ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 1141
Small_font Large_font

เล็ปโตสไปโรซิส(โรคฉี่หนู) (Leptospirosis)

คำจำกัดความ

โรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) โดยสัตว์ที่สามารถนำโรคมาติดคนได้มีหลายชนิด แต่พบติดต่อจากการสัมผัสปัสสาวะของหนูที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำขังมากที่สุด จึงเรียกโรคนี้ว่าโรคฉี่หนู

โรคนี้พบได้ทั่วโลก (ยกเว้นเขตขั้วโลก) ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ผู้ป่วยมักจะมีประวัติเดินลุยน้ำขังหรือมือที่มีแผลสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นโรค ดังนั้นจึงมักพบโรคนี้ใน

  1. เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ : กลุ่มเสี่ยงต่อโรคสูง ได้แก่
    • เกษตรกร : ชาวนา, ชาวไร่อ้อย, คนเลี้ยงสัตว์ เช่น คนงานฟาร์มโคนม, คนงานบ่อปลา เป็นต้น
    • คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ
    • คนงานเหมืองแร่
    • คนงานโรงฆ่าสัตว์ และสัตวแพทย์
  2. มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝน ซึ่งมีน้ำขัง หรือระบาดหนักหลังจากเกิดน้ำท่วม
  3. กลุ่มที่ชอบเดินป่า, ตั้งแคมป์, ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก

อาการ

อาการและอาการแสดงของโรคเล็ปโตสไปโรซิส มีได้ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงถึงชีวิต แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่

  1. โรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง (anicteric leptospirosis) หรือแบบไม่รุนแรง พบได้มากกว่า 90% แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
    • ระยะมีเชื้อในกระแสเลือด (leptospiremic phase) : ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งโรคนี้จะมีลักษณะเฉพาะคือ ปวดบริเวณน่องมาก , มักมีอาการปวดศีรษะมาก โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าหรือหลังเบ้าตา, เยื่อบุตาแดง, อาจพบอาการดีซ่านได้เล็กน้อย >> อาการในระยะนี้จะหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ช่วงที่ไม่มีอาการจะนาน 1-3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่สอง
    • ระยะที่มีเชื้อในปัสสาวะ (leptospiruric phase) : ระยะนี้เป็นผลมาจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการจะรุนแรงน้อยกว่าในระยะที่มีเชื้อในกระแสเลือด ลักษณะที่สำคัญของโรคในระยะนี้คือ
    • กว่า 15% ของผู้ป่วยจะมีอาการและอาการแสดงของภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไร้เชื้อ (aseptic meningitis) ส่วนใหญ่พบในเด็ก ซึ่งอาจหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วันหรืออาจคงอยู่นานเป็นสัปดาห์
    • ภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบ มักเกิดตามหลังอาการเริ่มแรกของโรคนานหลายเดือน และคงอยู่ได้นานเป็นปี
  2. โรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบมีอาการเหลือง หรือแบบรุนแรง (severe leptospirosis) : พบประมาณ 5-10 % แต่มีอัตราการตายสูงถึง 5-15% โดยอาการในระยะเริ่มแรกจะไม่แตกต่างจากโรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง แต่ไม่มีลักษณะที่แบ่งออกเป็นสองระยะชัดเจน โดยมักแสดงอาการรุนแรงภายใน 4-9 วันหลังจากเริ่มมีอาการ อาการประกอบด้วย
    • อาการดีซ่าน : ผู้ป่วยจะมีลักษณะเหลืองมากจนแทบเห็นผิวหนังเป็นสีส้ม มักมีตับโตและกดเจ็บร่วมด้วย แต่ มีผู้ป่วยไม่มากนักที่จะเสียชีวิตจากภาวะตับวาย
    • ไตวายเฉียบพลัน
    • อาการทางปอด จากเลือดออกในถุงลมในปอด เช่น ไอมีเสมหะปนเลือด, เจ็บหน้าอก, หอบเหนื่อย จนถึงระบบหายใจล้มเหลว
    • ความผิดปกติทางระบบการแข็งตัวของเลือด : มีตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น เลือดกำเดาไหลและจ้ำเลือดตามผิวหนัง ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารและเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
    • อาการอื่นๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อลายสลายตัว, เม็ดเลือดแดงแตก, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบรุนแรง, ภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ เป็นต้น

สาเหตุ

โรคเล็ปโตสไปโรซิส มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochete) ชื่อ เล็บโตสไปร่า อินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) เชื้อชนิดนี้อาศัยอยู่ในท่อหลอดไตของสัตว์ได้หลายชนิด โดยมีหนูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญที่สุด โดยที่สัตว์อาจจะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์ หลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อ ถ้าออกมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือน เช่น ดิน, โคลน, แหล่งน้ำ, น้ำตก, แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น โดยมีรายละเอียดของการติดเชื้อดังนี้

สัตว์นำโรค : ไม่พบมีการติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยสัตว์ที่สามารถเป็นแหล่งรังโรค (มีการติดเชื้ออยู่ในท่อไต) และปล่อยเชื้อออกมาได้ มีหนูเป็นแหล่งรังโรคสำคัญ แต่ยังมีสัตว์อื่นอีก ได้แก่ สุกร, โค กระบือ, สุนัข, แรคคูน เป็นต้น

วิธีการติดต่อของโรค : ส่วนใหญ่คนได้รับเชื้อนี้โดย

  1. การสัมผัสกับปัสสาวะ, เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง
  2. การสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น
    • การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
    • การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะ หรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
    • เข้าผ่านเยื่อบุต่างๆ ซึ่งบางและอ่อนนุ่ม เช่น ตา และปาก
    • ไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน
    • ไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ ทำให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ย

ระยะฟักตัวของโรค : ใช้เวลาประมาณ 2-30 วัน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-19 วัน

การวินิจฉัย

  1. ประวัติ
    • ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการไข้สูง ร่วมกับอาการต่างๆ ที่เข้าได้กับโรคนี้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
    • ถ้ามีประวัติลุยน้ำขังหรือไปเที่ยงแหล่งน้ำมาก่อน จะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้มากขึ้น
  2. ตรวจร่างกาย
    • ไม่พบตำแหน่งของการติดเชื้อชัดเจน เช่น ไม่มีการติดเชื้อที่ปอดหรือไตอักเสบจากการติดเชื้อ
    • ตรวจร่างกายพบลักษณะที่เข้าได้กับโรคนี้ เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง, กดเจ็บที่น่องมาก, เยื่อบุตาขาวแดง เป็นต้น
    • การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม*
    • การตรวจเม็ดเลือด (CBC) : ส่วนใหญ่จะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น, บางรายมีเกร็ดเลือดต่ำร่วมด้วย
    • ค่าแสดงการอักเสบของร่างกาย (ESR) เพิ่มขึ้น
    • ตรวจการทำงานของไต : ในรายที่อาการรุนแรง จะพบการทำงานของไตเสื่อม
    • ตรวจปัสสาวะ : พบมีเม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, ไข่ขาวและน้ำดี รั่วออกมาในปัสสาวะ
    • ตรวจการทำงานของตับ : พบการอักเสบของตับ (มีการค่าการทำงานของตับสูงขึ้น)
    • การเพาะเชื้อจากเลือด : สามารถเพาะเชื้อได้ในระยะแรกของโรค
    • การตรวจทางภูมิคุ้มกัน : สามารถตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์
    • การตรวจเอ็กซเรย์ปอด : ในรายที่อาการรุนแรง อาจพบเลือดรั่วออกมาอยู่ในถุงลมได้

ภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยที่มีอาการแบบรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว หรือเสียชีวิตได้

การรักษาและยา

การรักษาประกอบด้วย

  1. การรักษาเฉพาะ คือ การให้ยาฆ่าเชื้อ โดย
    • ถ้าอาการไม่รุนแรง : สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยการรับประทานยาฆ่าเชื้อได้
    • ถ้าอาการรุนแรง : จะพิจารณาให้นอนโรงพยาบาล เพื่อรักษาโดยการฉีดยาฆ่าเชื้อเข้าทางเส้นเลือดดำ
  2. การรักษาตามอาการ ประกอบด้วย
    • การให้ยาลดไข้
    • การให้ยาแก้ปวด
    • การให้ยากันชัก : ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชัก
    • การให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
    • การให้สารน้ำและเกลือแร่
  3. การรักษาภาวะแทรกซ้อน
    • หากเกร็ดต่ำหรือเลือดออกง่ายก็อาจจะจำเป็นต้องให้เกร็ดเลือดหรือน้ำเหลือง
    • การให้ยารักษาภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
    • การแก้ปัญหาตับวาย
    • การแก้ปัญหาไตวาย

การป้องกันโรคนี้ ทำได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ , แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต
  • ป้องกันโรคแก่ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ใช้ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ต เป็นต้น ก่อนการสัมผัสกับน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
  • ตรวจแหล่งน้ำและดินทรายที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ถ้าเป็นน้ำในท่อระบายน้ำ ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป
  • ถ้าพบสัตว์ติดเชื้อต้องแยกออกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่นๆ หรือเกิดการปนเปื้อนเชื้อบริเวณที่อยู่อาศัย, สถานที่ทำงาน, แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว เป็นต้น
  • ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยของคน โดยเฉพาะในเขตชนบทและบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว เป็นต้น

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Doxycycline , ceftriaxone, doxycycline

แหล่งอ้างอิง

  1. พรรณทิพย์ ฉายากุล, บรรณาธิการ. ตำราโรคติดเชื้อ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โฮลิสติก พับลิชชิ่ง , 2548.
  2. วิทยา ศรีดามา. ตำราอายุรศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550.
  3. http://www.dhpe.org/infect/Lepto.html


17 กรกฎาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย