อ่าน: 285
Small_font Large_font

Antihypocalcemia, oral (ยารับประทานสำหรับภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ)

คำอธิบายพอสังเขป

แคลเซียมมีความจำเป็นในการทำให้กระดูกแข็งแรง และมีความจำเป็นสำหรับการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบประสาท กระดูกเป็นแหล่งเก็บแคลเซียมในร่างกาย โดยกระดูกจะปล่อยแคลเซียมออกไปในกระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง เมื่อในเลือดมีแคลเซียมไม่เพียงพอที่จะใช้ในการทำงานของหัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ก็จะมีการดึงแคลเซียมออกมาจากกระดูก และเมื่อรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม แคลเซียมจะไปสะสมอยู่ที่กระดูก เพื่อให้เกิดการสมดุลของแคลเซียมที่กระดูกและในเลือด หากร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอก็จะทำให้มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (hypocalcemia) และเกิดโรคกระดูกพรุนได้

ภาวะของแคลเซียมในเลือดต่ำพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนพาราไทรอยด์จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การผ่าตัดคอหรือได้รับบาดเจ็บที่คอ, ได้รับสารที่ยับยั้งการทำงานของต่อมพาราไทยรอยด์ และมะเร็ง นอกจากนี้ยังพบภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ, มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมแคลเซียมและวิตามินดี (วิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร), ได้รับสารที่จับกับแคลเซียมหรือทำให้แคลเซียมตกตะกอนในทางเดินอาหาร ทำให้ไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือดได้ เช่น ฟอสเฟต (phosphate), ซิเทรต (citrate) และการได้รับพิษจากฟลูออไรด์ (fluoride) รวมทั้งการได้รับยาที่ยับยั้งการปล่อยแคลเซียมออกมาจากกระดูก เช่น แคลซิโทนิน (calcitonin), ซิสพลาทิน(cisplatin), ยากลุ่มบิสฟอสฟอเนต (bisphosphonates) และไมทรามัยซิน (mithramycin)

แพทย์อาจสั่งใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกร
ยาแคลเซียมอยู่ในรูปแบบของเกลือหลายชนิด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต, แคลเซียมกลูโคเนต, แคลเซียมแลคเทต และแคลเซียมซิเทรต เกลือแคลเซียมแต่ละชนิดมีปริมาณแคลเซียมแตกต่างกัน เช่น

  • แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) มีแคลเซียมร้อยละ 40
  • แคลเซียมอะซีเทต (calcium acetate) หรือ แคลเซียมอะซีเทตแอนไฮดรัส (calcium acetate, anhydrous) มีแคลเซียมร้อยละ 25.3
  • แคลเซียมซิเทรต (calcium citrate) หรือ แคลเซียมซิเตรทเททราไฮเดรต (calcium citrate tetrahydrate) มีแคลเซียมร้อยละ 21.1
  • แคลเซียมแลคเทต แอนไฮดรัส (calcium lactate, anhydrous) มีแคลเซียมร้อยละ 18.4
  • แคลเซียมแลคเทต ไทรไฮเดรต (calcium lactate, trihydrate) มีแคลเซียมร้อยละ 14.7
  • แคลเซียมแลคเทต เพนทาไฮเดรต (calcium lactate, pentahydrate) มีแคลเซียมร้อยละ 13
  • แคลเซียมกลูโคโนแลคเทต (calcium gluconolactate) หรือ แคลเซียมแลคเทต-กลูโคเนตไดไฮเดรต (calcium lactate-gluconate dihydrate) มีแคลเซียมร้อยละ12.9
  • แคลเซียมกลูโคเนต (calcium gluconate) มีแคลเซียมร้อยละ 8.9

ขนาดของยาแคลเซียมต้องคำนวณตามปริมาณแคลเซียมที่มีอยู่ในเกลือแคลเซียมแต่ละชนิด ไม่ใช่คำนวณจากปริมาณเกลือแคลเซียม เช่น
ยาเม็ดซึ่งมีแคลเซียมคาร์บอเนต 625 มิลลิกรัมมีแคลเซียม 250 มิลลิกรัม (แคลเซียมคาร์บอเนตมีแคลเซียมร้อยละ 40 ดังนั้นยาเม็ดนี้มีปริมาณแคลเซียม = (625 × 40)/100 = 250 มิลลิกรัม)
ในขณะที่ยาเม็ดแคลเซียมกลูโคเนต 1000 มิลลิกรัมมีแคลเซียมเพียง 89 มิลลิกรัม (แคลเซียมกลูโคเนตมีแคลเซียมร้อยละ 8.9 ดังนั้นยาเม็ดนี้มีปริมาณแคลเซียม = (1000 × 8.9)/100 = 89 มิลลิกรัม)
ดังนั้นยาเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนต 625 มิลลิกรัม จะมีปริมาณแคลเซียมมากกว่ายาเม็ดแคลเซียมกลูโคเนต 1000 มิลลิกรัม

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้เกลือแคลเซียม หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยาเหล่านี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • อย่ารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแคลเซียม หรือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงในปริมาณมาก ๆ เช่น นม เนย โยเกิรต์ เพราะอาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงได้
  • อย่ารับประทานยาแคลเซียมภายใน 1 – 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงในปริมาณมาก ๆ เช่น ขนมปังผสมธัญญพืช ข้าวกล้อง รวมทั้งผลไม้สดที่มีเส้นใยมาก โดยเฉพาะในกรณีการใช้แคลเซียมเพื่อรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เพราะทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้าและกาแฟในปริมาณมาก (มากกว่า 8 แก้วต่อวัน) เพราะอาจลดการดูดซึมแคลเซียม

ตั้งครรภ์

ไม่มีข้อมูลการจัดยาแคลเซียม (calcium) ว่าอยู่ในประเภทใดของการจัดกลุ่มยาที่มีผลต่อสตรีมีครรภ์ (pregnancy category) สตรีมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพราะมีความจำเป็นสำหรับการเจริญของทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแคลเซียมปริมาณมากในระหว่างมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

สตรีกำลังให้นมบุตรต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพราะมีความจำเป็นสำหรับการเจริญของทารกที่ดื่มนม อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแคลเซียมปริมาณมากในระหว่างให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือ ทารกที่ดื่มนม

เด็ก

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในเด็กที่รับประทานแคลเซียมตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน

ผู้สูงอายุ

ไม่มีรายงานว่าพบปัญหาใด ๆ ในผู้สูงอายุที่รับประทานแคลเซียมตามปริมาณปกติที่ควรได้รับต่อวัน ผู้สูงอายุควรได้รับแคลเซียมในอาหารอย่างเพียงพอทุกวัน ผู้สูงอายุบางรายอาจต้องได้รับแคลเซียมในปริมาณสูงขึ้น เช่น ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีความต้องการแคลเซียมสูงกว่าคนหนุ่มสาว

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยาที่มีแคลเซียม ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้

ก. ยาที่แคลเซียมมีผลรบกวนการดูดซึม ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดลดลง และลดผลการรักษาได้ เช่น

  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น อีนอกซาซิน (enoxacin), ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin), โลมืฟลอกซาซิน (lomefloxacin), ลีโวฟลอกซาซิน (levofloxacin),นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin), โอฟลอกซาซิน (ofloxacin), สปาร์ฟลอกซาซิน (sparfloxacin)
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเททราไซคลีนชนิดรับประทาน
  • ยาต้านเชื้อรากลุ่มอิมิดาโซล (imidazoles) เช่น คีโทโคนาโซล (ketoconazole), ฟลูโคนาโซล (fluconazole), อิทราโคนาโซล (itraconazole)
  • ยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก เช่น เฟอรัสซัลเฟต (ferrous sulphate), เฟอรัสฟูมาเรต (ferrous fumarate)
  • ยาที่มีส่วนประกอบของสังกะสี
  • ดิจอกซิน (digoxin)
  • เอทิโดรเนต (etidronate)
  • ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)
  • เฟนิทอยน์ (phenytoin)

หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาแคลเซียมห่างจากการรับประทานยาเหล่านี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ยกเว้น ไอโซไนอาซิด (isoniazid) อาจรับประทานห่างจากยาแคลเซียมอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

ข. ยาแคลเซียมอาจลดผลของยา

  • เซลลูโลสโซเดียมฟอสเฟต (cellulose sodium phosphate)

ค. ยาที่หากใช้ร่วมกับยาที่มีแคลเซียมจะทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงและทำให้เกิดอันตรายได้

  • ยาอื่นที่ประกอบด้วยแคลเซียม

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาแคลเซียม ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น
• ท้องผูก หรือ
• มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะหรือลำไส้ หรือ
• ระดับแคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcemia) หรือ
• แคลเซียมในปัสสาวะสูง (hypercalciuria) หรือ
• โรคไต อาจทำให้ระดับแคลเซียมเลือดสูง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงในผู้เป็นโรคไต หรือ
• โรคซาร์คอยด์ (sarcoidosis) แคลเซียมอาจทำให้ไตผิดปกติหรือมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคนี้ หรือ
• ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (hyperparathyroidism) การได้รับแคลเซียมในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง

กลุ่มยา

รายการนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มยาต่อไปนี้

ยา

ยาต่อไปนี้อยู่ในกลุ่มยานี้

แหล่งอ้างอิง

1. British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary. 50th ed. (September, 2005) BMJ Publishing Group Ltd., London, 484-485, 491-492.
2. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 21 March, 2010.
3. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Antacids (oral). Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
4. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Calcium Supplements.Available at www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a601013.html Access Date: March 21, 2010.
5. Anderson PO, Knoben JE, Troutman EG. Handbook of Clinical Drug Data. 10th ed. McGraw-Hill, Medical Publishing Division, New York. 2002: 734-737.
6. Sweetman SC, Martindale: The complete drug reference 34th ed,, 2005, Pharmaceutical press, p.1226
7. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ประเภททะเบียน ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ ... Available at: www2.fda.moph.go.th/.../dgexp111.asp?... Access date: March 19, 2010.


วิบุล วงศ์ภูวรักษ์ , โพยม วงศ์ภูวรักษ์
24 เมษายน 2553 26 เมษายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย