ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 827
Small_font Large_font

เก๊าท์ (Gout)

คำจำกัดความ

โรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจากการมีความผิดปกติของกระบวนการณ์เผาผลาญอาหารของร่างกาย ทำให้มีกรดยูริคในเลือดสูง ส่งผลให้มีการสะสมของเกลือยูเรตในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการปวดข้อจากข้ออักเสบ ซึ่งอาการปวดข้อในโรคนี้รุนแรงมาก จนผู้ป่วยอาจสะดุ้งตื่นกลางดึกหรือเดินไม่ไหว แต่โรคนี้เป็นโรคที่สามารถรักษาให้ไม่เกิดอาการกำเริบได้

โรคเก๊าท์มักพบในผู้ใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้นไป และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 6-10 เท่า แต่ผู้หญิงจะเป็นโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในช่วงหลังหมดประจำเดือน

อาการ

  • ระยะแรก : ผู้ป่วยจะมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลันเป็นๆหายๆ เวลาข้ออักเสบกำเริบจะเกิดอาการปวดข้ออย่างมากขึ้นทันทีทันใด โดยไม่มีอาการเตือนมาก่อน ร่วมกับมีอาการกดเจ็บ , ข้อบวม และผิวหนังบริเวณข้อที่อักเสบบวมแดง มักเกิดในเวลากลางคืน ทำให้ต้องสะดุ้งตื่น มักเป็นครั้งละ 1-2 ข้อ ส่วนใหญ่พบที่ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า, ข้อเท้าและข้อเข่า ตามลำดับ โดยอาการปวดจะรุนแรงมากใน 12-24 ชั่วโมงแรก จากนั้นอาการปวดจะลดลงและปวดอยู่นานไม่เกิน 7-14 วัน อาการปวดก็จะหายไปเอง
ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าไม่รักษาจะทำให้อาการปวดรอบต่อไปรุนแรง มากขึ้น , จำนวนข้อที่อักเสบเพิ่มขึ้นและทำให้ข้อนั้นถูกทำลายอย่างถาวรได้
  • ระยะหลัง : จะมีอาการข้ออักเสบเรื้อรังพร้อมกันหลายข้อ และบางรายอาจมีก้อนนูนออกมาตามข้อต่างๆ เรียกว่า โทไฟ (Tophi) เกิดจากมีการสะสมของผลึกเกลือยูเรตภายในข้อและชั้นใต้ผิวหนังรอบๆ ข้อ ซึ่งถ้าโทไฟมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดข้อผิดรูปและเกิดความพิการตามมาได้

สาเหตุ

โรคเก๊าท์ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยมีกรดยูริคในเลือดมากเกินไป จึงเกิดการตกตะกอนเป็นเกลือยูเรตในข้อต่างๆ

กรดยูริคเป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารที่มีพิวรีนเป็นส่วนประกอบ แล้วถูกดูดซึมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นจะถูกส่งไปที่ไต เพื่อขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ

ดังนั้นภาวะกรดยูริคในเลือดสูง จึงเกิดจาก 2 กลไก คือ

  1. การกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เนื้อไก่,เครื่องในสัตว์, ยอดผัก เป็นต้น
  2. ไตมีความผิดปกติ ทำให้ขับกรดยูริคออกจากร่างกายได้น้อยกว่าปกติ

ปัจจัยที่ทำให้คุณมีโอกาสป่วยเป็นโรคเก๊าท์มากขึ้น คือ

  1. มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคเก๊าท์
  2. อายุและเพศ : โรคเก๊าท์พบบ่อยในเพศชาย แต่ผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือนจะเป็นโรคนี้ได้บ่อยขึ้น
  3. พฤติกรรมการกินบางอย่าง เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์มาก , กินอาหารที่มีพิวรีนสูง
  4. ป่วยเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง,หลอดเลือดแดงแข็งและตีบ
  5. กินยาบางอย่างเป็นประจำ เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide เช่น HCTZ

การวินิจฉัย

  • ประวัติ : มีอาการปวดข้อเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เป็นหลังจากทานอาหารที่มีพิวรีนสูง หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ ตอบสนองดีต่อยาcolchicine หลังทานยาอาการจะหายเร็ว
  • ตรวจร่างกาย : ในช่วงที่มีอาการกำเริบ จะตรวจพบบริเวณข้อโดยเฉพาะข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า มีอาการบวม ผิวหนังแดงและร้อน แต่ในระยะที่โรคสงบ ผู้ป่วยที่เป็นโรคมานาน อาจตรวจพบก้อนโทไฟที่ข้อต่างๆ
  • เจาะเลือด : เพิ่อวัดปริมาณของกรดยูริคในเลือด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีกรดยูริคในเลือดปริมาณสูง แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคเก๊าท์เสมอไป
  • ใช้เข็มเจาะเอาน้ำในข้อที่อักเสบไปตรวจ : นำน้ำจากข้อไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบผลึกของเกลือยูเรต

ภาวะแทรกซ้อน

  • มีอาการโรคเก๊าท์กำเริบบ่อยๆ
  • ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาโรค ในระยะหลังจะมีก้อนโทไฟยื่นปูดออกมาจากผิวหนังบริเวณรอบข้อ ซึ่งก้อนนี้ปกติไม่มีอาการปวด แต่ถ้ามีโรคกำเริบ จะทำให้เกิดอาการปวดและกดเจ็บที่ก้อนได้
  • เป็นนิ่วในไต จากเกลือยูเรตที่มีมาก ไปสะสมอยู่ในทางเดินปัสสาวะ

การรักษาและยา

ถ้าป่วยเป็นโรคเก๊าท์แล้ว โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีน้อย ผู้ป่วยมักต้องกินยาไปตลอดชีวิต แต่ถ้ารักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ในระยะแรกของโรค จะช่วยระงับและลดความถี่ของอาการข้ออักเสบกำเริบ จึงเป็นการป้องกันการทำลายข้อ เกิดความพิการของข้ออย่างถาวร และภาวะแทรกซ้อนทางไตได้

การรักษาโรคนี้ ประกอบด้วย
1. การรักษาด้วยยา : ยาที่ใช้ในการรักษาโรคนี้ ประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • ยาต้านการอักเสบ : ใช้ยานี้ในขนาดสูงในช่วงที่โรคเก๊าท์กำเริบ เพื่อช่วยลดอาการปวดและการอักเสบ และเมื่ออาการปวดหาย จะใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดต่ำเพื่อช่วยป้องกันโรคเก๊าท์กำเริบ ในผู้ป่วยรายที่มีอาการของโรคกำเริบบ่อย มากกว่า 3 ครั้งต่อปี ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
    • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) : เป็นยาตัวแรกที่เลือกใช้ แต่หลีกเลี่ยงในผู้ป่วยรายที่เป็นโรคกระเพาะอาหารและไตวาย
    • ยาโคคีชิน (Colchicine) : มักเลือกใช้ในผู้ป่วยรายที่ไม่สามารถให้ยายาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ได้ ยานี้มีผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้อาเจียน และถ่ายเหลว
    • ยาต้านการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) ไม่แนะนำให้ใช้
  • ยาที่ใช้ลดระดับกรดยูริคในเลือด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการที่กรดยูริคสูงแล้วทำให้เกิดอาการโรคเก๊าท์กำเริบบ่อยๆ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคกำเริบบ่อยมากกว่า 3 ครั้งต่อปี และผู้ป่วยที่มีก้อนโทไฟที่ผิวหนังรอบข้อแล้ว ยาในกลุ่มนี้ประกอบด้วย
    • ยาที่ออกฤทธิ์ลดการสร้างกรดยูริคในเลือด : คือ ยาแอลโลเพอรินอล (Allopurinol) จะให้ยานี้ไปจนกว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการกำเริบหรือก้อนโทไฟหายไป ควรรับประทานอย่างน้อย 4-5 ปี
    • ยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพในการขับกรดยูริคออกทางไต : คือ ยาโพรบีนีซิด (Probenecid)

2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : จะช่วยลดอาการโรคเก๊าท์กำเริบได้ โดยผู้ป่วยควรปฎิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ทั้งในขณะที่มีอาการของโรคเก๊าท์กำเริบและตอนที่โรคสงบด้วย เพื่อป้องกันโรคกำเริบ
  • ลดน้ำหนักตัวในผู้ป่วยที่อ้วน จะช่วยลดกรดยูริคในเลือดได้ ทำให้ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ไม่ควรลดน้ำหนักลงเร็วเกินไป เพราะจะทำให้กรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้นเร็วชั่วคราวและเกิดอาการกำเริบได้
  • หลีกเลี่ยงสาเหตุส่งเสริมที่จะทำให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น เช่น อาหารบางชนิด, การใช้ยาแอสไพรินหรือยาขับปัสสาวะเป็นประจำ

ข้อแนะนำในการควบคุมอาหาร

  • อาหารที่ต้องงด : เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์, เครื่องในสัตว์, ปลาดุก ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์ ปลาซาดีน กระป๋อง, กะปิ, ไข่ปลา, กุ้งชีแฮ้, หอย, ห่าน, เนื้อไก่ เป็ด , ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง, ซุปก้อน น้ำซุปต่างๆ , น้ำเกรวี่, ชะอม กระถิน เห็ด
  • อาหารที่ต้องลด : เนื้อหมู เนื้อวัว, ปลากระพงแดง ปลาหมึก ปู, ถั่วลิสง เมล็ดถั่วลันเตา, ใบขี้เหล็ก สะตอ, ข้าวโอ๊ต, ผักขม, หน่อไม้
  • อาหารที่รับประทานได้ตามปกติ : ข้าวต่างๆ (ยกเว้นข้าวโอ๊ต และข้าวสาลีที่ไม่ได้สีเอารำออก) , ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม, ผลไม้ต่างๆ , ผักต่างๆ (ยกเว้นชนิดที่ระบุให้งด)
    • ควรดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว (ประมาณ 2 ลิตร) จะช่วยป้องกันก้อนนิ่วในไตได้
    • สวมรองเท้าขนาดพอเหมาะ ไม่คับจนเกินไป เพราะจะทำให้ปวดข้อและอาการโรคเก๊าท์กำเริบเฉียบพลันได้
    • ออกกำลังกายแต่พอดี ไม่ควรหักโหมเกินไป
    • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Allopurinol, Colchicine, Diclofenac, Ibuprofen, Naproxen, Colchicine, Allopurinol, probenecid

แหล่งอ้างอิง

  1. WWW.mayoclinic.com
  2. วิทยา ศรีดามา. Evidence-based clinical practice guideline ทางอายุรกรรม 2548. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 4. 2548; 111-117.
  3. วิทยา ศรีดามา. ตำราอายุรศาสตร์1. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 4. 2549; 118-185.
  4. Gout. American College of Rheumatology. http://www.rheumatology.org/public/factsheets/diseases_and_conditions/gout.asp. Accessed Sept. 23, 2009.
  5. Becker MA. Clinical manifestations and diagnosis of gout. http://www.uptodate.com/home/index.html. Accessed Sept. 23, 2009.
  6. Becker MA. Treatment of acute gout. http://www.uptodate.com/home/index.html. Accessed Sept. 23, 2009.


27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย