ระทรวงสาธารณสุข อนุมัติโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชนทั่วประเทศด้านสุขภาพอนามัยและ พัฒนาการของเด็ก โดยอนุมัติงบกลางจำนวน 265 ล้านบาท ในปี 2553 ใช้งบ 94 ล้านบาท และในปี 2554และ 2555ให้ตั้งงบประมาณปกติ
จากปัญหาเด็กประถมวัยเจริญเติบโตไม่สมวัยทั้งทางร่างกายและสมอง ทำให้จำเป็นต้องพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน โดยตามโครงการนี้ มีแผนดำเนินการ 3 แผนใหญ่
แผนแรกการมอบหนังสือเล่มแรกหรือบุ๊ค สตาร์ท (Book start) จำนวน 3 เล่มให้พ่อแม่ นำไปเป็นสื่อพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดทั่วประเทศ เล่มแรกชื่อว่า“ตั้งไข่ล้ม” จะมอบให้กับแม่ทุกคนที่คลอดบุตรตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2552 – 10 ธันวาคม 2553 และเมื่อเด็กอายุ 6 เดือน จะมอบเล่มที่ 2 ชื่อหนังสือ “ติ๊กต่อก” ซึ่งจะมอบในวันที่มาฉีดวัคซีน และเล่มที่ 3 มอบหนังสือ “นิทานอีสป”ให้เมื่ออายุครบ 1 ขวบในวันที่มาฉีดวัคซีนเช่นกัน
จากการวิจัย พบว่าเด็กที่ฟังการอ่านหนังสือตั้งแต่แรกคลอด จะมีพัฒนาการทางร่างกายและสมองดีกว่าเด็กที่ปล่อยไปตามยถากรรมหรือปล่อยไป ตามปกติหลายเท่าตัว ในแผนที่ 2 จึงเป็นการอบรม อสม. โดยในปี 2553 กรมอนามัยได้จัดทำหลักสูตรอบรม อสม.และเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ในการเล่านิทาน สามารถแนะนำวิธีการเล่านิทาน การอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟัง แก่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก เพื่อที่จะได้นำหนังสือทั้ง 3 เล่ม ไปอ่านให้ลูกฟังอย่างถูกต้อง และแผนที่3. จะเป็นการอบรมพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงที่ปฏิบัติงานศูนย์เด็กเล็ก 375 แห่งให้มีความรู้ ทักษะในการเล่านิทาน
ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายไว้ 3 ปี คือปี 2553 -2555 ต้องผ่านตามเกณฑ์ชี้วัดชัดเจน เช่น ด้านกายภาพ เครื่องมือของศูนย์ ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับเด็ก เช่น น้ำหนักตัว ส่วนสูง และพัฒนาการที่จะต้องสอดคล้องกับอายุ รวมทั้งยังได้เตรียมแผนงานโครงการในอนาคต คือ จะให้หญิงตั้งครรภ์กินไอโอดีน เพื่อช่วยเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสมองและร่างกายตามวัย
นอกจากนั้นก็จะมีโครงการเยี่ยมบ้านที่มีเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึง 5 ขวบ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วนแผนงานในการบริหารจัดการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับชุมชน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น
ที่มา กระทรวงสาธารณสุข