อ่าน: 1296
Small_font Large_font

Thalidomide (ทาลิโดไมด์)

คำอธิบายพอสังเขป

ทาลิโดไมด์ (thalidomide) เคยใช้ในการป้องกันอาเจียนและใช้กล่อมประสาทในสตรีมีครรภ์เมื่อประมาณปีค.ศ. 1950 แต่ทำให้ทารกวิรูป คือ ทารกที่เกิดออกมาผิดปกติ และมีความพิการในหลายลักษณะ เช่น ไม่มีมือและเท้า มีทารกที่คาดว่าพิการจากยานี้เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย จนทำให้ต้องหยุดจำหน่ายยานี้ไประยะหนึ่ง แต่ต่อมาพบว่ายานี้มีฤทธิ์ควบคุมภูมิคุ้มกัน (immunomodulators) และสามารถรักษาโรคมะเร็งและโรคผิวหนังบางชนิดได้ ปัจจุบันจึงมีการนำยานี้กลับมาใช้อีก และใช้รักษาโรคดังนี้
มะเร็งไขกระดูกเหตุพลาสมาเซลล์ (multiple myeloma)

  • ใช้ร่วมกับเดกซาเมทาโซน (dexamethasone)ในการรักษามะเร็งไขกระดูกเหตุพลาสมาเซลล์ (multiple myeloma)

ทาลิโดไมด์ อาจใช้เพื่อรักษาโรคอื่น ๆได้อีก เช่น รักษาโรคผิวหนังที่เป็นอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเรื้อน (erythema nodosum leprosum) เป็นต้น ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมี ประวัติการแพ้ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) มีผลทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกเเล้วใหม่ ๆ ควรงดรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก หากต้องการรับประทานควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างใช้ยานี้

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'X' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์หรือมนุษย์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ หรือมีหลักฐานชัดเจนจากการใช้ในมนุษย์ว่าเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้นห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์

โปรดแจ้งแพทย์หากกำลังวางแผนจะมีบุตร เนื่องจาก ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) ทำให้เกิดทารกวิรูป แม้ว่าจะได้รับยาเพียงแค่ครั้งเดียว สตรีวัยเจริญพันธุ์ควรใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพหากจะใช้ยานี้ และเพือความปลอดภัยควรโดยใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 วิธี โดยเริ่มคุมกำเนิด 1 เดือนก่อนที่จะใช้ยา ระหว่างใช้ยา และหลังหยุดยาไปแล้ว 1 เดือน

กำลังให้นมบุตร

โปรดแจ้งแพทย์หากท่านกำลังให้นมบุตร หรือตั้งใจจะให้นมบุตรในระหว่างที่ได้รับยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง จึงไม่แนะนำให้ทารกได้รับน้ำนมมารดาระหว่างใช้ยานี้

เด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาในผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

ผู้สูงอายุ

จากการศึกษาการใช้ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) ร่วมกับเดกซาเมทาโซน (dexamethasone)ในการรักษามะเร็งไขกระดูกเหตุพลาสมาเซลล์ (multiple myeloma) โดยมีผู้ป่วยร้อยละ 50 ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี พบว่าไม่มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือปัญหาใด ๆ ที่แตกต่าง กับการใช้ยานี้ในวัยอื่น ๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย

แอลกอออล์ (alcohol) ฟีโนบาร์บิทาล (phenobarbital)
คลอร์โพรมาซีน (chlorpromazine) รีเซอร์พีน (reserpine)
คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) ซิสแพลทิน (cisplatin)
แดพโซน (dapsone) ไดดาโนซีน (didanosine)
อีแทมบิวทอล (ethambutol) อีไทโอนาไมด์ (ethionamide)
ไฮดราลาซีน (hydralazine) ไอโซไนอาซิด (isoniazid)
ลิเทียม (lithium) เมโทรนิดาโซล (metronidazole)
ไนโทรฟิวแรนทอยด์ (nitrofurantoin) เฟนิทอยด์ (phenytoin)
สทาวูดีน (stavudine) วินคริสทีน (vincristine)
ซาลซิทาบีน (zalcitabine) คาร์บามาเซพีน (carbamazepine)
กริซีโอฟูลวิน (griseofulvin) อินดินาเวียร์ (indinavir)
ริโทนาเวียร์ (ritonavir) ซาควินาเวียร์ (saquinavir)
ไรแฟมพิซิน (rifampicin) ไซโคลสพอริน (cyclosporine)
โดซีแทกเซล (docetaxel) มิดาโซแลม (midazolam)
กรดโซเลโดรนิค (zoledronic acid)

อาจมียาอีกหลายชนิดที่ไม่ควรใช้ร่วมกับยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคอีสุกอีใส อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคงูสวัด อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ภาวะเลือดจาง หรือ
  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ —-ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) จะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคตับหรือไต
  • โรคลมชัก
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาท

การใช้ที่ถูกต้อง

ยามีจำหน่ายในรูปแบบแคปซูลชนิดรับประทาน

  • ยานี้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • รับประทานยา โดยกลืนยาทั้งเม็ด แล้วดื่มน้ำตามมากๆ ไม่ควรเคี้ยว เปิด หรือแบ่งยาแคปซูล
  • ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ใช้ยาจนครบระยะเวลาการรักษา
  • ควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตามแพทย์นัด รับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หรือตามที่ฉลากระบุ
จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้น อยู่กับสภาวะโรคของท่าน

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยา ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า และแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเก็บรักษา

  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

**_ควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตามแพทย์นัด ให้ยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง_

  • ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) อาจทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรือภาวะเลือดออกง่าย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่นๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องเสีย เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่
  • ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) ท่านไม่ควรได้รับวัคซีนใด ๆ โดยไม่ได้แจ้งแพทย์ เนื่องจากยาทำให้ภูมิคุ้มกันของท่านลดลง และมีโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนที่ท่านได้รับ นอกจากนี้บุคคลที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ควรได้รับวัคซีนโปลิโอ เพราะอาจทำให้ท่านได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอได้
  • ควรพบแพทย์ทันทีถ้าท่านมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • การใช้ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดะภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ (deep venous thrombosis) และภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดในปอด (pulmonary embolism) ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อใช้ยาทาลิโดไมด์ร่วมกับยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆ หากท่านมีอาการหายใจได้สั้น, เจ็บแน่นหน้าอก, แขนหรือขาบวม ควรรีบกลับไปพบแพทย์โดยด่วน
  • ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) มักทำให้เกิดอาการง่วงซึม ควรหลีกเลียงการใช้ยาร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาท และหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
  • ยาทาลิโดไมด์ (thalidomide)สามารถทำลายเส้นประสาทอย่างถาวร ผู้ป่วยอาจมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลายที่รุนแรงหลังจากไปไม่กี่เดือน โดยมีอาการชา รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มตำปลายมือ ปลายเท้า โดยอาการอาจจะค่อย ๆ หายไปอย่างช้า ๆ หลังหยุดยา หรือไม่หายก็ได้
  • มีรายงานการเกิดผื่นผิวหนังจากการใช้ยาที่ดำเนินไปกลายเป็นอาการทางผิวหนังรุนแรงขึ้น เช่น ลักษณะผื่นแดงแบบหลายรูปแบบหรืออีรีทีมามัลติฟอร์ม (erythema multiforme), การแพ้ยาอย่างรุนแรงแบบมีการตายและสลายของหนังกำพร้า (toxic epidermal necrolysis) และกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) หากเกิดอาการทางผิวหนังควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

เนื่องจากยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) สามารถออกมากับน้ำอสุจิได้ ผู้ป่วยเพศชายที่ใช้ยานี้ควรสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่อาจตั้งครรภ์ได้ ทั้งในระหว่างใช้ยาและภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังจากใช้ยานี้ หากท่านบังเอิญมีเพศสัมพันธ์กับสตรีวัยเจริญพันธุ์โดยไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ ให้แจ้งแพทย์ที่รักษาท่านทราบในทันที

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. แจ้งแพทย์หรือพยาบาลผู้ดูแลทันทีหากมีอาการต่อไปนี้
พบบ่อย

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ชา แสบร้อน รู้สึกเหมือนมีเข็มตำปลายมือ ปลายเท้า

พบน้อย
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปริมาณปัสสาวะลดลง
  • ไข้
  • เจ็บคอ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ความดันต่ำ
  • ผื่นผิวหนัง

ไม่ทราบอุบัติการณ์
  • แผลพุพอง
  • ชัก
  • ผิวหนังลอก
  • กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)

ข.อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่อง จากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบบ่อยมาก

  • ท้องผูก
  • ท้องร่วง
  • คลื่นไส้
  • ง่วงซึม
  • ปวดท้อง

พบไม่บ่อย
  • ปากแห้ง
  • ผิวแห้ง
  • ปวดศีรษะ
  • ขาบวม

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Altretamine , Arsenic trioxide , Asparaginase or L-asparaginase , Bleomycin , Dactinomycin or Actinomycin D, Hydroxyurea , Tretinoin (oral), antineoplastic agent

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Thalidomide Pharmion 50 mg hard capsules (ทาลิโดไมด์ ฟาร์มิออน 50 มก.ฮาร์ดแคปซูล), Thalidomide Celgene 50 mg hard capsules (ทาลิโดไมด์ เซลจีน 50 มก.ฮาร์ดแคปซูล)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Thalidomide . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: Aug 4, 2010.
  2. วิลาวัณย์ พิชัยรัตน์ และ สมสมัย สุธีรศานต์. การดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด [สำหรับผู้ป่วยเเละครอบครัว] พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. 2552 หน้า 5-19
  3. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: Sep 26, 2010.
  4. Dailymed current medication information . Thalidomide. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/about.cfm Date: Sep 26, 2010.
  5. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 26/9/2010).
  6. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Thalidomide (Systemic) Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  7. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals: Thalidomide Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/lexicomp/thalidomide.html Access Date: Sep 26, 2010.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
10 ตุลาคม 2553 12 ธันวาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย