อ่าน: 21729
Small_font Large_font

Omeprazole (โอเมพราโซล )

คำอธิบายพอสังเขป

โอเมพราโซล (omeprazole) เป็นยาในกลุ่มยับยั้งการหลั่งกรดกลุ่มยับยั้งการปั๊มโปรตอน (proton pump inhibitors) หรือเรียกย่อว่า กลุ่มพีพีไอ (PPIs) ทำให้ลดการสร้างกรดจากกระเพาะอาหาร

ใช้สำหรับรักษาสภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป ใช้สำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โรคกรดไหลย้อน (gastro-oesophageal reflux disease) หรือ ที่เรียกย่อว่าเกิร์ด (GERD) ที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนไปยังหลอดอาหาร บางครั้งอาจใช้โอเมพราโซล (omeprazole) ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori)

โอเมพราโซล (omeprazole) ยังใช้สำหรับรักษากลุ่มอาการโซลลิงเกอร์-เอลลิสัน (Zollinger–Ellison syndrome) ซึ่งเกิดจากการที่กระเพาะอาหารสร้างกรดมากเกินไป

โอเมพราโซล (omeprazole) ยังใช้สำหรับรักษาภาวะอาหารไม่ย่อยที่เกิดจากกระเพาะอาหารสร้างกรดมากเกินไป, เรอหรือแสบร้อนยอดอก

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาโอเมพราโซล (omeprazole) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ แต่การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าโอเมพราโซล (omeprazole) อาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนในครรภ์

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ แต่การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าโอเมพราโซล (omeprazole) อาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนในครรภ์

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ แต่การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าโอเมพราโซล (omeprazole) อาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

โอเมพราโซล (omeprazole) อาจผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ แต่เคยมีรายงานว่ายานี้ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ว่าควรเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นหรือหยุดให้นมบุตรในช่วงที่ทำการรักษา

เด็ก

ไม่มีข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงในการเปรียบเทียบการใช้โอเมพราโซล (omeprazole) ในเด็กกับช่วงอายุอื่นๆ

ผู้สูงอายุ

มียาหลายชนิดที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจงในประชากรผู้สูงอายุ ดังนั้นอาจยังไม่ทราบการทำงานที่แท้จริงว่ามีการทำงานในทำนองเดียวกันกับวัยอื่น หรือทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่แตกต่างกันหรือปัญหาอื่นๆ ในผู้สูงอายุ ยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบที่เฉพาะเจาะจงในการใช้โอเมพราโซล (omeprazole) ในผู้สูงอายุกับกลุ่มช่วงอายุอื่น

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานโอเมพราโซล (omeprazole) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับโอเมพราโซล (omeprazole) อาจทำให้ระดับยาเหล่านี้ในเลือดสูงขึ้น อาจทำให้โอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเหล่านี้เพิ่มขึ้น

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants)
  • ไดแอซิแพม (diazepam)
  • เฟนิทอยน์ (phenytoin)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาการเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้โอเมพราโซล (omeprazole) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย

  • โรคตับหรือมีประวัติเคยเป็นโรคตับ ภาวะนี้อาจทำให้โอเมพราโซล (omeprazole) สะสมในร่างกายเพิ่มขึ้น

การใช้ที่ถูกต้อง

ควรรับประทานโอเมพราโซล (omeprazole) รูปแบบแคปซูลก่อนอาหารเช้า

สำหรับบรรเทาอาการปวดท้องอาจใช้เวลาหลายวันจึงเห็นผลของยานี้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดอาจรับประทานยาลดกรดร่วมกับโอเมพราโซล (omeprazole) แต่ไม่ควรใช้ร่วมกันหากแพทย์ไม่ได้แจ้งท่าน

รับประทานโอเมพราโซล (omeprazole) โดยกลืนทั้งแคปซูล

  • ห้ามเปิดแคปซูล เว้นแต่กรณีที่แพทย์สั่งให้ยาทางสายให้อาหาร
  • ห้ามบด, หักแบ่งหรือเคี้ยวแคปซูล

ควรรับประทานยานี้ให้ครบระยะเวลาที่แพทย์สั่งแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการและแพทย์จะบอกท่านเองว่าหยุดยาได้เมื่อไร

ขนาดยา

ขนาดยาของโอเมพราโซล (omeprazole) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร หรือ ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

ควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษา หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการยิ่งแย่ลงควรกลับไปพบแพทย์

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันทีหากท่านมีอาการเหล่านี้

พบน้อยมาก

  • ปวดหลัง ขา หรือกระเพาะอาหาร, ปวดข้อ
  • มีเลือดออกหรือริมฝีปากเป็นแผ่นและปวด, มีตุ่มน้ำใส
  • ปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีสีขุ่น, มีไข้, ปัสสาวะบ่อย
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • ตาแดงหรือระคายเคืองตา
  • ผิวหนังมีสีแดง, แข็งกดเจ็บ, คัน, ปวดแสบปวดร้อน,หรือผิวหนังหลุดลอก
  • เจ็บคอ
  • ปวด เป็นแผลหรือเป็นจุดขาวที่ริมฝีปาก ในปากหรือที่อวัยวะเพศ
  • มีเลือดออกผิดปกติหรือมีรอยช้ำ
  • เหนื่อยหรืออ่อนเพลียผิดปกติ

อาการแสดงของการได้รับยาเกินขนาด

  • มองภาพไม่ชัด, สับสน, ง่วงซึม, ปากแห้ง, หายใจเร็วหรือผิดปกติ, หน้าแดง, รู้สึกไม่สบายตัว, ปวดศีรษะ, เหงื่อออกมากขึ้น, คลื่นไส้

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • ปวดท้อง

พบน้อย

  • ปวดหลัง, ปวดหน้าอก, แสบร้อนยอดอก, ปวดกล้ามเนื้อ
  • ท้องผูก, ท้องร่วงหรือถ่ายเหลว, มีแก๊สในกระเพาะอาหาร, คลื่นไส้และอาเจียน
  • มึนงง, ปวดศีรษะ, ง่วงซึมผิดปกติ, เหนื่อยล้าผิดปกติ
  • มีผื่นคัน

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Lansoprazole, Pantoprazole, Rabeprazole

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Airomet-Aom (แอร์โอเมท-เอโอเอ็ม), Desec (ดีเสค), Dosate (โดเสท), Duogas (ดูโอแก๊ส), Eucid (capsules) (ยูซิด (แคปซูล)), Gaster (แกสเตอร์), Gomec (โกเมค), Lokit, Lomicid (โลมิสิด), Losec MUPS, Madiprazole (มาดิพราโซล), Meiceral, Metsec (เมทเซค), Miracid (มิราซิด), Moprix, Mosec, Nocid (โนซิด), Ocid, Olit, Omeman (โอมีแมน), Omepac (โอมิแพค), Omeprazole GPO, Omeprazole March Pharma, Omesec (โอมิเส็ค), Omez, Omezole (โอมีโซล), Omicap, Omlek 20, Opramed (โอพราเมด), Oprazole Atlantic, O-Sid (โอ-สิด), Probitor, Sanosec (ซาโนเส็ค), Seto-o (ซีโต้-โอ), Stomec (สโตเม็ค), Ulpracid (อัลพราซิด), Ulprazole (อัลพราโซล), Zefxon (เซฟซอน), Zigacap (ซิก้าแคป)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

โอมิพราโซล

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 1265-6.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 14, 2009).
  3. Joint Formulary Committee. British National Formulary. 57th ed. London: British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain, 2009: 49-50.
  4. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

นรวร เจนณรงค์ , หทัยรัตน์ คังคะสุวรรณ
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
14 ตุลาคม 2552 16 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย