อ่าน: 5113
Small_font Large_font

Allopurinol (อัลโลพูรินอล)

คำอธิบายพอสังเขป

ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) เป็นยาในกลุ่มรักษาโรคเกาต์ (gout) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอมไซม์แซนทีนออกซิเดส (xanthine oxidase) ซึ่งเอมไซม์แซนทีนออกซิเดส ทำหน้าที่เปลี่ยน ไฮโปแซนทีน (hypoxanthine) ไปเป็นแซนทีน (xanthine) แล้วจึงเปลี่ยนเป็นกรดยูริก (uric acid) ต่อไป ดังนั้นการยับยั้งเอนไซม์นี้จึงมีผลยับยั้งการสร้างยูริกในร่างกายได้

ยานี้แป็นยาที่แนะนำให้ใช้สำหรับรักษาโรคเกาต์เรื้อรัง, ใช้ป้องกันภาวะข้ออักเสบจากโรคเกาต์, โรคไตจากการมีกรดยูริกเกินในเลือด (hyperuricemia), รักษาภาวะกรดยูริกเกินในเลือดที่เกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น เนื้องอก มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น, ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคนิ่วในไตที่เกิดจากแคลเซียม (calcium renal calculus, recurrent)

ยานี้ออกฤทธิ์โดยการลดการสร้างยูริกในร่างกาย ไม่สามารถใช้บรรเทาอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์ได้ แต่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ ทั้งนี้ยาจะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อรับประทานยาเป็นประจำเป็นเวลาประมาณ 2-3 เดือน

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) หรือ ยาอื่นในกลุ่มนี้ หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

ตัวอย่างอาการแพ้ยา เช่น มีอาการ ผื่น, คัน, บวมกดไม่บุ๋ม (angioedema), หลอดลมหดเกร็ง, แน่นหน้าอก, ไอ, หายใจมีเสียงหวีด (wheezing), หายใจลำบาก, ผิวหนังอักเสบหลุดลอกเป็นแผ่น (exfoliative dermatitis), ลักษณะผิวหนังแดงหลายรูปแบบ (erythema multiforme), แกรนูโลมารูปวงแหวน (granuloma annulare), หลอดเลือดอักเสบ, หน้าบวม, ลิ้นบวม, มือบวม, ปากและภายในลำคอบวมหรือรู้สึกซ่า, มีตุ่มหนอง, ลักษณะคล้ายไลเคนที่ปาก (oral lichenoid reaction), กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ซึ่งจะมีภาวะเป็นตุ่มพองตามผิวหนังและเยื่อบุเช่นตา ปาก คัน อ่อนเพลีย ปวดข้อ และมีไข้ เป็นต้น, การตายแยกสลายของหนังกำพร้าเหตุพิษ (toxic epidermal necrosis)

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น วิตามินซีในขนาดที่สูง (ascobic acid) ธาตุเหล็ก
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลทำให้มีกรดยูริกในร่างกายสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ยอดผักต่างๆ เป็นต้น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

  • มีการศึกษาในสัตว์ทดลองในการได้รับยานี้ในขนาดที่สูงมาก พบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในครรภ์ได้

กำลังให้นมบุตร

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้หากให้นมบุตร เพราะยาผ่านน้ำนมแม่ไปยังเด็กได้

เด็ก

  • มีการศึกษาการใช้ยานี้ในเด็กถึงประสิทธิภาพของยา และขนาดยาพบว่ามีผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรระมัดระวังการใช้และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ผู้สูงอายุ

  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ห้ามใช้ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) ร่วมกับยาไดดาโนซีน (didanosine)

ระมัดระวังการใช้ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) ร่วมกับยาต่อไปนี้

  • กลุ่มยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก
  • กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กดภูมิต้านทานของร่างกาย เช่น แอซาไทโอพรีน (azathioprine), เมอร์แคปโทพิวรีน (mercaptopurine), ไซโคลสพอริน (cyclosporin), ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide)
  • กลุ่มยาฆ่าเชื้อเช่น อะมอกซิซิล (amoxicillin), แอมพิซิลลิน (ampicillin) เนื่องจากไปเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้ยา
  • ยาลดความดันกลุ่มยับยั้งแอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอ็นไซม์ (ACE inhibitors) เช่น อีแนลาพริล (enalapril), แคปโทพริล (captopril), รามิพริล (ramipril), เพอรินโดพริล (perindopril), ควินาพริล (quinapril) จะส่งผลให้เกิดพิษได้
  • กลุ่มยาปัสสาวะ (diuretics) กลุ่มไทอาไซด์ (Thiazide) และ กลุ่มลูพ (Loop) เช่น ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (hydrochlorothiazide), ฟูโรซีไมด์ (furosemide) จะส่งผลให้เกิดพิษได้
  • กลุ่มยาทีออฟิลลีน (theophylline)
  • ยาอื่น ๆ เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (chlorpropamide), คาร์บามาซีพีน (carbamazepine), ยาลดกรด (antacid)

ยังมียาหลายชนิที่ไม่ควรใช้ร่วมกับ ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย โรคเบาหวาน,ความดันเลือดสูง, หัวใจวาย, โรคลมชัก, โรคตับ, โรคไต, มะเร็ง และสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

การใช้ที่ถูกต้อง

  • ควรรับประทานยาหลังอาหารและดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่สบายท้อง
  • รับประทานยาตามขนาดยาที่แพทย์สั่งหรือเภสัชกรแนะนำ ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง ขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน
  • ให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้อาการยังไม่ดีขึ้นก็ตาม หรือแม้จะรับยารักษาโรคเกาต์ตัวอื่นอยู่ เนื่องจากจะช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิดโรคเกาต์ได้
  • ดื่มน้ำวันละ 10-12 แก้วต่อวัน ในช่วงที่รับประทานยานี้ นอกจากแพทย์จะแจ้งให้ควบคุมการรับประทานน้ำ

ขนาดยา

ขนาดยาของยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับสภาวะโรคของท่าน ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

เมื่อลืมใช้ยา

ให้รับประทานทันทีทีนึกได้ ถ้าใกล้เวลาของมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปโดยใช้ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดสนิท อย่าให้โดนแสงโดยตรง
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง 15 – 25 องศาเซลเซียส อย่าเก็บในที่ร้อน
  • เก็บยาในที่แห้ง อย่าเก็บในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาทุกชนิดให้พ้นสายตาและมือเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง รวมถึงไม่ใช้ยาร่วมกับผู้อื่น
  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่ได้รับมา และหากมียาเหลือหลังจากแพทย์สั่งให้หยุดใช้ ควรส่งคืนยาแก่เภสัชกร
  • ไม่ใช้ยานี้หลังจากวันหมดอายุ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการทิ้งยานี้

ข้อควรระวัง

  • ควรรับประทานน้ำมาก ๆ และให้มีปัสสาวะประมาณ 2 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ยาจะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อรับประทานยาเป็นประจำเป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือน และฤทธิ์ของยาจะอยู่จนกระทั่งหยุดยา
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) ที่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ
  • ควรมีการปรับลดขนาดยาในผู้ป่วยโรคไต โดยปรับตามประสิทธิภาพการทำงานของไตของผู้ป่วย
  • ให้หยุดยาทันทีและมาพบแพทย์เมื่อสังเกตพบผื่นขึ้นตามผิวหนัง, ปัสสาวะแสบ, มีเลือดในปัสสาวะ, ระคายเคืองตา, ริมฝีปากบวม หลังใช้ยานี้
  • ยานี้จะมีผลต่อการทำงานของไขกระดูก อาจทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ และล้างมือบ่อย ๆ
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยาน และการทำงานกับเครื่องจักรที่อันตราย เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หรือ ง่วงซึม
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวของท่าน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, หัวใจวาย, โรคลมชัก, โรคตับ, โรคไต และมะเร็ง
  • การรับประทานวิตามินซี (ascorbic acid) ในขนาดที่สูงจะมีผลทำให้ปัสสาวะเป็นกรด และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่ว

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก.อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบ เช่น

  • อาการแพ้ยา
  • ภาวะแกรนูโลไซต์น้อย (agranulocytosis), ภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด (aplastic anemia), เม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลเพิ่มขึ้น (eosinophilia), ภาวะเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น (leukocytosis), กดการทำงานของไขกระดูก (myelosuppression), ภาวะเกล็ดเลือดน้อย (thrombocytopenia), ภาวะไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดแดง (pure red cell aplasia), อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน, มีเลือดปนในปัสสาวะ, มีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง, เลือดออกผิดปกติ
  • เป็นพิษต่อตับ ทำให้ตับวาย, ตับอักเสบชนิดแกรนูโลมา (granulomatous hepatitis), การตายเฉพาะส่วนของตับ (hepatic necrosis), ตับอ่อนอักเสบ, ดีซ่านจากน้ำดีคั่ง (cholestatic jaundice), ตัวเหลืองตาเหลือง, ระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้น
  • ไตวาย จากการเป็นพิษต่อไต ทำให้ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะลดลง, โรคไตส่วนล่างเสื่อมเฉียบพลัน (acute tubular necrosis), เนื้อเยื่อแทรกในไตอักเสบ (interstitial nephritis), โรคนิ่วในไต (nephrolithiasis), กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paraesthesia), โรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy), ประสาทอักเสบ (neuritis), เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (aseptic meningitis)
  • ต้อกระจก, จอตาอักเสบ (macular retinitis)
  • หลอดเลือดอักเสบที่สมอง, หลอดเลือดแดงอักเสบและมีเนื้อตายบางส่วน

ข. อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น ไข้, หนาวสั่น, เจ็บคอ, ปวดเมื่อยตามตัว, ผมร่วง, รับรสผิดปกติ, คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องร่วง, ปวดท้อง, อาหารไม่ย่อย, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลด, รู้สึกหมุน, ง่วงซึม, อ่อนเพลีย, รู้สึกเหนื่อย, ปวดข้อ, ความดันเลือดสูง, เลือดกำเดาไหล, เป็นเหน็บ, แขนขาอ่อนแรง, ปวดหลังส่วนล่าง, ผิวหนังไวต่อสิ่งกระตุ้น แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรือทนไม่ได้หรือเกิดต่อเนื่อง ให้ไปพบแพทย์ทันที

ค. หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวกับยานี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

โรคเกาต์ (gout) โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการกำจัดกรดยูริก (uric) ในร่างกาย ส่งผลให้มีระดับของกรดยูริกในร่างกายสูง (hyperuricemia) ซึ่งจะทำให้มีการสะสมของเกลือยูริกในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อของมือและเท้า ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรวดเร็ว มีอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่มีการสะสมของยูริกในปริมาณที่สูง ส่งผลให้มีการผิดรูปและเสียหน้าที่การทำงานได้

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Colchicine, Probenecid

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Alinol tablets, Allo tablets, Allonol tablets, Allopin tablets, Allopurinol Asian Pharm tablets, Allopurinol Community Pharm tablets, Allopurinol GPO tablets, Allopurinol Union Drug tablets, Alloric tablets, Apnol tablets, Apronol tablets, Chinnol tablets, Puride tablets, Uricad tablets, Xandase tablets, Xanol tablets, Zylic tablets, Zyloric tablets

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

แอลโลพูรินอล

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 31 May, 2010.
  2. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com. Access Date: 30 May, 2010.
  3. Dyke K.V., Drugs Used in Gout, In Modern pharmacology with clinical application, 6th ed, pp. 244-51. Craig C.R. et al., Lippincott Williams & Wilkins, 2003
  4. Lacy C.F., Armstrong L.L., Goldman M.P., Lance L.L.. Drug Information Handbook with international trade names index. 18th ed. Ohio: Lexi Comp In; 2009.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Allopurinol. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

panupong puttarak
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
31 พฤษภาคม 2553 10 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย