อ่าน: 173

สธ. พบผู้สูงอายุไทย เผชิญปัญหาความเสื่อมอวัยวะมากขึ้น

สาธารณสุขเผยผลสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุล่าสุดในปี 2551-52 พบเข้าขั้นน่าห่วง เผชิญปัญหาหลัก 3 ด้าน ต้องเร่งพัฒนาระบบบริการรองรับหลายด้าน โดยเกือบครึ่งเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่รู้ตัวเพียงร้อยละ 3 เป็นโรคเบาหวานร้อยละ 16 มีผู้สูงอายุเป็นโรคข้อเสื่อมกว่า 1 ล้าน 3 แสนคน สงสัยมีภาวะสมองเสื่อม 880,000 คน ต้องการคนดูแลกว่า 265,000 คน พบในเขตชนบทมากกว่าเขตเมือง ส่วนด้านที่อยู่อาศัยพบยังมีสภาพไม่เอื้อต่อความปลอดภัย เสี่ยงต่ออันตรายหกล้มสูง

ผลจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะสาขาการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดลง ทำให้สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นเป็นลำดับ โดยประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2548 ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้สูงอายุกว่า 7 ล้าน 3 แสนคน และคาดว่าอีก 15 ปีคือปี 2568 สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 กล่าวคือพบผู้สูงอายุได้ 1 คนในประชากรไทยทุก5 คน เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งพัฒนาระบบบริการต่างๆ รองรับอย่างเหมาะสมกับสภาวะสังคมไทย ขณะเดียวกันต้องมีระบบเตรียมความพร้อมประชาชนให้เข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากผู้สูงอายุจะต้องเผชิญกับปัญหาความเสื่อมถอยของอวัยวะอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้

กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจสุขภาพคนไทยและผู้สูงอายุทุก 5 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์สภาวะด้านสุขภาพและสิ่งที่เกี่ยวข้องที่เป็นสาเหตุ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนจัดบริการและการป้องกันที่เหมาะสม ผลการสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุครั้งที่ 4 เมื่อพ.ศ. 2551-2552 ใช้วิธีสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพโดยตรง พบว่า

ในกลุ่มโรคเรื้อรัง พบผู้สูงอายุเกือบครึ่งมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ มีเพียงร้อยละ 3 ที่รู้ตัวว่าตัวเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ในจำนวนนี้ร้อยละ 55 ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2547 โดยสามารถควบคุมความดันเลือดได้ร้อยละ 28 ผู้หญิงจะควบคุมได้ดีกว่าผู้ชาย ส่วนเบาหวาน ตรวจพบผู้สูงอายุเป็นร้อยละ 16 แต่สัดส่วนการเข้ารับการรักษาสูงขึ้น

ในขณะที่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ 6 ปัญหา ได้แก่ ต้อกระจก การได้ยิน การบดเคี้ยว ข้อเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมและการหกล้ม ตัวเลขที่น่าตกใจมากพบว่า ผู้สูงอายุไทยเป็นโรคข้อเสื่อมค่อนข้างสูงเฉลี่ยร้อยละ 19 คาดประมาณว่าขณะนี้ผู้สูงอายุไทย กำลังเชิญโรคข้อเสื่อม ประมาณ 1 ล้าน 4 แสนกว่าคน โรคดังกล่าวจะทำให้มีอาการปวดข้อ ข้อบวมอย่างเรื้อรัง พบในผู้ชายร้อยละ 24 และผู้หญิงร้อยละ 14 ส่วนภาวะสมองเสื่อม พบผู้สูงอายุมีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 12 หรือประมาณ 880,000 คน พบในผู้หญิงร้อยละ 15 ผู้ชายร้อยละ 9 ส่วนใหญ่พบในเขตชนบทมากกว่าในเมือง ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุอยู่คนเดียว 69,000 คน ผู้สูงอายุเหล่านี้ร้อยละ 31 หรือจำนวน 265,000 คน ต้องการคนดูแล ส่วนปัญหาสายตา พบเป็นต้อกระจกร้อยละ 21 ผู้สูงอายุหญิงเป็นมากกว่าชาย ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตเมืองเป็นมากกว่าผู้ที่อยู่ในชนบท ในด้านการบดเคี้ยว พบว่าผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงร้อยละ 53 เหลือฟันในปากน้อยกว่า 20 ซี่ โดย 1 ใน 5 ใส่ฟันปลอมมากที่สุดคือผู้สูงอายุในกทม. ต่ำที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการหกล้มมาก ทำให้บาดเจ็บเกิดอันตรายต่อชีวิต ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 18 เคยหกล้มใน 6 เดือนที่ผ่านมา เฉลี่ยผู้สูงอายุเคยหกล้มคนละ 2 ครั้ง โดยผู้สูงอายุชายส่วนใหญ่หกล้มนอกบ้าน ผู้สูงอายุหญิงหกล้มภายในบริเวณบ้านมากกว่า สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากพื้นลื่นร้อยละ 42 รองลงมาคือ สะดุดสิ่งกีดขวางร้อยละ 35 และพื้นต่างระดับร้อยละ 25 จากการถามลักษณะบ้านที่อาศัย พบว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากยังอยู่ในบ้านที่ไม่ได้ดัดแปลงให้เหมาะ เช่น ต้องใช้บันได้ในชีวิตประจำวันร้อยละ 58 ในห้องน้ำไม่มีราวจับร้อยละ 90 และไม่มีราวจับในห้องนอนร้อยละ 96 เป็นต้น

สำหรับโรคเกี่ยวกับด้านสุขภาพจิต พบผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้าเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 5 พบผู้หญิงร้อยละ 7 ผู้ชายร้อยละ 3 และพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการดูแลผู้สูงอายุ แนวโน้มผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้นทุกปี ข้อมูลจากสำมะโนประชากรตั้งแต่ปี 2513 ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีร้อยละ 4 แต่ในปี 2547 พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยวตามลำพังเพิ่มเป็นร้อยละ 7 หรือประมาณ เกือบ 5 แสนคน

ที่มา กระทรวงสาธารณสุข


Share |
อัมพวรรณ 17 ก.พ. 2553 18 ก.พ. 2553
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย