ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 800
Small_font Large_font

น้ำหนักลด (weight loss)

คำจำกัดความ

โดยทั่วไปการลดลงของน้ำหนักตัวมากกว่า ร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว ใน 6 เดือน หรือร้อยละ 10 ขึ้นไปใน 1 ปี ถือว่า เป็นน้ำหนักลดซึ่งมีความสำคัญ หมายถึง น้ำหนักลดที่ควรจะหาสาเหตุของการลดลงของน้ำหนักต่อไป

สาเหตุ

ภาวะน้ำหนักตัวลดอาจเกิดจากการสูญเสียปริมาณน้ำในร่างกาย หรือการสูญเสียปริมาณมวลเนื้อเยื่อส่วนไขมันและกล้ามเนื้อ หรือการสูญเสียทั้งปริมาณน้ำและมวลเนื้อเยื่อร่วมกัน การสูญเสียน้ำออกจากร่างกายอย่างเดียวจะทำให้น้ำหนักตัวลดลงเร็วและมักมีสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ได้รับยาขับปัสสาวะ มีภาวะท้องเดินเฉียบพลัน เป็นต้น การวินิจฉัยสาเหตุของน้ำหนักตัวลดจากการสูญเสียน้ำอย่างเดียวทำได้ง่ายจากการซักประวัติ ภาวะน้ำหนักตัวลดที่เกิดจากากรสูญเสียมวลเนื้อเยื่อจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมีสาเหตุหลายอย่าง โดยสาเหตุที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ ได้แก่ โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคติดเชื้อเรื้อรัง โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ท้องเดินเรื้อรัง โรคเรื้อรังต่างๆ เป็นต้น

สาเหตุของน้ำหนักลดนั้นมีมากมาย แต่พอจะสรุปเป็น 3 สาเหตุหลักได้ ดังนี้

สาเหตุทางการแพทย์ ได้แก่

โรคทางต่อมไร้ท่อและโรคทางเมตาบอลิก เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน

  • โรคเบาหวาน ผู้ป่วยจะมีภาวะขาดอินสุลินและหรือภาวะดื้อต่ออินสุลิน โดยที่อินสุลินมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเมตาบอลิสมของคาร์โบไฮเดรท ไขมัน และโปรตีน คือ ช่วยให้น้ำตาลกลูโคสเข้าเซลล์ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานและสะสมในรูปของกลัยโคเจนที่ตับและกล้ามเนื้อ ยับยั้งการสร้างน้ำตาลกลูโคสโดยตับ ส่วนเสริมการสร้างและยับยั้งการสลายไขมันและโปรตีน ภาวะขาดอินสุลินและภาวะดื้อต่ออินสุลิน จะทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลกลูโคสไม่ได้ มีการสร้างน้ำตาลกลูโคสโดยตับเพิ่มมากขึ้น และมีการสลายไขมันและโปรตีนเพื่อใช้เป็นพลังงานแทนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง และทำให้มวลเนื้อเยื่อไขมันและกล้ามเนื้อลดลง น้ำตาลกลูโคสในเลือดที่สูงขึ้นจะถูกขับออกทางปัสสาวะซึ่งจะทำให้มีการเสียน้ำและเกลือแร่ในเลือดทางปัสสาวะด้วย ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวลดลงร่วมกับมีอาการปัสสาวะบ่อยและหิวน้ำบ่อยซึ่งเป็นลักษณะทางคลินิกที่สำคัญของโรคเบาหวาน โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานจะยังคงรับประทานอาหารได้ปกติหรือรับประทานอาหารมากขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินสุลิน จะมีอาการดังกล่าวชัดเจนกว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลิน

  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญในการใช้พลังงานของเซลล์ ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีปริมาณไทรอยด์ฮอร์โมนมากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นและยังกระตุ้นให้มีการสลายไขมันมากขึ้นด้วย ทำให้อัตราเมตาบอลิสมพื้นฐานเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการหิวบ่อยและรับประทานอาหารมากขึ้น เพื่อชดเชยกับพลังงานที่ร่างกายใช้ไปแต่มักไม่เพียงพอจึงทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลง ยกเว้นบางรายที่สามารถรับประทานอาหารได้มากพอน้ำหนักตัวอาจไม่ลดลงชัดเจน ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะคนสูงอายุอาจมีอาการเบื่ออาหารซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวลดลงมากขึ้น การที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลง หิวบ่อยและรับประทานอาหารมากเป็นลักษณะทางคลินิกที่ชี้แนะถึงภาวะนี้

มะเร็ง เช่น มะเร็งของทางเดินอาหาร
โรคมะเร็งทุกชนิดสามารถทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงได้ ที่พบบ่อยได้แก่มะเร็งของทางเดินอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว กลไกที่ทำให้น้ำหนักตัวลดลงมีหลายประการร่วมกันที่สำคัญคือ การที่เซลล์มะเร็งซึ่งมีจำนวนมาก มีการใช้อาหาร และอาการไข้ที่อาจเกิดร่วมด้วยจะทำให้ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้นในขณะที่ปริมาณอาหารที่ร่างกายได้รับลดลงจากการที่ผู้ป่วยมีอาการเบี่ออาหารร่วมด้วย

โรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค เอดส์ โรคฝีบิดอมีบา

  • โรคติดเชื้อ ภาวะน้ำหนักตัวลดมักพบเสมอในผู้ป่วยโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค เชื้อรา เยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ ฝีตามอวัยวะต่างๆ เป็นต้น ไข้และการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อทำให้เมตาบอลิสมของร่างกายเพิ่มขึ้นโดยอุณภูมิกายที่สูงขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ อัตราเมตาบอลิสมพื้นฐาน เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติร้อยละ 7 นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร ท้องเสียหรืออาเจียนร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงมากขึ้น

โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
โรคกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ SLE, Rheumatoid arthritis, polymyositis และ dermatomyositis ภาวะไข้และการอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้น้ำหนักตัวลดลงคล้ายกับในภาวะติดเชื้อ

ยา เช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะบางชนิด
ยาหลายชนิดมีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ เช่น ดิจิตาลิส แอมเฟตามีน เพราะทำให้เบื่ออาหาร การใช้ยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอย อาจระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน การใช้ยาระบายทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อย การได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไปก็พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้

โรคทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน
ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารทั้งการย่อยและหรือการดูดซึมอาหารจะทำให้ร่างกายได้รับอาหารน้อยลงและมีน้ำหนักตัวลดลง ความผิดปกติดังกล่าวได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟัน ปัญหาเกี่ยวกับการกลืน ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติที่ทำให้การดูดซึมอาหารไม่ดีและหรือทำให้เกิดท้องเดินเรื้อรัง

โรคเรื้อรังอื่นๆ
โรคเรื้อรังต่างๆ ที่ทำให้น้ำหนักตัวลดลงบ่อย ได้แก่ ไตวายเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง ภาวะหัวใจวายเรื้อรังรวมทั้งภาวะต่อมหมวกไตทำงานน้อย ทั้งที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของต่อมหมวกไตเอง และของต่อมใต้สมองโดยจะทำให้ผู้ป่วยเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และรับประทานอาหารน้อยลง อย่างไรก็ตามน้ำหนักตัวอาจไม่ลดลงชัดเจน หรืออาจเพิ่มขึ้นถ้ามีการคั่งของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายร่วมด้วย

โรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

โรคในช่องปาก เป็นอุปสรรคในการเคี้ยวอาหารโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

ปัจจัยเกี่ยวกับอายุ อายุมากขึ้นมักมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เช่น ปัญหาการรับรสอาหาร การรับกลิ่น การเคี้ยวอาหาร โรคประจำตัวต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทานอาหารได้น้อยลง

โรคทางระบบประสาท เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง โรคปาร์กินสัน
ความผิดปกติของฮัยโปธาลามัส สมองส่วนฮัยโปธาลามัสเป็นบริเวณที่มีศูนย์การกินและศูนย์การอิ่มอยู่และยังทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมใต้สมองด้วย ความผิดปกติของสมองส่วนนี้จากสาเหตุต่างๆ เช่น เนื้องอก อาจรบกวนศูนย์การกินซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกหิวอาจทำให้การทำงานของต่อมใต้สมองลดลง เป็นผลให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลง

สาเหตุทางจิตใจและพฤติกรรม
ภาวะและโรคซึมเศร้า การสูญเสีย และความวิตกกังวลมีผลต่อการกินอาหาร หรือผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและการดูดซึมอาหารบางชนิดไม่ดี

ความกังวล อารมณ์ซึมเศร้า และปัญหาทางจิตใจอื่นๆ อาจทำให้เบื่ออาหาร รับประทานอาหารน้อยลง และน้ำหนักตัวลดได้แต่มักไม่มาก ยกเว้นภาวะ anorexia nervosa ซึ่งน้ำหนักตัวลดลงได้มากอย่างไรก็ตามก่อนที่จะสรุปว่าภาะน้ำหนักตัวลดมีสาเหตุจากความผิดปกติทางจิตใจจะต้องหาสาเหตุจากโรคทางกายก่อน ผู้ป่วย anorexia nervosa จะมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย 3 ประการ คือ

  • 1. มีความผิดปกติทางจิตใจและพฤติกรรม ซึ่งทำให้มีอาการเบื่ออาหารอย่างมากและไม่รับประทานอาหารจนทำให้น้ำหนักตัวลดลงมาก
  • 2. มีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 25 ของน้ำหนักตัวเดิมหรือมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าร้อยละ 85 ของน้ำหนักมาตรฐาน
  • 3. ขาดประจำเดือน ผู้ป่วยร้อยละ 95 เป็นเพศหญิง และมีอายุประมาณ 15-30 ปี ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยพบว่ามีประวัติกลัวอ้วน หรือเคยลดความอ้วนแต่ยังรู้สึกว่าตัวเองยังอ้วนอยู่แม้ว่าสามารถลดน้ำหนักลงจนอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงมีความรู้สึกหิวแต่ไม่อยากรับประทานอาหาร และเมื่อรับประทานอาหารเพียงเล็กน้อยก็มีความรู้สึกอิ่ม การรับประทานอาหารน้อยจะทำให้เกิดภาวะขาดอาหารและทำให้ hypothalamic pituitary gonadal axis มีการทำงานผิดปกติ ผู้ป่วจึงขาดประจำเดือน แต่ขนที่อวัยวะเพศยังคงปกติ การทำงานของต่อมไทรอยด์และต่อมหมวกไตยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งใช้แยกภาวะนี้จากภาวะต่อมใต้สมองทำงานลดลง จากสาเหตุต่างๆ ได้ เช่น เนื้องอกสมอง เป็นต้น แม้ว่าผู้ป่วย anorexia nervosa จะรับประทานอาหารน้อย แต่ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ยกเว้นในรายที่เป็นรุนแรงมากจนมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรง

  1. สาเหตุทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความยากจน การแยกตัวออกจากสังคม ปัญหาการคมนาคม การด้วยการศึกษา และการเสื่อมโทรมของสังคม ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการได้มาซึ่งอาหารและการรับประทานอาหารของประชากร

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

1.ยืนยันได้แน่นอนว่ามีน้ำหนักตัวลดลงในเกณฑ์ที่ผิดปกติ คือ มากกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวปกติในเวลา 6 เดือน

2.อัตราการลดลงของน้ำหนักตัว ถ้าเกิดขึ้นเร็วในเวลาเป็นวันจะบ่งชี้ถึงสาเหตุที่ทำให้มีการสูญเสียน้ำในร่างกาย ถ้าเกิดขึ้นช้าในเวลาเป็นสัปดาห์หรือนานกว่าจะชี้แนะถึงสาเหตุที่ทำให้มีการสูญเสียมวลเนื้อเยื่อ ถ้าน้ำหนักตัวลดลงมากแล้วบ่งชี้ถึงโรคหรือความผิดปกติที่สำคัญและรุนแรงซึ่งต้องรีบสืบค้นถึงสาเหตุ

3.มีอาการหรืออาการแสดงของสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย

แหล่งอ้างอิง

1. ชุษณา สวนกระต่าย, กมล แก้วกิติณรงค์, กมลวรรณ จุติวรกุล, บรรณาธิการ. Manual of medical diagnosis. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552, 291-294.
2. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ, วัชรา บุญสวัสดิ์, กาญจนา จันทร์สูง, บรรณาธิการ. อาการวิทยาทางอายุรศาสตร์ Symptomatology in general medicine. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่3. 2540, 321-328.



28 ธันวาคม 2553 29 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย