กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ โดยเริ่มจัดในปี 2553 เป็นปีแรกในประเทศไทย และตั้งเป้าจะลดการตายจากการจมน้ำของเด็กให้ได้ปีละอย่างน้อย 100 คน
จากการสำรวจเด็กไทยอายุ 5-14 ปีที่มีจำนวน 13 ล้านกว่าคนทั่วประเทศในปี 2549 พบเด็กวัยนี้ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 หรือจำนวน 2 ล้านคน กล่าวได้ว่ายังมีเด็กไทยที่ว่ายน้ำไม่เป็น 11 ล้านคน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เสี่ยงเสียชีวิตหากตกน้ำหรือจมน้ำ เนื่องจากไม่สามารถเอาตัวรอดได้ โดยมีเด็กจมน้ำเข้ารักษาตัวและนอนในโรงพยาบาลปีละ 1,150 ราย มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลปีละกว่า 12 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 12,000 บาท ระยะเวลานอนในโรงพยาบาลสูงสุดประมาณ 201 วัน สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยว่ายน้ำไม่เป็น เนื่องจากโอกาสที่จะฝึกว่ายน้ำของเด็กไทยอยู่ในวงจำกัด การสอนว่ายน้ำที่มีอยู่ยังขาดทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด การป้องกันอุบัติภัยทางน้ำและการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ
ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกจังหวัด เร่งสร้างป้องกันเด็กจมน้ำให้เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป หรือในผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำไม่เป็น ในเดือนพฤษภาคมนี้จะจัดอบรมเพื่อให้เป็นครูสอนว่ายน้ำตามหลักสูตรว่ายน้ำ เพื่อเอาชีวิตรอด ที่ จ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้หากเด็กสามารถฝึกฝนทักษะดังกล่าวได้จนชำนาญ จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต และเด็กไทยก็จะไม่เสียชีวิตจากการจมน้ำ
ในการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ สามารถทำได้หลายวิธี กรณีไม่มีอุปกรณ์เกาะพยุงตัวให้ใช้วิธีลอยตัวในน้ำ เช่น การลอยตัวแบบแม่ชีลอยน้ำ แต่หากมีอุปกรณ์เช่น ขวดน้ำเปล่าพลาสติกก็สามารถใช้เกาะพยุงตัวได้ และถึงแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น แต่หากพลัดตกลงไปในน้ำที่ห่างจากฝั่งมากๆ อาจจะไม่สามารถว่ายน้ำเข้าหาฝั่งได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการลอยตัวอยู่ให้ได้นานที่สุด เพื่อรอการช่วยเหลือ
ที่มา กระทรวงสาธารณสุข