ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 3785
Small_font Large_font

หูด (Warts)

คำจำกัดความ

หูด เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาของผิวหนัง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่ก็เป็นได้ แต่จะพบได้น้อยในคนอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปหูดมีหลายชนิด อาจมีขนาดแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น อาจขึ้นเดี่ยว ๆ หรือหลายอันก็ได้มักขึ้นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือฝ่าเท้า อาจขึ้นตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ รวมทั้งที่อวัยวะเพศ หูดเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างไร นอกจากทำให้แลดูน่าเกลียดน่ารำคาญ หรืออาจมีอาการปวดได้เป็นบางครั้ง ส่วนมากจะยุบหายได้เองตามธรรมชาติ (แม้จะไม่ได้รับการรักษา) ภายหลังที่เป็นอยู่หลายเดือน บางคนอาจเป็นอยู่เป็นปี ๆ กว่าจะยุบหาย เมื่อหายแล้วอาจกลับเป็นใหม่ได้อีก

เป็นโรคติดเชื้อไวรัสตระกูล Papillomavirus ที่ผิวหนังและเยื่อบุ เชื้อนี้ทำให้เกิดตุ่มนูนที่เรียกว่า Papilloma จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Humanpapilloma virus (HPV) เพราะก่อโรคในคนเท่านั้น HPV ที่เป็นต้นเหตุของโรคหูดมีมากกว่า 150 ชนิดแต่ละชนิดทำให้เกิดตุ่มที่ผิวหนังแตกต่างกัน

อาการ

หูดชนิดพบเห็นทั่วไป เรียกว่า common warts จะมีลักษณะเป็นตุ่มกลมแข็ง ผิวหยาบ ออกเป็นสีเทา ๆเหลือง ๆ หรือน้ำตาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มิลลิเมตร มักจะขึ้นตรงบริเวณที่ถูกเสียดสีง่าย (เช่นนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า หนังศีรษะ เป็นต้น) และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หูดที่เป็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าจะมีลักษณะเป็นไตแข็ง ๆ หยาบๆ แต่จะแบนราบเท่าระดับผิวหนังที่ปกติ เพราะมีแรงกดขณะเดินใช้งาน ลักษณะคล้าย ๆ ตาปลา แต่จะแยกกันได้ตรงที่หูดถ้าใช้มีดฝานอาจมีเลือดไหลซิบ ๆ และอาจมีอาการเจ็บปวดได้ หูดที่เป็นติ่ง (Filiform warts) จะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ ขึ้นที่หนังตา ใบหน้า ลำคอ หรือริมฝีปาก

การติดเชื้อหูดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.โรคหูดที่ผิวหนังที่ไม่ใช่หูดที่อวัยวะเพศ ได้แก่

หูดแบนราบ (Flat or Plane warts) เป็นที่เป็นตุ่มแบนราบ ขนาด 2-4 มม. พบกระจายอยู่ที่หน้า แขน ขา ตุ่มหูดมักไม่มีอาการใดๆ อาจมีขุยเล็กน้อย ตุ่มหูดที่หน้าและคอบางครั้งยื่นออกไปเหมือนกิ่งไม้เล็กๆ ขนาด 1-2 มม. เรียกหูดชนิดนี้ว่า Filiform warts

หูดสามัญ (Common warts) หูดชนิดนี้พบเป็นก้อนนูนเดี่ยวๆหรืออยู่กันเป็นกลุ่ม ผิวของก้อนมีลักษณะเป็นหนาม ขรุขระ เกิดบริเวณใดของผิวหนังก็ได้ พบบ่อยตามแขนขา หลังมือ นิ้วมือมีขนาด 1มม.-1 ซม.

หูดรอบจมูก เล็บ (Periungual and subungual wart) เป็นตุ่มหรือก้อนผิวขรุขระที่รอบจมูกเล็บหรืออยู่ใต้เล็บ เป็นหูดที่รักษาให้หายขาดยากมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูง เพราะโครงสร้างของพื้นเล็บเป็นรอนๆเชื้อหูดจึงหลบซ่อนอยู่ได้

หูดที่ฝ่ามือฝ่าเท้า(Palmar and plantar warts) ตุ่มหรือก้อนหูดที่ฝ่ามือฝ่าเท้ามักโตยื่นลงไปในเนื้อผิวหนังเพราะถูกกดทับจากการยืนเดิน ถ้าก้อนหูดกดประสาททำให้เกิดอาการเจ็บ ปวดได้ ตุ่มหูดที่ฝ่ามือฝ่าเท้าขนาดเล็กอาจรวมตัวกันเป็นปื้นใหญ่เรียกว่า Mosaic warts

2.โรคหูดที่อวัยวะเพศ (Anogenital warts) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ เป็นก้อนนูนรูปร่างคล้ายหงอนไก่ (Condyloma accuminata) เกิดที่บริเวณอวัยวะเพศของผู้ชายและผู้หญิง ในผู้ชายหูดเป็นก้อนนูนคล้ายหงอนไก่ที่หนังหุ้มปลาย Corona glandes องคชาติ รอบทวารหนัก บางครั้งพบในท่อปัสสาวะด้วยเรียกว่า urethral warts สำหรับผู้หญิงจะพบหูดที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก และรอบทวารหนัก

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เอชพีวี (HPV/Human papilloma virus) ซึ่งมีประมาณ 70 ชนิด เมื่อเชื้อไวรัสแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ผิวหนัง ก็จะเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหูดงอกออกจากผิวหนังส่วนที่ปกติหูดสามารถติดต่อโดยการสัมผัสถูกคนที่เป็นหูดโดยตรง ระยะฟักตัว 2-18 เดือน

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการดูลักษณะของโรคที่เป็นว่าเหมือนกับโรคหูดหรือไม่ แต่ในบางครั้งอาจต้องขูดบริเวณผิวของตุ่มเพื่อที่จะหาเส้นเลือดที่ถูกอุดตัน(clotted blood vessels) แต่ถ้าแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อาจต้องนำตัวอย่างของตุ่มไปทำการวิเคราะห์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้

ภาวะแทรกซ้อน

HPV บางชนิดเป็นสาเหตุของมะเร็ง เช่น HPV ชนิด 16, 18 ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก HPV ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดมะเร็งที่ผิวหนัง

การรักษาและยา

หลักการดูแลรักษาหูดที่ผิวหนังคือทำลายผิวหนังที่มีเชื้อไวรัสออกให้หมด วิธีที่ใช้อยู่มีดังนี้: ใช้สารเคมี ไฟฟ้า Ellman ความเย็น หรือ คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์

การพิจารณาเลือกวิธีการรักษาหูดขึ้นกับปัจจัยต่อไปนี้

1.อายุผู้ป่วย เช่น เด็ก อาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษาเพราะ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยหูดจะหาย ไปเองในระยะเวลา 2 ปี
อย่างไรก็ตามาผู้ปกครองบางรายอาจมีความกังวล ซึ่งจริงๆแล้วหูดไม่มีอันตรายอะไร แต่การรักษาอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและเกิดแผลเป็นได้ จึงน่าจะติดตามดูอาการรอเวลาให้ตุ่มหูดหายเองจากประสบการณ์ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักขอให้รักษาโรคหูดให้หายไปโดยเร็ว

2.หูดเป็นมากน้อยเพียงใด เป็นมานานเท่าใด ตำแหน่งที่เป็น หูดที่เป็นมากและเป็นมานานไม่หายไปเองหรือเป็นในตำแหน่งที่ผิวหนังมีเคอราตินหนาควรพิจารณาให้การรักษาด้วยยาทาที่มีกรดเป็นส่วนผสม จี้ความเย็น ไฟฟ้าหรือ Ellman

3.ความต้านทานของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีความต้านทานไม่ดี เช่น รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นโรคติดเชื้อ HIV ควรรีบให้การรักษาด้วยยาทา หรือ ใช้ความเย็น การใช้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์เผาหูดต้องระวังควันที่เกิดจากการจี้หูดเพราะมีการศึกษาแล้วพบ เชื้อไวรัส HIV อยู่ในควันไฟ ผู้ที่จะใช้เทคนิกดังกล่าวต้องใส่หน้ากากหรือ Mask กรองควันไฟที่มีเชื้อปนเปื้อน

4.ความต้องการของผู้ป่วย หูดบางชนิดมีขนาดเล็ก เช่น หูดแบนราบ ผู้ป่วยไม่มีความเดือดร้อนก็อาจไม่ต้องให้การรักษา

5.เครื่องมือที่มีอยู่ และความชำนาญของแพทย์ผู้รักษา

สารเคมีที่ใช้รักษาหูด มีหลายชนิดดังนี้

1. กรดชนิดต่างๆ กรดที่ใช้รักษาหูดได้แก่ salicylic acid และ lactic acid ในประเทศไทยมียาสำเร็จรูปที่มีขายอยู่คือ

  • DuofilmR ประกอบด้วย 16.7% salicylic acid ผสม 16.7% lactic acid
  • CollomaxR ประกอบด้วย salicylic acid 2 กรัม + lactic acid 0.5กรัม + polidocanol 0.2 กรัม
  • VerumalR ประกอบด้วย 10% salicylic acid + 0.5 % fluorouracil + 8% DMSO

2. สารเคมีที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน (Immune response modifying agent) สารเคมีกลุ่มนี้ที่มีขายในประเทศไทยคือ immiquimod cream

การใช้ยาทารักษาหูดมีข้อสังเกตดังนี้

1. การรักษาด้วยวิธีนี้เจ็บน้อย ได้ผลช้า ต้องการความเข้าใจและร่วมมือของผู้ป่วยและญาติ หูดในบริเวณฝ่าเท้าที่มีเคอราตินหนา ควรต้องฝานเคอราตินออกด้วยใบมีดเบอร์ 30 ก่อนที่จะทายาเพราะยาที่ทาจะพอกอยู่บนผิวของก้อนหูดทำให้กรดไม่สามารถซึมลงไปกัดเนื้อหูดที่อยู่ส่วนลึกได้

2. นัดติดตามผลทุก 1-2 สัปดาห์เพื่อดูว่าก้อนหูดยุ่ย และหลุดลอกออกหรือไม่ ถ้าพบว่าเคอราตินยังหนาก็ให้ฝานเอาเนื้อหูดส่วนบนๆออกอีก ทำเช่นนี้หลายครั้งก้อนหูดจะถูกดันให้ตื้นขึ้นแล้วลอกหลุดไป

3. ยากลุ่ม Immune response modifying agent เช่น immiquimod ครีม ใช้รักษาหูดที่อวัยวะเพศและรอบทวารหนักได้ผลดี ส่วนหูดผิวหนัง เช่น ที่มือ แขน ขา ได้ผลไม่ดีเพราะผิวหนังบริเวณนี้มีเคอราตินหนา ยาซึมเข้าสู่ผิวหนังได้น้อย

การจี้ด้วยไฟฟ้า(electrodesication) เป็นวิธีที่ใช้รักษาหูดที่ได้ผลดี เครื่องมือราคาถูก หูดที่ฝ่าเท้าถ้าจะใช้วิธีนี้ต้องระวังอย่างใช้ไฟฟ้าทีมีพลังงานสูงเพราะอาจทำให้เกิดแผลเป็น ในตำราโรคผิวหนังทั่วไปแนะนำไม่ให้ใช้วิธีนี้เพราะอาจเกิดแผลเป็นที่ฝ่าเท้า ถ้าจะใช้วิธีนี้ให้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่แรงมากจี้ที่ขอบของก้อนหูดแล้วใช้กรรไกโค้งปลายแหลมตัดตามรอยที่จี้ไฟฟ้าไว้แล้วเลาะเอาก้อนหูดออก ใช้ Currete ขูดที่พื้นแผลที่ยกก้อนหูดออกไปให้เกลี้ยง ใช้กรรไกรโค้งปลายแหลมตัดขอบผิวหนังที่อยู่รอบหูดออกเพื่อกำจัดผิวหนังที่อาจมีเชื้อไวรัสอยู่ออกพบว่าได้ผลดี

การจี้ด้วยความเย็น เป็นวิธีรักษาหูดที่ได้ผลดีอาจใช้ไม้พันสำลีจุ่มไนโตรเจนเหลวที่ให้ความเย็น -196 C จี้ลงที่ก้อนหูด หรือ ใช้ Spray canister เป็นกระป๋องบรรจุไนโตรเจนเหลวที่มีหัวพ่นพ่นที่ก้อนหูดจนเห็นเป็นสีขาวนาน 5-25 วินาที มักต้องนัดมาทำซ้ำใน1-2 สัปดาห์ถัดไป อย่างไรก็ตามการใช้ไนโตรเจนเหลวมีข้อดีเพราะสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคหูดที่มีการติดเชื้อHIVร่วมด้วยได้ ไม่ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของควันที่มีเชื้อไวรัส HIV อยู่เหมือนเครื่องจี้ไฟฟ้าและแสงเลเซอร์

การรักษาด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ จะไม่กล่าวถึงในที่นี้เพราะเครื่องมือมีราคาแพงเหมาะที่จะมีใช้ในหน่วยงานที่มีผู้ชำนาญทางด้านนี้

การดูแลรักษาหูดที่อวัยวะเพศและรอบทวารหนักหรือหูดหงอนไก่(Anogenital warts) หูดชนิดนี้มีความพิเศษที่ ตอบสนองดีต่อ 25% Podophyllin in tincture benzoin ทายานี้ที่ตุ่มหูดจะทำให้ตุ่มยุบลงได้ใน 1-2 สัปดาห์ทั้งนี้ขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย เทคนิคในการทายานี้คือ ระวังไม่ให้ยาสัมผัสผิวหนังปกติเพราะอาจเกิดผื่นระคายสัมผัส แนะนำให้ทาขี้ผึ้งวาสลินบนผิวหนังปกติรอบตุ่มหูดก่อนทายา Podophyllin เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผื่นระคายสัมผัส ผู้ป่วยไม่ควรนำยา 25% Podophyllin กลับไปทาเองที่บ้านเพราะผู้ป่วยอาจทายามากเกินจนเกิดผลข้างเคียง

มียาทารุ่นใหม่คือ Purified podophyllotoxin ที่มีความเข้มข้นของตัวยาแน่นอน ระคายผิวหนังน้อยสามารถนำไปทาเองที่บ้านได้ แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากยานี้มีปริมาณการใช้ไม่มากจึงยังไม่มีบริษัทยานำเข้ายานี้มาขายในประเทศไทย
ยากลุ่ม immunoresponse modifier คือ 5% Immiquimod cream ใช้รักษาหูดหงอนไก่ได้ผลดี วิธีทายานี้ให้ทายาลงบนก้อนหูดให้ทั่วก่อนนอนสัปดาห์ละ 3 วัน หูดจะยุบใน 8-10 สัปดาห์ อัตราการกลับเป็นโรคซ้ำลดลง เหลือเพียงร้อยละ 13

ข้อแนะนำ

  • 1. ควรหาทางป้องกัน โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นหูด
  • 2. เมื่อเป็นหูดพยายามอย่าเกาบริเวณที่เป็น อาจลุกลามหรือแพร่กระจายไปตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Podophyllin, Salicylic acid, Lactic acid, Immiquimod cream

แหล่งอ้างอิง

1.อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. 2545, 83-85.
2.ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548, 231-234.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย