ค้นหา Lab Tests

อ่าน: 874
Small_font Large_font

ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (ทีเอสเอช) : Thyroid-stimulating hormone (TSH)

ชื่อภาษาอังกฤษ

Thyroid-stimulating hormone (TSH)


ชื่อภาษาไทย

ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (ทีเอสเอช)


ชื่อหลัก

Thyroid-stimulating hormone


ชื่ออื่น

Thyrotropin


การทดสอบที่เกี่ยวข้อง

T4, T3, Thyroid Antibodies


ความรู้ทั่วไป

ตรวจเพื่ออะไร

การตรวจฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ หรือไทรอยด์สะติมิวเลตติ้งฮอร์โมน (Thyroid-stimulating hormone) ชื่อย่อว่าทีเอสเอช (TSH) ทำเพื่อตรวจคัดกรองในการวินิจฉัยความผิดปกติของไทรอยด์ ติดตามและรักษาโรคไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) และไฮเปอร์ไทรอยด์ (hyperthyroidism) ช่วยแยกภาวะไพรมารี่ไฮโปไทรอยด์ (primary hypothyroidism) ออกจากเซ็คคั่นดารี่ ไฮโปไทรอยด์ (second hypothyroidism)


ตรวจเมื่อใด

การทดสอบทีเอสเอช (TSH) สั่งตรวจเพื่อประเมินการทำงานของต่อมไทรอยด์หรือผู้ที่มีอาการของไฮโปไทรอยด์และไฮเปอร์ไทรอยด์ และมักตรวจร่วมกับทีสาม (T3) และทีสี่ (T4) ในผู้ป่วยไพรมารี่ไฮโปไทรอยด์ (primary hypothyroidism) ระดับทีเอสเอช (TSH) จะช่วยในการปรับขนาดของยาที่ใช้ในการรักษา นอกจากนี้ระดับทีเอสเอช (TSH) ยังสะท้อนสภาวะของต่อมไทรอยด์ในระยะยาวด้วย ขณะที่ระดับทีสี่ (T4) สะท้อนการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลันด้วย

สำหรับผู้ที่มีอาการของไฮเปอร์ไธรอยด์ เช่นอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น, น้ำหนักลด, ขี้ร้อน, ตาโปน, เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย, ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย, มือสั่น, หงุดหงิด กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ, ผมบาง เส้นเล็ก และผู้ที่มีอาการไฮโปไธรอยด์ เช่น ขี้หนาว น้ำหนักเพิ่ม, เหงื่อออกน้อย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง, ผมแห้ง แตกปลายและร่วง, หนังตาบวม, คอพอก, ท้องผูก, ผู้หญิงปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ, ผิวแห้งและเย็น เล็บเปราะเหลือง

การตรวจทีเอสเอช (TSH) อาจใช้ตรวจสม่ำเสมอเพื่อติดตามและประเมินประสิทธิภาพการรักษาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ สำหรับประเทศอเมริกาใช้การตรวจทีเอสเอช (TSH) เป็นการคัดกรองในเด็กทารก และแนะนำให้ผู้ที่มี 35 ปีขึ้นไปทำการตรวจคัดกรองทุก ๆ 5 ปี และบางองค์กรแนะนำให้ตรวจในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือผู้ที่ความเสี่ยง


สิ่งส่งตรวจที่ต้องใช้

เลือด (เจาะจากหลอดเลือดดำที่แขน)


การแปลผล

ต่อมไทรอยด์ประกอบด้วยกลีบ (lobe) 2 อันที่ติดกันอยู่ที่บริเวณหลอดคอ ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอกซิน (thyroxine) หรือทีสี่ (T4) และไตรไอโอโดไทโรนิน (triiodothyronine) หรือทีสาม (T3) ทุกวัน ส่วนทีสี่ (T4) นั้นจะถูกผลิตจากต่อมไทรอยด์เพียงแห่งเดียว ขณะที่ต่อมไทรอยด์จะหลั่งทีสาม (T3) โดยตรงเพียงร้อยละ 20 – 25 ประมาณร้อยละ 80 ของทีสาม (T3) ได้มาจากการสร้างโดยตับและการดีไอโอดิเนชั่น (deiodination) ของทีสี่ (T4) โดยไต ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่หลายอย่างเนื่องจากไปกระตุ้นอัตราการเผาผลาญพื้นฐาน (basal metabolic rate) และมีผลต่อการเผาผลาญของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอีกด้วย การหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนถูกควบคุมด้วยกลไกตอบสนองกลับ (feedback mechanism) ซึ่งเกี่ยวข้องกับไฮโปธารามัส, ต่อมพิทูอิทารี่ (pituitary) และต่อมไทรอยด์เอง

ทีเอสเอช (TSH) ซึ่งหลั่งจากพิทูอิทารี่ส่วนหน้า (anterior pituitary) จะควบคุมการหลั่งของทีสาม (T3) และทีสี่ (T4) จากต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้ความเข้มข้นของไอโอดีนภายในต่อมไทรอยด์เองก็มีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ด้วย

ไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) เป็นภาวะที่ไทรอยด์ฮอร์โมนหลั่งออกมาไม่เพียงพอ ทำให้การเผาผลาญช้าลง อาการแสดงภาวะไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) จะเกี่ยวข้องกับอวัยวะหลายส่วนด้วยกัน ต่อมพิทูอิทารี่ (pituitary) จะหลั่งทีเอสเอช (TSH) โดยการกระตุ้นทีอาร์เอช (TRH) หรือไทโรโทรปินรีลีสซิ่งฮอร์โมน (thyrotropin-releasing hormone) ระดับทีสาม (T3) และทีสี่ (T4) ที่ต่ำลงจะเป็นผลทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีการหลั่งทีอาร์เอช (TRH) และทีเอสเอช (TSH) เพราะฉะนั้นจึงพบว่าในไพรมารี่ไฮโปไทรอยด์ (primary hypothyroid) เช่นในคนที่ผ่าตัดไทรอยด์ หรือฉายแสง หรือในคนที่รับประทานยาต้านไทรอยด์ (antithyroid), ขาดไอโอได, ได้รับไอโอไดมากเกินไป เช่นสาหร่ายทะเล, ความผิดปกติทางพันธุกรรมในการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งจะพบว่าร่างกายมีการปรับตัวโดยการเพิ่มระดับทีอาร์เอช (TRH) และทีเอสเอช (TSH) ส่วนในพวกเซ็คคั่นดารี่ไฮโปไทรอยด์ (secondary hypothyroid) จะพบว่ามีไฮโปธาลามัส (hypothalamus) หรือพิทูอิทารี่ (pituitary) ทำงานผิดปกติ ดังนั้นจึงไม่มีการหลั่งทีอาร์เอช (TRH) และทีเอสเอช (TSH) และพบว่าระดับฮอร์โมน 2 ตัวนี้ในเลือดต่ำมากจนเกือบไม่มีเลย

เนื่องจากทีเอสเอช (TSH) เป็นไกลโคโปรตีนประกอบด้วยสองหน่วยย่อย (subunit) คืออัลฟา (alpha) และเบต้า (beta) โดยที่ อัลฟาซับยูนิต (alpha subunit) ของทีเอสเอช (TSH) จะคล้ายคลึงกับฮอร์โมนอื่นที่หลั่งจากพิทูอิทารี่ส่วนหน้า (anterior pituitary) เช่นเอฟเอสเอช (FSH), เอชซีจี (HCG), แอลเอช (LH) ขณะที่เบต้าซับยูนิต (beta subunit) จะไม่เหมือนใคร ดังนั้นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์หรือเมื่อระดับเอชซีจี (HCG) สูงผลการตรวจทีเอสเอช (TSH) อาจสูงเทียมได้


แหล่งอ้างอิง

  1. http://www.labtestsonline.org/understanding/analytes/tsh/glance.html
  2. เพ็ญจันทร์ สุวรรณแสงโมไนยพงศ์. การวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับพยาบาล กรุงเทพฯ 462-3.
  3. สุธาทิพย์ พิชญไพบูลย์ การแปลผลห้องปฏิบัติการสำหรับเภสัชกร 2544, 252-4.



11 กุมภาพันธ์ 2554 15 สิงหาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย