ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 2967
Small_font Large_font

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia)

คำจำกัดความ

ในภาวะปกติ ที่บริเวณหัวใจห้องบน จะทำหน้าที่สร้างสัญญาณไฟฟ้า เพื่อมากระตุ้นการเต้นของหัวใจเอง

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) เป็นคำรวมของโรคที่เกิดจากสัญญาณไฟฟ้าที่หัวใจสร้างขึ้นมีความผิดปกติไปจากเดิม ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โดยหัวใจอาจเต้นเร็วขึ้นหรือเต้นช้าลงหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ บางภาวะไม่อันตรายและคนส่วนใหญ่มีโอกาสเป็นได้ โดยอาจรู้สึกหัวใจเต้นเร็วและแรง หรือใจสั่นเป็นครั้งคราวและหายได้เอง แต่บางโรคอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้ (sudden cardiac arrest)

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุแบ่งเป็นกลุ่มได้หลายแบบ
ถ้าแบ่งตามตำแหน่งของหัวใจที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติ : แบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ

  • หัวใจห้องบนผิดปกติ (Atrium) เช่น Atrial flutter, Atrial fibrillation, Premature atrial contraction (PAC) เป็นต้น
  • ทางเชื่อมระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่างผิดปกติ (Atrio-ventricular node) เช่น Wolff-Parkinson-White syndrome
  • Junctional arrhythmia เช่น supraventricular tachycardia
  • หัวใจห้องล่างผิดปกติ (Ventricle) เช่น Premature ventricular contraction (PVC), Ventricular fibrillation

ถ้าแบ่งตามอัตราการเต้นของหัวใจ : แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) : อัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที
  • อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ (bradycardia) : อัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที

ถ้าแบ่งตามกลไกการเกิดโรค : แบ่งได้เป็น

  • Automaticity : เกิดจากมีจุดอื่นในหัวใจสร้างกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจได้เร็วกว่าสัญญาณไฟฟ้าปกติ
  • Reentry : เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่สร้างจากจุดกำเนิดปกติในหัวใจ มากระตุ้นที่หัวใจแล้ววกกลับมากระตุ้นหัวใจใหม่อีกซ้ำๆ เป็นวงกลม

อาการ

1. การที่หัวใจเต้นผิดปกติ ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร แพทย์ก็ตรวจพบโดยบังเอิญ
2. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจรับรู้ได้ถึงหัวใจที่เต้นผิดปกติ คือ มีอาการสั่นระรัวที่บริเวณหน้าอกหรือใจสั่น : เป็นการที่ผู้ป่วยรับรู้ถึงการที่หัวใจเต้น (ในภาวะปกติ เราจะไม่รู้สึกว่าหัวใจเต้น)
3. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามหลังภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ทำให้แรงบีบตัวของหัวใจในแต่ละครั้งไม่เพียงพอจะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เจ็หน้าอก ในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว, สับสน มึนงง
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ จนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่พอ ทำให้มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมหรือ เป็นลมหมดสติ
  • มีลิ่มเลือดอยู่ในหัวใจ แล้วลิ่มเลือดหลุดไปที่เส้นเลือดส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายอุดตัน เช่น เส้นเลือดสมองตีบ , หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงแขนขาอุดตันเฉียบพลัน เป็นต้น

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับโรค แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคหัวใจบางโรคทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ,โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูงเกิน
  • เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ หรือชา/กาแฟ
  • ใช้ยาผิดวิธี
  • ภาวะเครียด
  • อาหารหรือสมุนไพรบางชนิด
  • ยาบางชนิด

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว

การตรวจร่างกาย : บ่อยครั้งที่แพทย์ตรวจพบความผิดปกติโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ ซึ่งการตรวจร่างกายสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการใช้หูฟังฟังเสียงหัวใจที่เต้นผิดปกติหรือจับชีพจรที่แขนขาแล้วรู้สึกถึงการเต้นที่ผิดปกติ การตรวจนี้มีข้อจำกัด คือ

  • สามารถบอกได้แค่คร่าวๆ ว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (คืออัตราการเต้นของหัวใจเร็วหรือช้ากว่าปกติ หรือจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ) แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร
  • ทุกสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจ โดยเฉพาะที่สร้างออกมาผิดปกติ ไม่ได้สามารถกระตุ้นให้เกิดการเต้นของหัวใจทุกครั้ง จึงไม่สามารถตรวจพบได้จากการฟังเส้นหัวใจเต้นหรือจับชีพจร

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : ประกอบด้วย

  • การตรวจด้วยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, EKG) : เป็นการตรวจที่ทำได้ง่ายๆ , ใช้เวลาไม่นานและผู้ป่วยไม่เจ็บ ทำได้โดยใช้เครื่องมือติดที่หน้าอกและแขนขา จากนั้นเครื่องจะตรวจดูสัญญาณไฟฟ้าที่หัวใจสร้าง และแปลผลออกมาเป็นกราฟ
  • การใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (Holter monitor) : ทำในกรณีที่ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วผลออกมาปกติ แต่ผู้ป่วยมีอาการที่ชวนสงสัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะคลื่นไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจอาจมีความผิดปกติเป็นๆ หายๆ ได้

ภาวะแทรกซ้อน

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจนทำให้แรงบีบตัวของหัวใจในแต่ละครั้งไม่เพียงพอจะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายขาดเลือด เช่น เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (มักพบในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อนแล้ว) , สับสนหรือมึนงง จากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ จนทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่พอ : ทำให้มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมหรือเป็นลมหมดสติ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เลือดบางส่วนคั่งค้างอยู่ในหัวใจ ไม่ไหลออกจากตามปกติ เมื่อมีเลือดค้างอยู่นานๆ เลิอดเหล่านั้นจะมารวมกันจนกลายเป็นลิ่มเลือดอยู่ในหัวใจ ซึ่งลิ่มเลือดนี้มีโอกาสจะหลุดไปอุดที่เส้นเลือดส่วนปลายได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายอุดตัน เช่น เส้นเลือดสมองตีบ (Stroke) , หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงแขนขาอุดตันเฉียบพลัน (Arterial occlusion) เป็นต้น

การรักษาและยา

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค แต่มีหลักการรักษาที่สำคัญ คือ
1.การทำให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะ กลับมาสู่ภาวะปกติ : สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยและสาเหตุของโรค คือ

  • การใช้วิธีทางกายภาพ (Physical maneuvers) : เพื่อเพิ่มระบบประสาท parasympathetic (ทำหน้าที่ยับยั้งสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและยับยั้งสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติ) เช่น การนวดบริเวณเส้นเลือดแดงที่คอ (carotid massage), การประคบน้ำแข็งที่หน้า, การให้เบ่ง เป็นต้น
  • การรักษาด้วยยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drug) : มียาหลายกลุ่มที่มีกลไลการออกฤทธิ์แตกต่างกัน แต่ช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติ เช่น ยา amiodarone
  • การใช้เครื่องผลิตสัญญาณไฟฟ้ากระตุ้นที่หัวใจของผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ (electrical cardioversion)
  • การเข้าไปทำลายจุดที่สร้างสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจ (Electrical cautery) โดยใช้ความร้อน, ความเย็น, กระแสไฟฟ้า หรือเลเซอร์ มักทำในรายที่กลไกของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจาก Automaticity ( มีจุดอื่นในหัวใจสร้างกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจได้เร็วกว่าสัญญาณไฟฟ้าปกติ)

2.ในรายที่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเป็นมานานและกำลังรอวิธีการรักษาที่ทำให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะกลับมาสู่ภาวะปกติ แพทย์จะให้การรักษาเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เหมาะสม เช่น

  • ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป แพทย์จะให้ยาช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น propranolol, verapamil, diltiazem, digoxin เป็นต้น
  • ในกรณีที่หัวใจเต้นช้าเกินไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacing, ทำหน้าที่ผลิตสัญญาไฟฟ้ามากระตุ้นให้หัวใจบีบตัว ในจังหวะที่ไม่มีสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจมากระตุ้นตามปกติ) ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

3.ให้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดหลุดไปอุดที่เส้นเลือดส่วนปลาย
ได้แก่ ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น aspirin) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น warfarin) แพทย์จะเลือกใช้ยาตัวใด ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดหลุดไปอุดที่เส้นเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองตีบ

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Aspirin, Diltiazem, Verapamil, amiodarone, propranolol, digoxin, warfarin

แหล่งอ้างอิง

1. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. ตำราอายุรศาสตร์4. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550, 245-259.
2. Anthony S.Fauci, Eugene Braunwald, et al, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 17th edition. 2008, 1416-1442.
3. Ziad F.Issa, John M.Miller, Douglas P.Zipes, editors. Clinical arrhythmology and electrophysiology. 2009.
4. ชาญ ศรีรัตนสถาวร, รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ และคณะ , บรรณาธิการ. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บียอนด์ พับลิสซิ่ง จำกัด. พิมพ์ครั้งที่2. 2546.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย