ค้นหายา


อ่าน: 233

Amiloride (อะมิโลไรด์ )

คำอธิบายพอสังเขป

อะมิโลไรด์ (amiloride) จัดเป็นยาในกลุ่มยาขับปัสสาวะ ประเภทกักเก็บโพแทสเซียม (potassium sparing diuretic) ออกฤทธิ์ ยับยั้งการแลกเปลี่ยน Na+/K+ ในคอลเล็กติ้งดักท์ และมีผลยับยั้งช่องทางนำส่งโซเดียมบริเวณเนื้อเยื่อ (ENaC) ยับยั้งการเก็บกลับโซเดียม ทำให้มีการขับน้ำและเกลือแร่ โดยยับยั้งการสูญเสียโพเทสเซียมไปกับปัสสาวะ ไม่มีผลลดระดับโปแทสเซียมในเลือด ช่วยลดความดันโลหิตและอาการบวมน้ำได้

ยานี้ใช้สำหรับยัยยั้งการสูญเสียโพแทสเซียมจากยาขับปัสสาวะตัวอื่นในการรักษาความดันโลหิตสูง รักษาภาวะบวมน้ำจากโรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคหัวใจล้มเหลว และภาวะแอลโดสเตอโรนต่ำ ยานี้มักใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะที่ออกฤทธิ์แรงกว่าเช่น ลูปไดยูเรติก (loop diuretic) และ ไทอาไซด์ (thiazide diuretic) นอกจากนี้อาจใช้ในการรักษา โรคเป็นถุงพังผืด (cystic fibrosis) ความดันโลหิตสูงในเด็ก และ ภาวะปัสสาวะมากจากการกระตุ้นของยาลิเทียม (lithium)

ยานี้ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาโรคความดันเลือดสูงให้หายขาด เพียงแต่ช่วยควบคุมความดันเลือดไว้ โดยต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารเค็ม การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนักในรายที่น้ำหนักเกิน

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาอะมิโลไรด์ (amiloride) หรือ ยาอื่นในกลุ่มนี้ หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

ตัวอย่างอาการแพ้ยา เช่น มีอาการ ผื่น, คัน, ผื่นแพ้, หายใจลำบาก

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น โยฮิมบีน (yohimbe) และสมุนไพรที่มีผลต่อความดันโลหิต
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และสารเสพติด เนื่องจากอาจมีผลต่อการทำงานของยานี้
  • ไม่รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงในปริมาณมาก เช่น กล้วย, ส้ม, มะเขือเทศ, ทุเรียน, มะขามหวาน, ลองกอง เป็นต้น เนื่องจากการได้รับโพแทสเซียมเกินจะเกิดอันตรายได้

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'B' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ หรือ จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายามีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ค่อนข้างปลอดภัย

ไม่มีผลการศึกษาถึงพิษต่อทารกในครรภ์สำหรับยาตัวนี้ แต่ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากจะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงทารกลดลงและอาจเป็นอันตรายได้

กำลังให้นมบุตร

ไม่มีรายงานการขับยานี้ออกทางน้ำนม ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้หากให้นมบุตร ถึงแม้ไม่พบว่ายามีอันตรายต่อเด็กก็ตาม เพราะยาอาจมีผลต่อการขับน้ำนม

เด็ก

  • ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาในเด็ก ระมัดระวังการใช้ในเด็ก ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

ผู้สูงอายุ

  • ในผู้สูงอายุมักเกิดภาวะโพแทสเซียมในร่างกายสูงและไวต่อยานี้ มากกว่าคนทั่วไป ควรระมัดระวังการใช้ยานี้

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ระมัดระวังการใช้อะมิโลไรด์ (amiloride) ร่วมกับยาต่อไปนี้

  • ยาลดความดันกลุ่มยับยั้งแอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (ACE inhibitors) เช่น อีแนลาพริล (enalapril), แคปโทพริล (captopril), รามิพริล (ramipril), เพอรินโดพริล (perindopril), ควินาพริล (quinapril) จะส่งผลทำระดับโพแทสเซียมสูงจนให้เกิดพิษได้
  • ยาลดความดันกลุ่มยับยั้งตัวรับแอนจิโอเทนซิน (angiotensin receptor blockers , ARBs) เช่น โลซาร์แทน (losartan), วาลซาร์แทน (valsartan), เออร์บีซาร์แทน (irbesartan) ซึ่งจะไปมีผลเพิ่มฤทธิ์ของอะมิโลไรด์
  • ยาลดความดันและยาขับปัสสาวะกลุ่มอื่น ๆ
  • กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac), ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen), แอสไพริน (aspirin), อินโดเมทาซิน (indomethacin), เพียร็อกซิแคม (piroxicam), เซเลโคสิป (celecoxib)
  • ยาอื่น ๆ เช่น อะมิฟอสทีน, (amifostine), ริทูซิแม็บ (rituximab), แอมโมเนียมคลอไรด์ (ammonium chloride), ดิจอกซิน (digoxin), ดรอสเพียรีโนน (Drospirenone), เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate), เกลือโพแทสเซียม, ควินิดีน (quinidine)

ยังมียาหลายชนิที่ไม่ควรใช้ร่วมกับ อะมิโลไรด์ (amiloride) ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

  • ห้ามใช้ยานี้หากมีภาวะโพแทสเซียมในร่างกายสูงเกิน ได้รับยาที่มีฤทธิ์กักเก็บโพแทสเซียม หรือได้รับ โพแทสเซียมเสริม ผู้ที่มีภาวะโรคไตที่รุนแรง มีปัสสาวะได้น้อย หรือปัสสาวะไม่ออก
  • ระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะหรือโรคต่อไปนี้: ผู้ป่วยเบาหวาน, โรคไตจากเบาหวาน (diabetic nephropathy), ภาวะกรดจากการหายใจ (respiratory acidosis), ภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis), ผู้ที่มีภาวะขาดสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย (electrolyte imbalance), โรคตับแข็ง ,โรคตับ

การใช้ที่ถูกต้อง

  • เนื่องจากยานี้มีผลทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหารได้ ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่สบายท้อง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซึมยา
  • รับประทานยาตามขนาดยาที่แพทย์สั่ง หรือที่เภสัชกรแนะนำไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง ขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน
  • ควรรับประทานยาในมื้อเช้า หากรับประทานยาวันละครั้ง และถ้าต้องรับประทานยามากกว่าหนึ่งมื้อในหนึ่งวัน ไม่ควรรับประทานมื้อสุดท้ายหลังเวลา 18.00น เพื่อป้องกันการปัสสาวะในเวลากลางคืน ซึ่งจะรบกวนการนอนหลับได้
  • ยานี้ต้องรับประทานต่อเนื่อง อย่าหยุดยาเอง โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์แม้รู้สึกอาการดีขึ้น โดยเฉพาะในโรคความดันเลือดสูง ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่าตัวเองปกติ เพราะไม่มีอาการใดที่เป็นปัญหา

ขนาดยา

ขนาดยาของยาอะมิโลไรด์ (amiloride) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับสภาวะโรคของท่าน**ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด**

เมื่อลืมใช้ยา

ให้รับประทานทันทีทีนึกได้ ถ้าใกล้เวลาของมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปโดยใช้ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดสนิท อย่าให้โดนแสงโดยตรง
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง อย่าเก็บในที่ร้อน
  • เก็บยาในที่แห้ง อย่าเก็บในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาทุกชนิดให้พ้นสายตาและมือเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่ได้รับมา และหากมียาเหลือหลังจากแพทย์สั่งให้หยุดใช้ ควรส่งคืนยาแก่เภสัชกร
  • ไม่ใช้ยานี้หลังจากวันหมดอายุ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการทิ้งยานี้

ข้อควรระวัง

  • อย่าใช้ยานี้ก่อนปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัว กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะมีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
  • ยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะ อย่าขับรถ ควบคุมเครื่องจักร ปีนที่สูง หรือทำงานที่เสี่ยงอันตราย จนกว่าจะแน่ใจยาไม่มีผลต่อตัวท่านและควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะมากขึ้น
  • ยานี้ไม่ได้มีผลลดระดับโพแทสเซียมเหมือนยาขับปัสสาวะกลุ่มอื่น ดังนั้นไม่ควรรับประทานโพแทสเซียมเสริม, ยาที่ทำให้โพแทสเซียมสูง และไม่รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงในปริมาณมาก เช่น กล้วย, ส้ม, มะเขือเทศ, ทุเรียน, มะขามหวาน, ลองกอง เป็นต้น เนื่องจากการได้รับโพแทสเซียมเกินจะเกิดอันตรายได้
  • ควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง หรือท้องเสีย เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
  • หากต้องผ่าตัดหรือถอนฟัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าท่านกำลังรับประทานยานี้อยู่
  • ไม่ควรใช้ยานี้ก่อนไปตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยวิธีวัดการต้านทานกลูโคส (glucose-tolerance tests) เป็นเวลา 3 วัน ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์สำหรับการตรวจร่างกายต่าง ๆ

อาการไม่พึงประสงค์

ก.อาการข้างเคียงที่รุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบ เช่น

  • อาการแพ้ยา
  • หายใจลำบาก หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ, เจ็บหน้าอก, หัวใจเต้นเร็ว, ความดันต่ำ
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ, อวัยวะเพศไม่แข็งตัว, รู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia), โรคเกี่ยวกับสมอง (encephalopathy), โรคจิต (psychiatric)
  • มีอาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับไต, การทำงานของไตลดลง, ไตวาย, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะน้อย, ปัสสาวะมาก, กระเพาะปัสสาวะหดเกร็ง
  • ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น, ปวดตา, การมองเห็นผิดปกติ
  • ดีซ่าน, ทำให้เกิดพิษต่อตับ, ระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้น, ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด (aplastic anemia), เม็ดเลือดขาวต่ำ, เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • โพแทสเซียมในร่างกายสูง (hyperkalaemia) ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ, ใจสั่น, เจ็บหน้าอก, ภาวะหัวใจร่วมหลอดเลือดล้ม (cardiovascular collapse), รู้สึกไม่สบาย, ภาวะระบายลมหายใจเร็วเกิน (hyperventilation), หายใจลำบาก, ภาวะการตื่นเต้นอย่างไม่เหมาะสม (nervousness), อาการชา, แขนขาหนัก, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, อัมพาต เป็นต้น ซึ่งภาวะโพแทสเซียมในร่างกายสูง เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้

ข. อาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย, วิงเวียน, ไม่สบายท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องผูก, ท้องร่วง, เบื่ออาหาร, การรับรสเปลี่ยน, ปากแห้ง, ผมร่วง, เต้านมโตหรือปวดเต้านมในผู้ชาย, คัดตึงเต้านม, ภาวะขาดน้ำ, เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดเหตุจากภาวะเลือดมีคลอไรด์มากเกิน (hyperchloremic metabolic acidosis) หรือ โซเดียมในเลือดต่ำ, กรดยูริคในเลือดสูง, ตะคริว, ไอ, ความดันเลือดตกขณะเปลี่ยนท่า, สั่น, รู้สึกหมุน แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรือทนไม่ได้หรือเกิดต่อเนื่อง ให้ไปพบแพทย์ทันที

ค. หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวกับยานี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • โรคความดันเลือดสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมให้ความดันเลือดอยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนจากความดันเลือดที่สูงผิดปกติเช่นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด อัมพาต หัวใจวาย เป็นต้น
  • ควรปรับแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีผลช่วยลดความดันเลือด เช่น ลดความเครียด, ออกกำลังกาย, เปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารโดยลดเกลือ, ลดน้ำหนัก เพราะจะเป็นประโยชน์และเสริมประสิทธิภาพของยา

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Amiloride and Hydrochlorothiazide, Furosemide, Hydrochlorothiazide , Spironolactone

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

อะมิลอไรด์

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 23 May, 2010.
  2. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com. Access Date: 20 May, 2010.
  3. Friedman P.A. and Berndt W.O., Diuretic drug, In Modern pharmacology with clinical application, 6th ed, pp. 244-51. Craig C.R. et al., Lippincott Williams & Wilkins, 2003.
  4. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook with international trade names index. 18th ed. Ohio: Lexi Comp In; 2009.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Potassium sparing Diuretic. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  6. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals: Amiloride Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/lexicomp/amiloride.html Access Date: May 21, 2010

panupong puttarak
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
21 พฤษภาคม 2553 25 มิถุนายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย