะเห็นผลชัดเจน
  • ยานี้มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์และสามารถติดไฟได้ ดังนั้นห้าม ใช้ยานี้ใกล้ความร้อน, ขณะจุดไฟหรือขณะสูบบุหรี่
  • เนื่องจากยานี้มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองหรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ทา ยานี้มีรสชาติที่ไม่พึงประสงค์หากยาเข้าปากหรือโดนริมฝีปาก ดังนั้น ควร ระมัดระวังไม่ให้ยานี้เข้าไปในตา จมูก ปากหรือเยื่อเมือกอื่นๆ และทายานี้ให้ห่างจากบริเวณดังกล่าว หากยานี้เข้าตาให้รีบล้างออกโดยเร็ว ด้วยน้ำเย็นธรรมดาปริมาณมากด้วยความระมัดระวัง หากตาของท่านยังคงมีอาการแสบร้อนหรือปวดควรไปพบแพทย์
  • ท่านไม่ควรใช้ยานี้บ่อยเกินกว่าคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหรือที่ระบุบนฉลากยา เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังของท่านแห้งเกินไปและเกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง
  • หากแพทย์ของท่านสั่งใช้ยาอื่นที่ต้องใช้ทาบนผิวหนังเป็นระยะเวลานานร่วมกับยานี้ วิธีการทาที่ดีที่สุดคือทาในเวลาที่แตกต่างกัน จะช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ยิ่งไปกว่านั้น หากใช้ยาพร้อมกันหรือระยะเวลาใกล้เคียงกัน ยาอาจออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
  • การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาและการเจริญมากไปของเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ซ้ำซ้อนได้ (superinfection)

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์หากมีอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้น
พบน้อย

  • ผิวหนังลอก แดง (จากการใช้ยาชนิดขี้ผึ้ง)

พบบ่อย
  • ผิวหนังแห้งตกสะเก็ด, ระคายเคือง, คัน, รู้สึกแสบร้อน(จากการใช้ยาน้ำใสชนิดทาภายนอกหรือยาชนิดเจล)

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Adapalene, Benzoyl Peroxide, Clindamycin (Topical), Isotretinoin, Tretinoin (Topical) , Azithromycin, Clarithromycin , Erythromycin , Roxithromycin

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Erycin ointment (อีริซิน ขี้ผึ้ง), Stiemycin alcoholic solution, Eryacne 4 gel (อิริแอคเน่ 4 เจล), Erazit anti-acne solution, Erazit anti-acne gel

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

อิริโทรไมซิน ชนิดใช้ภายนอก

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.Erythromycin . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: April 13, 2010.
  2. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: p 729-731.
  3. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Erythromycin and Benzoyl Peroxide Topical.Available at : http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=5422#nlm34071-1 Access Date: May 3, 2010.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
03 พฤษภาคม 2553 12 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย