อ่าน: 351
Small_font Large_font

Etoposide (อีโทโพไซด์)

คำอธิบายพอสังเขป

อีโทโพไซด์ (etoposide) เป็นอนุพันธุ์ของโพโดฟิลโลทอกซิน (podophyllotoxin derivatives) มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โทโพไอโซเมอเรสชนิดที่สอง(topoisomerase II)ที่ทำหน้าที่ตัดและเชื่อมสายดีเอ็นเอชนิดสายคู่ (double strand DNA) ระหว่างกระบวนการถ่ายแบบดีเอ็นเอ (DNA replication) และ การถอดรหัสดีเอ็นเอ (DNA transcription) ของเซลล์มะเร็ง
อีโทโพไซด์ใช้รักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น

  • ใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer)
  • ใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษามะเร็งอัณฑะ ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด , ยาเคมีบำบัดชนิดอื่น หรือการฉายรังสี

อีโทโพไซด์ อาจใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆ ได้อีก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมี ประวัติการแพ้ยาอีโทโพไซด์ (etoposide) หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ยาเคมีบำบัดมีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกเเล้วใหม่ๆ ควรงดรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก หากต้องการรับประทานควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างใช้ยานี้

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

อีโทโพไซด์ (etoposide) ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนของสัตว์ทดลอง โปรดแจ้งแพทย์หากกำลังวางแผนจะมีบุตร เนื่องจากยาอีโทโพไซด์ (etoposide) อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตหรือเกิดทารกวิรูปได้เมื่อให้ยาในหญิงตั้งครรภ์ สตรีวัยเจริญพันธุ์ควรใช้วิธีคุมกำเนิดระหว่างใช้ยานี้

กำลังให้นมบุตร

โปรดแจ้งแพทย์หากท่านกำลังให้นมบุตร หรือตั้งใจจะให้นมบุตรในระหว่างที่ได้รับยาอีโทโพไซด์ (etoposide) เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง จึงไม่แนะนำให้ทารกได้รับน้ำนมมารดาระหว่างใช้ยานี้

เด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้ยาอีโทโพไซด์ (etoposide) ในเด็ก

ผู้สูงอายุ

ยาอีโทโพไซด์ (etoposide) ถูกขับออกทางไต ดังนั้นความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาอาจจะเพิ่มขึ้นในผู้ที่การทำงานของไต บกพร่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีการทำงานของไตลดลง แพทย์อาจมีการปรับขนาดยาและติดตามการทำงานของไตในผู้ป่วยกลุ่มนี้

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย

แอมโฟเทอริซินบี (amphotericin B) ยาต้านไทรอยด์ (antithyroid agents)
แอซาไทโอพรีน (azathioprine) คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol)
คอลชิซีน (colchicine) ฟลูไซโทซีน (flucytosine)
แกนไซโคลเวียร์ (ganciclovir) อินเทอเฟียรอน (interferon)
พลิคามัยซิน (plicamycin) ไซโดวูดีน (zidovudine)
แอพรีพิแทนท์ (aprepitant) ไซโคลสพอริน (cyclosporine)
ฟอสซาพรีพิแทนท์ (fosaprepitant) กลูโคซามีน (glucosamine)
เซนต์จอห์น เวิร์ธ (St John’s Wort) วอร์ฟาริน (warfarin)
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (influenza virus vaccine, live) วัคซีนโรคหัด (measles virus vaccine, live)
วัคซีนโรคคางทูม (mumps virus vaccine, live) วัคซีนโรคโปลิโอ (poliovirus vaccine, live)
วัคซีนโรตาไวรัส (rotavirus vaccine, live) วัคซีนโรคหัดเยอรมัน (rubella virus vaccine, live)
วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox vaccine) วัคซีนไทฟอยด์ (typhoid vaccine)
วัคซีนโรคอีสุกอีใส (varicella virus vaccine) วัคซีนไข้เหลือง (yellow fever vaccine)
วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccine)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาอีโทโพไซด์ (etoposide) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคอีสุกอีใส อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคงูสวัด อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ภาวะเลือดจาง
  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ ยาอีโทโพไซด์ (etoposide) จะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคตับหรือไต

การใช้ที่ถูกต้อง

  • ยานี้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ระหว่างได้รับยานี้ ท่านควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ยาอีโทโพไซด์ (etoposide) อาจทำให้ท่านมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หากทนไม่ได้ ท่านต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล
  • ในระหว่างที่ใช้ยาอีโทโพไซด์ ท่านต้องดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ (ประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน) เว้นแต่ท่านได้รับการจำกัดน้ำ เพื่อช่วยให้ยาถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ต่อไต และช่วยให้ไตทำงานได้ดี
  • ควรมาตรวจตามแพทย์นัดเพื่อติดตามผลการรักษาเป็นระยะ และให้ได้รับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ยาแคปซูล

  • กลืนยาทั้งเม็ดแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ไม่ควรเคี้ยว บด หรือแบ่งเม็ดยา
  • หากอาเจียนหลังจากรับประทานยา ไม่ควรรับประทานยาทดแทนยาที่อาเจียนออกมา

ยาฉีด

  • สารละลายยาอีโทโพไซด์ (etoposide) เตรียมโดยเภสัชกร ใช้สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยพยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญในการให้ยาเคมีบำบัด

ขนาดยา

ขนาดยาของยาอีโทโพไซด์ (etoposide) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหนัก ส่วนสูงของผู้ป่วย ชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์ แนะนำ และกำหนดเวลา และมีเภสัชกรผู้เตรียมยาเคมีบำบัด ตรวจสอบขนาดยาที่ท่านได้รับ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย นอกจากนี้ความถี่ของการให้ยาอีโทโพไซด์ อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพัก และซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาในครั้งต่อไปได้

เมื่อลืมใช้ยา

  • มารับยาตามแพทย์นัด เพื่อให้ได้ยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • หากท่านลืมรับประทานยาข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยา ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า และแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเก็บรักษา

  • เก็บแคปซูลยาอีโทโพไซด์ (etoposide) ในภาชนะบรรจุจากผู้ผลิต ไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2° ถึง 8°C (องศาเซลเซียส) ห้ามแช่แข็ง
  • ป้องกันแสง
  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
  • เก็บยาฉีดในภาชนะบรรจุจากผู้ผลิต ที่อุณหภูมิ 2° ถึง 8°C (องศาเซลเซียส) และป้องกันแสง

ข้อควรระวัง

  • ยาอีโทโพไซด์ (etoposide) มีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดแดงลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรือภาวะเลือดออกง่าย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่นๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องเสีย เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่
  • ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาอีโทโพไซด์ ( ท่านไม่ควรได้รับวัคซีนใด ๆ โดยไม่ได้แจ้งแพทย์ เนื่องจากยาทำให้ภูมิคุ้มกันของท่านลดลง และมีโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนที่ท่านได้รับ นอกจากนี้บุคคลที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ควรได้รับวัคซีนโปลิโอ เพราะอาจทำให้ท่านได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอได้
  • ควรพบแพทย์ทันทีถ้าท่านมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • ยาอีโทโพไซด์ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้อย่างรุนแรง โดยมีอาการอาการหายใจลำบาก (dyspnea) ,ความดันเลือดต่ำ (hypotension), หน้าบวม ตาบวม , ผื่นลมทั่วตัว เป็นต้น

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. พบแพทย์หรือแจ้งพยาบาลทันทีหากมีอาการต่อไปนี้
พบน้อย

  • ใจเต้นเร็ว, สูญเสียสติ, หายใจสั้น, หน้าบวม ตาบวม , แน่นหน้าอก, หายใจเสียงมีหวีด (wheezing)

ข. พบแพทย์โดยเร็ว หากมีอาการต่อไปนี้
พบบ่อยมาก

  • อ่อนเพลีย , เหนื่อยง่าย

พบไม่บ่อย
  • อุจจาระดำ, ปัสสาวะ หรืออุจจาระเป็นเลือด, ไอหรือเสียงแหบ ร่วมกับมีไข้,ไข้ หรือสั่น, ปวดบั้นเอวร่วมกับมีไข้, ปัสสาวะแสบขัดร่วมกับมีไข้, แผลในปาก, เลือดออกผิดปกติ หรือมีจ้ำเลือด

พบน้อย
  • ปวดหลัง, ก้าวเดินลำบาก, ชา หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มตำ ปลายมือ ปลายเท้า,เจ็บบริเวณที่ฉีดยา, ผื่นผิวหนัง

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่อง จากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์ยงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบบ่อยมาก

  • เบื่ออาหาร, คลื่นไส้อาเจียน

พบไม่บ่อย
  • ท้องร่วง

ยานี้อาจทำให้ผมร่วงขณะใช้ยา หลังจากหยุดยาแล้วผมจะกลับมางอกตามปกติ

ง. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Doxorubicin, Doxorubicin liposome , Epirubicin, Idarubicin , Irinotecan , Mitoxantrone , Topotecan

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Etoposid - Ebewe 50 mg injection (อีโธโพซิด อีบีเว้ 50 มก. ยาฉีด), Etoposid - Ebewe 100 mg injection (อีโธโพซิด อีบีเว้ 100 มก. ยาฉีด), Etoposid - Ebewe 200 mg injection (อีโธโพซิด อีบีเว้ 200 มก. ยาฉีด), Lastet cap 25 (ลาสเต็ท แคป 25), Lastet cap 50 (ลาสเต็ท แคป 50), Lastet inj. (ลาสเต็ท ชนิดฉีด), Etoposide injection, Eposin injection (อีโปซิน ยาฉีด), Etopos injection, Fytosid injection (ไฟโตสิด ยาฉีด), DBL (R) Etoposide injection, Vepesid K50 capsule (วีพีซิด เค 50 แคปซูล), Topo injection (โทโพ ชนิดฉีด)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Etoposide . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: July 24, 2010.
  2. วิลาวัณย์ พิชัยรัตน์ และ สมสมัย สุธีรศานต์. การดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด [สำหรับผู้ป่วยเเละครอบครัว] พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. 2552 หน้า 5-19
  3. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: July 24, 2010.
  4. Dailymed current medication information .Etoposide. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/search.cfm?startswith=etoposide&x=0&y=0 Date: July 24, 2010.
  5. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 24/7/2010).
  6. Medina PJ and Fausel C. Cancer Treatment and Chemotherapy. In : DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG and Posey LM , editors.PharmacotherapyA Pathophysiologic Approach 7th ed. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 2085-2108.
  7. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Etoposide (Systemic) . Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  8. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals: Etoposide Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/lexicomp/etoposide.html Access Date: July 24, 2010.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
24 กรกฎาคม 2553 12 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย