อ่าน: 3929
Small_font Large_font

Furosemide (ฟูโรซีไมด์ )

คำอธิบายพอสังเขป

ฟูโรซีไมด์ (furosemide) จัดเป็นยาในกลุ่มยาขับปัสสาวะ กลุ่มลูปไดยูเรติก (loop Diuretic) ออกฤทธิ์ยับยั้งการเก็บกลับโซเดียม และ ครอไรด์ ที่บริเวณท่อของหน่วยไต ส่งผลให้เพิ่มการขับออกของปัสสาวะและเกลือแร่ เช่น โซเดียม ครอไรด์ แมกนีเซียม และ แคลเซียม ทำให้ลดปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ช่วยลดความดันเลือดและอาการบวมน้ำได้

ยานี้ใช้สำหรับรักษาภาวะคั่งน้ำหรือบวมน้ำ ที่มีสาเหตุจากโรคความดันเลือดสูงที่อยู่ในระดับอ่อนถึงปานกลาง รักษาภาวะคั่งน้ำหรือบวมน้ำ ที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจล้มเหลว,โรคไต, โรคตับ, โรคปอด, และภาวะบวมน้ำ เนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การอุดตันของเส้นเลือดดำ และรักษาความดันเลือดสูงโดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือร่วมกับยาลดความดันตัวอื่นได้

ยานี้ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาโรคความดันเลือดสูงให้หายขาด เพียงแต่ช่วยควบคุมความดันเลือดไว้ โดยต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารเค็ม การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนักในรายที่น้ำหนักเกิน

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาฟูโรซีไมด์ (furosemide) หริอ ยาอื่นในกลุ่มนี้ หรือ ยาในกลุ่มซัลฟา เช่น ซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide), ซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylureas) หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

ตัวอย่างอาการแพ้ยา เช่น มีอาการ, ผื่น, คัน, ผื่นแพ้, ผื่นแดง, ลมพิษ, หายใจลำบาก, หน้าบวม, ตาบวม, บวมกดไม่บุ๋ม (angioedema), หลอดเลือดอักเสบ, ผิวหนังแดงแบบหลายรูป (erythema multiforme), ผิวหนังอักเสบหลุดลอกเป็นแผ่น (exfoliative dermatitis), แอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis), ตุ่มพอง, ผิวลอก, กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ซึ่งจะมีภาวะเป็นตุ่มพองตามผิวหนังและเยื่อบุ เช่น ตา ปาก คัน อ่อนเพลีย ปวดข้อ และมีไข้, การตายแยกสลายของหนังกำพร้าเหตุพิษ (toxic epidermal necrosis) หรือที่เรียกย่อว่า เท็น (TEN)

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น อีฟีดา (ephedra), ชะเอม, โสม, กระเทียม, โยฮิมบีน (yohimbe)
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และสารเสพติด เนื่องจากอาจมีผลต่อการทำงานของยานี้

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

หลีกเลี่ยง การใช้ยาฟูโรซีไมด์หากตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะมีครรภ์ เพราะยาสามารถผ่าน รกได้ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงทารกในครรภ์ เช่น ทำให้ขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น หรือรบกวนสมดุลเกลือแร่ นอกจากนี้มารดาที่ใช้ยานี้จะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงทารกลดลงและอาจเป็นอันตรายได้

แต่จัดเป็น pregnancy D หากใช้ในผู้ป่วยความดันเลือดสูงขณะตั้งครรภ์ (gestational hypertension) เนื่องจากสตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคนี้มีภาวะปริมาตรเลือดต่ำ (hypovolemia) อยู่แล้ว จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยาขับปัสสาวะ

กำลังให้นมบุตร

หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้หากให้นมบุตร เพราะยาผ่านน้ำนมแม่ไปยังเด็กได้ ถึงแม้ไม่พบว่ายามีอันตรายต่อเด็กก็ตาม

เด็ก

ไม่ควรใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

ผู้สูงอายุ

  • ไม่ควรลุกขึ้นยืนหรือลุกนั่งจากท่านอนเร็วเกินไปโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการวิงเวียนหรือหมดสติ
  • ยานี้จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการขาดน้ำในผู้สูงอายุ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ระมัดระวังการใช้ฟูโรซีไมด์ (furosemide) ร่วมกับยาต่อไปนี้

  • ยาลดความดันกลุ่มยับยั้งแอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอ็นไซม์ (ACE inhibitors) เช่น อีแนลาพริล (enalapril), แคปโทพริล (captopril), รามิพริล (ramipril), เพอรินโดพริล (perindopril), ควินาพริล (quinapril)
  • ยาลดความดันและยาขับปัสสาวะกลุ่มอื่น ๆ
  • ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม อะมิโนไกรโคไซด์ (aminoglycoside) เช่น อะมิคาซิน (amikacin), เจนตามิซิน (gentamicin), นีโอไมซิน (neomycin), โทบราไมซิน (tobramycin), สเตรปโตไมซิน (streptomycin)
  • ยากลุ่มยับยั้งสารสื่อประสาท (neuromuscular-blocking agent) เช่น เวคูโรเนียม (vecuronium), แพนคูโรเนียม (pancuronium)
  • กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac), ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen), แอสไพริน (aspirin), อินโดเมทาซิน (indomethacin), เพียร็อกซิแคม (piroxicam), เซเลโคสิป (celecoxib)
  • ยาฆ่าเชื้อกลุ่มเซฟาโลสปอริน เช่น เซฟฟาเล็กซิน (cephalexin), เซฟฟูร็อกซีม (cefuroxime)
  • กลุ่มยารักษาโรคเบาหวาน เนื่องจากยานี้อาจจะไปต้านฤทธิ์ยากลุ่มนี้ได้
  • ยาอื่น ๆ เช่น อัลโลพูรินอล (allopurinol), อะมิฟอสทีน (amifostine), ริทูซิแม็บ (rituximab), คอร์ติโคเสตียรอยด์ (corticosteroid), เฟนิทอยน์ (phenytoin), ดิจอกซิน (digoxin)

ยังมียาหลายชนิดที่ไม่ควรใช้ร่วมกับฟูโรซีไมด์ (furosemide) ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

  • ห้ามใช้ยานี้หากมีภาวะโรคไตที่รุนแรง หรือ มีภาวะซึ่งปัสสาวะได้น้อย หรือ ปัสสาวะไม่ออก หรือ โรคตับที่รุนแรง
  • ห้ามใช้ฟูโรซีไมด์ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ หรือสารเคมีในร่างกาย เช่น ภาวะที่มีแคลเซียม, โพแทสเซียม, โซเดียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ หรือในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ หรือเพิ่งสูญเสียเลือดในปริมาณมาก
  • ระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะหรือโรคต่อไปนี้: โรคเบาหวาน, โรคเกาต์, มีปัญหาการได้ยิน, ตับอ่อนอักเสบ, ผู้ที่เพิ่งมีภาวะหัวใจล้ม (heart attack), โรคไต, โรคตับ, โรคลักษณะผิวหนังแดงลูปัส (lupus), โรคเอสแอลอี (SLE), โรคการสร้างเม็ดเลือดบกพร่อง (blood dyscrasias )

การใช้ที่ถูกต้อง

  • สามารถรับประทานยานี้ได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร อาจรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่อาจมีผลลดระดับยาในเลือดได้
  • รับประทานยาตามขนาดยาที่แนะนำโดยแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง ขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน
  • ควรรับประทานยาในมื้อเช้า หากรับประทานยาวันละครั้ง และถ้าต้องรับประทานยามากกว่าหนึ่งมื้อในหนึ่งวัน ไม่ควรรับประทานมื้อสุดท้ายหลังเวลา 18.00 น เพื่อป้องกันการปัสสาวะในเวลากลางคืน ซึ่งจะรบกวนการนอนหลับได้
  • ยานี้ต้องรับประทานต่อเนื่อง อย่าหยุดยาเอง โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรแม้รู้สึกอาการดีขึ้น โดยเฉพาะในโรคความดันเลือดสูง ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่าตัวเองปกติ เพราะไม่มีอาการใดที่เป็นปัญหา

ขนาดยา

ขนาดยาของยาฟูโรซีไมด์ (furosemide) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับสภาวะโรคของท่าน**ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด**

เมื่อลืมใช้ยา

ให้รับประทานทันทีทีนึกได้ ถ้าใกล้เวลาของมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปโดยใช้ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บยาในซองทึบหรือขวดสีชาที่ปิดสนิท อย่าให้โดนแสงโดยตรง
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้องไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส อย่าเก็บในที่ร้อน
  • เก็บยาในที่แห้ง อย่าเก็บในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาทุกชนิดให้พ้นสายตาและมือเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่ได้รับมา และหากมียาเหลือหลังจากแพทย์สั่งให้หยุดใช้ ควรส่งคืนยาแก่เภสัชกร
  • ไม่ใช้ยานี้หลังจากวันหมดอายุ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการทิ้งยานี้

ข้อควรระวัง

  • ยานี้อาจทำให้ร่างกายสูญเสียธาตุโพแทสเซียมได้ ดังนั้นแพทย์อาจสั่งจ่ายธาตุโพแทสเซียมเสริมห้กับท่าน หรืออาจแนะนำให้ท่านรับประทานอาหารบางชนิดที่มีธาตุโพแทสเซียมในปริมาณสูง เช่นกล้วย ส้ม มะขามหวาน ลองกอง เพิ่มมากขึ้น
  • ยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะ อย่าขับรถ ควบคุมเครื่องจักร ปีนที่สูง หรือทำงานที่เสี่ยงอันตราย จนกว่าจะแน่ใจยาไม่มีผลต่อตัวท่านและควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะมากขึ้น
  • เพื่อลดอาการเวียนศีรษะ ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ
  • ยานี้ทำให้ผิวไวต่อแสงกว่าปกติ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือสวมเสื้อผ้าป้องกันอย่างมิดชิด และควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด
  • ต้องผ่าตัดหรือถอนฟัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าท่านกำลังรับประทานยานี้อยู่
  • อย่าใช้ยานี้ก่อนปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะมีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

อาการไม่พึงประสงค์

ก.อาการข้างเคียงที่รุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบ เช่น

  • อาการแพ้ยา
  • ความดันเลือดต่ำรุนแรง หลอดเลือดหัวใจอักเสบทำให้ตายเฉพาะส่วน (chronic aortitis necrotizing angiitis), หลอดเลือดดำอักเสบมีลิ่มเลือด (thrombophlebitis), หัวใจหยุด (cardiac arrest), หัวใจเต้นช้า, อัตราหัวใจเต้นเร็วที่มีจุดกำเนิดเหนือหัวใจห้องล่าง (tachycardia suppraventricular)
  • เวียนศีรษะรุนแรงคล้ายจะหมดสติ รู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia), กระสับกระส่าย
  • ปวดท้องรุนแรง, ตับอักเสบ, ตับวาย, ดีซ่าน, ระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้น, ตับอ่อนอักเสบ, ตัวเหลืองตาเหลือง, คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง, โรคสมองเหตุจากตับ (hepatic encephalopathy)
  • เลือดผิดปกติ เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวแกรนูโลไซต์น้อย, เลือดจาง, ภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด, เม็ดเลือดขาวต่ำ, ผิวหนังเป็นสีม่วง (purpura), มีจ้ำเลือด, เกล็ดเลือดน้อย, เลือดออกผิดปรกติ
  • การเห็นภาพเป็นสีเหลือง, ตาพร่า
  • เป็นพิษต่อหู, สูญเสียการได้ยิน, มีเสียงในหู
  • มีอาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับไต, การทำงานของไตลดลง, ไตวาย, ไตอักเสบ, ปัสสาวะมีน้ำตาล, ปัสสาวะบ่อย, โรคนิ่วในไต

ข. อาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องร่วง, ท้องผูก, อ่อนแรง, ล้า, เวียนศีรษะ, ความดันเลือดตกขณะเปลี่ยนท่า, ปวดศีรษะ, ไข้, รู้สึกหมุน, ผิวหนังไวต่อแสง, เกาต์, น้ำตาลในเลือดสูง, เกลือแร่ในร่างกายต่ำ เช่น แคลเซียม โซเดียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม, ภาวะเลือดเป็นด่าง (metabolic alkalosis), เบื่ออาหาร, ตะคริว, ระคายเคืองทางเดินอาหาร, การหดเกร็งของกระเพาะปัสสาวะ, โรคเอสแอลอี (SLE) กำเริบ, ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน, ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น, ขาดวิตามิน, มวลกระดูกลดลง, กระดูกหัก แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรือทนไม่ได้หรือเกิดต่อเนื่อง ให้ไปพบแพทย์ทันที

ค. หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวกับยานี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • โรคความดันเลือดสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมให้ความดันเลือดอยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนจากความดันเลือดที่สูงผิดปกติเช่นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด อัมพาต หัวใจวาย เป็นต้น
  • โรคหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ
  • ถ้าได้ยานี้มากเกินขนาดอาจมีอาการ หน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลียมาก ปัสสาวะลดลงมาก ทั้งนี้หากมีอาการรุนแรงรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Amiloride, Amiloride and Hydrochlorothiazide, Hydrochlorothiazide , Spironolactone

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Dema tablets, Dirine tablets, Femide tablets, Frusemide tablets, Frusil tablets, Fudirine tablets, Furetic tablets, Furide tablets, Furine 40 tablets, Furomed tablets, Furomide tablets, Furosemide GPO tablets, Furozide tablets, Fuseride tablets, Fusesian tablets, Lasix tablets, Prosix tablets, Rosemide tablets, T P Furosemide tablets, Furosic tablets (ฟูโรสิค)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

ฟิวโรซีไมด์

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 16 May, 2010.
  2. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com. Access Date: 25 March, 2010.
  3. Friedman P.A. and Berndt W.O., Diuretic drug, In Modern pharmacology with clinical application, 6th ed, pp. 244-51. Craig C.R. et al., Lippincott Williams & Wilkins, 2003.
  4. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook with international trade names index. 18th ed. Ohio: Lexi Comp In; 2009.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Loop Diuretic. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

panupong puttarak
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
17 พฤษภาคม 2553 23 กันยายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย