อ่าน: 686
Small_font Large_font

Calcium citrate or Calcium citrate tetrahydrate (แคลเซียมซิเทรต หรือ แคลเซียมซิเทรตเททราไฮเดรต )

คำอธิบายพอสังเขป

แคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) หรืออาจเรียกว่า แคลเซียมซิเทรตเททราไฮเดรต (calcium citrate tetrahydrate) ใช้เพื่อเสริมแคลเซียมสำหรับผู้ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารที่รับประทานตามปกติไม่เพียงพอ หรือผู้ที่มีความต้องการแคลเซียมเพิ่มขึ้น หรือใช้ป้องกันหรือรักษาภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ เช่น ผู้มีระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ รวมทั้งใช้รักษาภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง

แพทย์อาจสั่งใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกร

แคลเซียมมีความจำเป็นในการทำให้กระดูกแข็งแรง และมีความจำเป็นสำหรับการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบประสาท

กระดูกเป็นแหล่งเก็บแคลเซียมในร่างกาย โดยกระดูกจะปล่อยแคลเซียมออกไปในกระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง เมื่อในเลือดมีแคลเซียมไม่เพียงพอที่จะใช้ในการทำงานของหัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ก็จะมีการดึงแคลเซียมออกมาจากกระดูก และเมื่อรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม แคลเซียมจะไปสะสมอยู่ที่กระดูก เพื่อให้เกิดการสมดุลของแคลเซียมที่กระดูกและในเลือด หากร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

สตรีมีครรภ์, ผู้ให้นมบุตร, เด็ก และวัยรุ่นอาจต้องการแคลเซียมมากกว่าที่ได้รับจากอาหารตามปกติ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอาจได้รับแคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งทำให้กระดูกหักได้ง่าย ภาวะกระดูกพรุนในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเกิดจากปริมาณฮอร์โมนเอสโทรเจนที่รังไข่ผลิตได้น้อยลงและทำให้กระดูกบางลง อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำในวัยเด็กและวัยรุ่นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้มากขึ้น

ขนาดของยาแคลเซียมซิเทรตต้องพิจารณาตามปริมาณแคลเซียมที่มีอยู่ในแคลเซียมซิเทรต โดยแคลเซียมซิเทรต 100 กรัมมีปริมาณแคลเซียม 21.1 กรัม ดังนั้นปริมาณแคลเซียมในยาที่มีแคลเซียมซิเทรตปริมาณต่าง ๆ เป็นดังนี้

  • แคลเซียมซิเทรต 948 มิลลิกรัมมีแคลเซียม 200 มิลลิกรัม
  • แคลเซียมซิเทรต 950 มิลลิกรัมมีแคลเซียม 200.5 มิลลิกรัม
  • แคลเซียมซิเทรต 200 มิลลิกรัมมีแคลเซียม 42.2 มิลลิกรัม

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้แคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยาเหล่านี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • อย่ารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแคลเซียม หรือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงในปริมาณมาก ๆ เช่น นม เนย โยเกิรต์ เพราะอาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงได้
  • ในกรณีที่รับประทานแคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) เพื่อเสริมแคลเซียมหรือรักษาหรือป้องกันภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ อย่ารับประทานยาแคลเซียมซิเทรตภายใน 1 – 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงในปริมาณมาก ๆ เช่น ขนมปังผสมธัญญพืช ข้าวกล้อง รวมทั้งผลไม้สดที่มีเส้นใยมาก เพราะทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง
  • ในกรณีที่รับประทานแคลเซียมซิเทรตเพื่อเสริมแคลเซียมหรือเพื่อรักษาหรือป้องกันภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้าและกาแฟในปริมาณมาก (มากกว่า 8 แก้วต่อวัน) เพราะอาจลดการดูดซึมแคลเซียม

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

อย่างไรก็ตาม สตรีมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพราะมีความจำเป็นสำหรับการเจริญของทารกในครรภ์ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแคลเซียมปริมาณมากในระหว่างมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

สตรีกำลังให้นมบุตรต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพราะมีความจำเป็นสำหรับการเจริญของทารกที่ดื่มนม อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) ปริมาณมากในระหว่างให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกที่ดื่มนม

เด็ก

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในเด็กที่รับประทานแคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) ตามปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับตามปกติต่อวัน

ผู้สูงอายุ

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในผู้สูงอายุที่รับประทานแคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) ตามปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับตามปกติต่อวัน ผู้สูงอายุควรได้รับแคลเซียมในอาหารอย่างเพียงพอทุกวัน ผู้สูงอายุบางรายอาจต้องได้รับแคลเซียมในปริมาณสูงขึ้น เช่น ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีความต้องการแคลเซียมสูงกว่าคนหนุ่มสาว

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยาที่มีแคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้

ก. ยาที่แคลเซียมซิเทรตมีผลรบกวนการดูดซึม ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดลดลง และลดผลการรักษาได้ เช่น

  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น อีนอกซาซิน (enoxacin), ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin), โลมีฟลอกซาซิน (lomefloxacin), ลีโวฟลอกซาซิน (levofloxacin),นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin), โอฟลอกซาซิน (ofloxacin), สปาร์ฟลอกซาซิน (sparfloxacin)
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเททราไซคลีนชนิดรับประทาน
  • ยาต้านเชื้อรากลุ่มอิมิดาโซล (imidazoles) เช่น คีโทโคนาโซล (ketoconazole), ฟลูโคนาโซล (fluconazole), อิทราโคนาโซล (itraconazole)
  • ยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก เช่น เฟอรัสซัลเฟต (ferrous sulphate), เฟอรัสฟูมาเรต (ferrous fumarate)
  • ยาที่มีส่วนประกอบของสังกะสี
  • ดิจอกซิน (digoxin)
  • เอทิโดรเนต (etidronate)
  • ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)
  • เฟนิทอยน์ (phenytoin)

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาแคลเซียมซิเทรตห่างจากการรับประทานยาเหล่านี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ยกเว้น ไอโซไนอาซิด (isoniazid) อาจรับประทานห่างจากยาแคลเซียมซิเทรตอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

ข. ยาแคลเซียมซิเทรตอาจลดผลของยา

  • เซลลูโลสโซเดียมฟอสเฟต (cellulose sodium phosphate)

ค. ยาที่หากใช้ร่วมกับยาแคลเซียมซิเทรตจะทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงและทำให้เกิดอันตรายได้

  • ยาอื่นที่ประกอบด้วยแคลเซียม

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาแคลเซียม ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ท้องผูก หรือ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะหรือลำไส้ หรือ
  • ระดับแคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcemia) หรือ
  • แคลเซียมในปัสสาวะสูง (hypercalciuria) หรือ
  • โรคไต อาจทำให้ระดับแคลเซียมเลือดสูง ซึ่ง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงในผู้เป็นโรคไต หรือ
  • โรคซาร์คอยด์ (sarcoidosis) แคลเซียมอาจทำให้ไตผิดปกติหรือมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคนี้ หรือ
  • ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (hyperparathyroidism) การได้รับแคลเซียมในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง

การใช้ที่ถูกต้อง

แคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) ใช้ในการรักษาโรคได้หลายสภาวะ แต่ละสภาวะอาจมีวิธีการใช้ยาแตกต่างกัน ยานี้มีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด หรือแคปเบลทซึ่งเป็นยาเม็ดที่มีลักษณะรีคล้ายแคปซูล ให้ใช้ตามคำแนะนำตามฉลากยา หรือใช้ตามแนวทางทั่วไป ดังนี้

ก. การรับประทานแคลเซียมซิเทรตเพื่อเสริมแคลเซียมหรือรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

  • ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที แต่หากรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงในปริมาณมาก ๆเช่น ขนมปังผสมธัญญพืช, ข้าวกล้อง รวมทั้งผักและผลไม้สดที่มีเส้นใยมาก ให้รับประทานยานี้หลังจากรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง 1-2 ชั่วโมง เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง
  • อาจให้เคี้ยวหรือไม่ต้องเคี้ยวยา ให้ใช้ตามข้อแนะนำในฉลากยา
  • ควรดื่มน้ำประมาณ 1 แก้ว (ประมาณ 250 ซีซี) หลังจากรับประทานยาแคลเซียม ยกเว้นผู้ป่วยโรคไตซึ่งต้องจำกัดการดื่มน้ำ
  • ถ้าต้องรับประทานยาวันละมากกว่าหนึ่งครั้ง ให้เว้นระยะห่างของช่วงการรับประทานยาแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกัน เว้นแต่แพทย์จะสั่งเป็นอย่างอื่น

ข. การรับประทานแคลเซียมซิเทรตเพื่อรักษาภาวะฟอสเฟตสูง

  • ให้เคี้ยวเม็ดยาให้ละเอียดพร้อมอาหาร เพื่อให้ยาจับกับฟอสเฟตในอาหารและถูกขับออกทางอุจจาระ
  • ไม่ต้องดื่มน้ำหลังจากรับประทานยาแคลเซียม เพื่อให้ยาจับกับฟอสเฟตได้ดี
  • ถ้าต้องรับประทานยาวันละมากกว่าหนึ่งครั้ง ให้เว้นระยะห่างของช่วงการรับประทานยาแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกัน เว้นแต่แพทย์จะสั่งเป็นอย่างอื่น

ขนาดยา

ขนาดยาของยาแคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร หรือ ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

ในกรณีที่แพทย์สั่งให้ท่านรับประทานยาแคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) ในปริมาณสูงหรือต้องรับยาเป็นเวลานาน แพทย์อาจนัดให้ท่านไปตรวจร่างกายเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าใช้ยาได้ผลและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย ยานี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์มากขึ้น ในกรณีที่ใช้ยามากเกินไป นานเกินไป หรือ ใช้ในผู้ที่เป็นโรคไต และหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้

  • ท้องผูกรุนแรงหรือต่อเนื่อง
  • ปัสสาวะลำบากหรือปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ
  • ปวดปัสสาวะแบบเฉียบพลันบ่อยๆ
  • ปวดหัวแบบต่อเนื่อง
  • กระสับกระส่าย
  • หายใจช้าลง
  • ความรู้สึกในการรับรสผิดปกติ
  • จิตใจซึมเศร้า
  • เหนื่อยอ่อนหรืออ่อนเพลียมากผิดปกติ
  • ปากแห้ง กระหายน้ำ
  • เบื่ออาหาร
  • ง่วงซึมหรือมึนงง
  • สับสน
  • เพ้อ
  • ไม่รู้สึกตัว

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • คลื่นไส้ไม่รุนแรง
  • ท้องผูกไม่รุนแรง
  • ท้องอืด
  • มีแก๊สในกระเพาะ

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Aluminum hydroxide, Calcium acetate, Calcium carbonate, Calcium carbonate and Calcium gluconolactate or Calcium lactate-gluconate, Calcium carbonate and Vitamin C, Calcium carbonate and Vitamin D2 (Ergocalciferol or Calciferol), Calcium carbonate and Vitamin D3 (Colecalciferol), Calcium carbonate, Calcium gluconate and Calcium lactate, Calcium carbonate, Calcium gluconate, Calcium citrate and Vitamin D3 (Colecalciferol), Calcium carbonate, Calcium lactate-gluconate and Vitamin C, Calcium carbonate, Ferrous fumarate and Zinc, Calcium carbonate, Magnesium sulfate and Zinc sulfate, Calcium carbonate, Tribasic calcium phosphate, Calcium fluoride, Magnesium hydroxide, Vitamin D3 (Colecalciferol), Calcium carbonate, Tribasic calcium phosphate, Magnesium hydroxide, Calcium carbonate, Vitamin D, Vitamin C and Vitamin B6, Calcium carbonate, Vitamin D3 (Colecalciferol), Magnesium, Zinc, Boron, Copper, Manganese , Calcium citrate and Vitamin D3 (Colecalciferol), Calcium gluconate, Calcium lactate, Calcium carbonate, Vitamin D and Vitamin C

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Calcibon, tab (แคลซิบอน, เม็ด), Citracal, tab (ซิตร้าแคล, เม็ด)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ประเภททะเบียน ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ ... Available at: www2.fda.moph.go.th/.../dgexp111.asp?... Access date: March 19, 2010.
  2. Anderson PO, Knoben JE, Troutman EG. Handbook of Clinical Drug Data. 10th ed. McGraw-Hill, Medical Publishing Division, New York. 2002: 734-737.
  3. British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary. 50th ed. (September, 2005) BMJ Publishing Group Ltd., London, 484-485.
  4. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 21 March, 2010.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Antacids (oral). Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  6. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Calcium Supplements.Available at www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a601013.html Access Date: March 21, 2010.
  7. Sweetman SC, Martindale: The complete drug reference 34th ed,, 2005, Pharmaceutical press, p.1226.

วิบุล วงศ์ภูวรักษ์ , โพยม วงศ์ภูวรักษ์
24 เมษายน 2553 10 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย