ภาวะสูญเสียการได้ยิน หรือ หูตึงสามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการติดต่อสื่อสารได้
เมื่อเร็วๆ นี้ HealthDay นำเสนอ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดปัญหาการสูญเสียการได้ยิน (นำข้อมูลมาจากคลินิกเคลฟแลนด์) ไว้ดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยจำเป็นต้องบอกให้เพื่อน คนรักและบุคคลรอบข้างทราบถึงปัญหาการสูญเสียการได้ยินที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ควรปิดเป็นความลับ
- เมื่อมีการพูดคุยกับบุคคลอื่น ควรหันหน้าเข้าหาบุคคลนั้น และควรให้บุคคลที่พูดด้วยหันหน้ามองตนเอง
- บอกคนรักและคนรอบข้าง ให้พูดเสียงดังและพูดอย่างชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องตะโกนหรือพูดช้าๆ
- ควรปิดเสียงรบกวนต่างๆ เมื่อพูดคุยกับผู้อื่น เช่น เสียงโทรทัศน์ หรือวิทยุ
- เมื่อจำเป็นต้องนัดพบผู้อื่นนอกบ้าน ควรเลือกสถานที่เงียบสงบ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดัง อึกทึกครึกโครม
วิธีปฏิบัติตนเหล่านี้อาจจะช่วยลดปัญหาเรื่องการสื่อสารและการเข้าสังคมได้
อยากบอกว่า ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีอาการหูไม่ได้ยิน ตอนนี้ที่ทำงานผม มีพี่ ๆ หลายคน (วัยทำงาน) ก็มีอาการนี้กันบ้างแล้ว เริ่มจากการปวดหู มีเสียงดังภายในหู แล้วก็เริ่มไม่ได้ยิน มีคนนึง ขนาดเข้าไปเรียกใกล้ ๆ ยังไม่ได้ยินเลยล่ะ ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากพฤติกรรมการปฏิบัติตัวต่ออวัยวะหูของแต่ละคนด้วยนะครับ