อ่าน: 1624
Small_font Large_font

Baclofen (แบโคลเฟน )

คำอธิบายพอสังเขป

แบโคลเฟน (baclofen) ใช้สำหรับคลายกล้ามเนื้อซึ่งสามารถบรรเทาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ, กล้ามเนื้อเป็นตะคริว, กล้ามเนื้อบีบรัดแน่นซึ่งอาจเกิดจากปัญหาความเจ็บป่วย เช่น โรคมัลติเพิลสเกลอโรซิส (multiple sclerosis) หรือการบาดเจ็บของไขสันหลังซึ่งแบโคลเฟน (baclofen) ไม่สามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้ แต่บรรเทาอาการของท่านให้ดีขึ้นได้

แบโคลเฟน (baclofen) ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางในการคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งการออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ได้ แบโคลเฟน (baclofen) อาจใช้ในการบรรเทาอาการของสภาวะอื่นๆ ตามที่แพทย์สั่ง

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาแบโคลเฟน (baclofen) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาผลของแบโคลเฟน (baclofen) ในการทำให้เกิดทารกวิรูปในมนุษย์ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า เมื่อให้แบโคลเฟน (baclofen) ในขนาดหลายเท่าจากขนาดปกติที่ให้ในมนุษย์จะเพิ่มโอกาสในการเกิดไส้เลื่อนและการพัฒนากระดูกของตัวอ่อนช้าหรือไม่สมบูรณ์และทำให้น้ำหนักแรกคลอดของทารกน้อย

กำลังให้นมบุตร

แบโคลเฟน (baclofen) สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ อย่างไรก็ตามยานี้ยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดความปกติใดๆ ในเด็กที่ได้รับนมมารดา

เด็ก

มีการศึกษาการใช้แบโคลเฟน (baclofen) ในผู้ใหญ่เท่านั้น จึงยังไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจงในการเปรียบเทียบผลการใช้แบโคลเฟน (baclofen) ในเด็กกับช่วงอายุอื่นๆ

ผู้สูงอายุ

อาการไม่พึงประสงค์ เช่น ประสาทหลอน, สับสน, ซึมเศร้าหรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อื่นๆ และอาการง่วงซึมอย่างมากอาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุผู้ซึ่งไวต่อฤทธิ์ของยาแบโคลเฟน (baclofen) มากกว่าวัยอื่นๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้น โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานแบโคลเฟน (baclofen) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

*ยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น ยาต้านซึมเศร้าที่มีโครงสร้างเป็นไตรไซคลิก (tricyclic antidepressant) ได้แก่ แอมิทริปทิลีน (amitriptylline), แอมอกซาพีน (amoxapine), โคลมิพรามีน (clomipramine), เดซิพรามีน (desipramine), ดอกซีพีน (doxepin), อิมิพรามีน (imipramine), นอร์ทริปไทลีน (nortriptyline), โพรทริปไทลีน (protryptyline), ไตรมิพรามีน (trimipramine) หรือยากดระบบประสาทส่วนกลางตัวอื่นๆ (ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม) เนื่องจากโอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์อาจเพิ่มขึ้น

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาการเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้แบโคลเฟน (baclofen) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย

  • โรคเบาหวาน-แบโคลเฟน (baclofen) อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น
  • โรคลมชัก
  • โรคไต
  • ปัญหาเกี่ยวกับจิตใจหรืออารมณ์
  • โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก หรือโรคเกี่ยวกับสมองอื่นๆ เนื่องจากอาจทำให้โอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น

การใช้ที่ถูกต้อง

เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้ยานี้ ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาดและห้ามรับประทานยานี้บ่อยจนเกินไป และห้ามรับประทานยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่าที่แพทย์สั่ง การรับประทานยานี้มากจนเกินไปอาจทำให้โอกาสการเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น

ขนาดยา

ขนาดยาแบโคลเฟน (baclofen) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร หรือ ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาและนึกถึงได้ภายใน 1 ชั่วโมงจากที่ควรรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ อย่างไรก็ตามหากลืมประทานยามากกว่า 1 ชั่วโมง ให้ข้ามมื้อนั้นไปแล้วรับประทานยาตามปกติ ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าเด็ดขาด

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

ห้ามหยุดยานี้อย่างกระทันหันเนื่องจากอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการค่อยๆ ลดขนาดยาลงจนหยุดใช้ยาได้อย่างสมบูรณ์

ยานี้จะเพิ่มผลของแอลกอฮอล์และยาต้านการซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง (ยาจะลดการทำงานของระบบประสาทซึ่งทำให้เกิดอาการง่วงนอน) ตัวอย่างยาต้านการซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางคือ ยาต้านฮิสตามีนหรือยาสำหรับรักษาไข้ละอองฟาง, บรรเทาอาการแพ้อื่นๆ, บรรเทาอาการหวัด, ยานอนหลับ, ยาสงบประสาท, ยาบรรเทาอาการปวดหรือยาแก้ปวดพวกที่ทำให้เกิดการเสพติด(narcotics), ยากลุ่มบาร์บิทูเรต (barbiturates) ที่ใช้ในการบรรเทาอาการชัก, ยาคลายกล้ามเนื้ออื่นๆ หรือยาสลบรวมทั้งยาสลบที่ใช้ในทางทันตกรรม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนหากท่านต้องการใช้ยาดังกล่าวขณะที่ใช้แบโคลเฟน (baclofen) อยู่

ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน, วิงเวียนศีรษะ, มีปัญหาในการมองเห็น, เสียการทรงตัวหรือทำอะไรงุ่มง่ามซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย ดังนั้นควรดูความพร้อมของตัวท่านเองว่าเกิดอาการดังกล่าวหรือไม่ สามารถควบคุมตัวเองได้หรือไม่ ก่อนที่จะขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ยานี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของท่านสูงขึ้น หากผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหรือในปัสสาวะของท่านมากผิดปกติ ควรนึกถึงประเด็นนี้ด้วย หากมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น

พบน้อย

  • ปัสสาวะมีเลือดปนหรือมีสีคล้ำมาก, เจ็บหน้าอก, เป็นลม, ประสาทหลอน, ซึมเศร้าหรือมีผลเปลี่ยนแปลงอารมณ์, ได้ยินเสียงในหู, เกิดผื่นหรือมีอาการคันที่ผิวหนัง

ข. อาการของการได้รับแบโคลเฟน (baclofen) เกินขนาด

  • ตาพร่าหรือเห็นภาพซ้อน, ชัก, กล้ามเนื้ออ่อนแรง (รุนแรง), หายใจสั้นหรือผิดปกติ, หายใจช้าหรือหายใจลำบาก, อาเจียน

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • สับสน, วิงเวียนศีรษะ, รู้สึกหวิวๆ, ง่วงซึม, คลื่นไส้, อ่อนเพลียมากผิดปกติโดยเฉพาะกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย

พบน้อย

  • ปวดหรือรู้สึกไม่สบายท้องหรือกระเพาะอาหาร, ทำอะไรงุ่มง่าม, ไม่สามารถทรงตัวได้, สั่น, มีปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อ, ท้องผูก, ท้องร่วง, ปัสสาวะลำบาก, ปริมาณปัสสาวะลดลงมากผิดปกติ, ปัสสาวะราดบ่อยๆหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้, ปวดหัว, ความอยากอาหารลดลง, ความดันโลหิตต่ำ, ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ, มือและเท้าชาหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่ม, หัวใจเต้นแรง, ปัญหาทางเพศในเพศชาย, พูดไม่ชัดหรือมีปัญหาในการพูด, คัดจมูก, ข้อบวม, มีปัญหาในการนอนหลับ, กล้ามเนื้อแข็งเกร็งโดยไม่ทราบสาเหตุ, ตื่นเต้นมากผิดปกติ, เหนื่อยมากผิดปกติ, น้ำหนักเพิ่ม

ง. อาการไม่พึงประสงค์บางอย่างอาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่ท่านหยุดยาโดยเฉพาะเมื่อหยุดยากระทันหัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากท่านมีอาการดังต่อไปนี้

  • ชัก, ประสาทหลอน, กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุกหรือปวดรัดมากขึ้น, อารมณ์หรือจิตใจเปลี่ยนแปลงไป, สับสนหรืออยู่ไม่นิ่งมากผิดปกติ

อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Chlorzoxazone and Paracetamol, Orphenadrine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Baclosal, Fenisal, Liobac (ไลโอแบค), Lioresal, Baclosal tab , Fenisal tab , Liobac tab , Lioresal tab

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

บาโคลเฟน

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 246-8.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 6, 2009).
  3. Joint Formulary Committee. British National Formulary. 57th ed. London: British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain, 2009: 49, 577-8.
  4. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

นรวร เจนณรงค์ , หทัยรัตน์ คังคะสุวรรณ
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
07 ตุลาคม 2552 10 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย