ค้นหา Lab Tests

อ่าน: 1178
Small_font Large_font

ระดับเหล็กในเลือด : Serum Iron (SI)

ชื่อภาษาอังกฤษ

Serum Iron (SI)


ชื่อภาษาไทย

ระดับเหล็กในเลือด


ชื่อหลัก

Serum Iron


ชื่ออื่น

Serum Fe


การทดสอบที่เกี่ยวข้อง

Ferritin, TIBC & UIBC, Transferrin, Hemoglobin, Hematocrit, CBC, Zinc protoporphyrin, Iron Tests


ความรู้ทั่วไป

ตรวจเพื่ออะไร

การตรวจระดับเหล็ก (iron) ในร่างกายเพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัยติดตามอาการและการรักษาโรคโลหิตจาง อันเนื่องจากการขาดเหล็กและช่วยในการตรวจสอบสภาวะที่ร่างกายได้รับเหล็กมากเกินไปจนอาจเกิดอาการเป็นพิษได้ เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นธาตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกายสิ่งมีชีวิต บทบาทที่สำคัญที่สุดของเหล็กคือกระบวนการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ และนำก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์กลับมากำจัดที่ปอด โดยเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง หน้าที่อื่นที่สำคัญของเหล็กได้แก่ มีหน้าที่ในกระบวนการเผาผลาญของเซลล์และเป็นปัจจัยร่วม (cofactor) ของเอนไซม์หลายชนิด ปริมาณของเหล็กในร่างกายต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายสามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ถ้าเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้แก่ ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อและสมองลดลง มีการติดเชื้อง่ายขึ้น ในเด็กจะมีการเจริญเติบโตของร่างกายและการพัฒนาของระบบประสาทช้าลง ในขณะที่ถ้าร่างกายอยู่ในภาวะเหล็กเกินก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่างๆเช่นกันเช่น ทำให้เกิดความผิดปกติของสมอง ตับ กล้ามเนื้อและหัวใจ

เหล็กในเลือด จะอยู่ในรูปของเฟอริก (ferric) ซึ่งเกาะตัวอยู่กับเบต้าโกลบูลิน (Beta-globulin) ร่างกายของคนปกติมีเหล็กประมาณ 42 กรัม เหล็กจำนวน 3 กรัมจะอยู่ในเม็ดเลือดแดง ระดับเหล็กในเลือดของคนปกติจะมีค่าไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับเวลา ตอนช่วงเช้าระดับของเหล็กจะสูงกว่าตอนช่วงเย็น

ธาตุเหล็กในร่างกายจะอยู่ในรูปของสารประกอบต่างๆดังนี้

  1. ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) มีประมาณ 65-67 % ของเหล็กทั้งหมดในร่างกาย จะอยู่ในรูปของฮีมมีมากที่สุดในร่างกาย
  2. เหล็กสะสม (Storage iron) มีประมาณ 27-30 % ของเหล็กทั้งหมดในร่างกาย เป็นเหล็กส่วนที่เหลือจากการใช้งานจะสะสมอยู่ในเซลล์ของร่างกาย โดยเฉพาะเรติคูโลเอนโดธีเลียลเซลล์ (reticuloendothelial cell) ของตับ ม้าม และไขกระดูก เหล็กสะสม (storage iron) ที่สำคัญในร่างกายมีอยู่ 2 ชนิด คือเฟอริติน (Ferritin) เป็นแหล่งที่เก็บสะสมเหล็กที่สำคัญของร่างกาย และฮีโมซิเดอริน (Hemosiderin) เป็นสารประกอบที่ไม่สลายน้ำ ธาตุเหล็กในฮีโมซิเดอรินจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ เชื่อว่าฮีโมซิเดอรินเกิดจากการที่มีเฟอริตินภายในเซลล์มากเกินไป
  3. ทรานสเฟอริน (Transferrin) มีประมาณ 0.1 % ของเหล็กทั้งหมดในร่างกาย ทำหน้าที่เป็นโปรตีนขนส่งเหล็กในร่างกาย ถูกสร้างมาจากตับ แต่ละโมเลกุลของ transferrin จะจับกับเหล็กได้ 2 อะตอม โดยรับเหล็กจากเรติคูโลเอนโดธีเลียลเซลล์ (reticuloendothelial cell) และดูโอดีนาลมิวโคซาลเซลล์ (duodenal mucosal cells) แล้วส่งไปยังเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะส่งไปที่เม็ดเลือดแดงเพื่อทำการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินแล้วทรานสเฟอริน จะถูกส่งกลับออกมาสู่กระแสเลือด
  4. ไมโอโกลบิน (Myoglobin) และเอนไซม์ที่มีเหล็ก (iron containing enzymes) อื่นๆ มีประมาณ 4.0 % ของเหล็กทั้งหมดในร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อลาย และกล้ามเนื้อหัวใจ

ส่วนใหญ่ธาตุเหล็กในร่างกายที่ถูกนำไปสร้างเม็ดเลือดแดง ได้มาจากการทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้วนำเอาธาตุเหล็กกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะวนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกวัน เมื่อฮีโมโกลบินถูกทำลายโดยอาร์อีเซลล์ (RE cells) เหล็กส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดจับกับทรานสเฟอรินเพื่อนำไปสร้างฮีโมโกลบินใหม่ในไขกระดูก ส่วนน้อยประมาณ 20% จะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของเฟอริตินและฮีโมซิเดอริน การดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารมีเพียงประมาณ 1.0 มิลลิกรัม/วันเท่านั้นที่ดูดซึมมาจากอาหารซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับเหล็กที่ร่างกายสูญเสียทางเหงื่อ, ผิวหนัง และปัสสาวะในแต่ละวัน ทั้งนี้ร่างกายไม่ต้องการเก็บสะสมเหล็กเพราะว่าเหล็กสามารถเปลี่ยนเป็นอนุมูลอิสระ(free radical) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงได้

ธาตุเหล็กในอาหารจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือฮีมไอออน (heme iron) มีมากในเนื้อสัตว์ สามารถดูดซึมได้ดีในร่างกาย และน็อนฮีมไอออน (non-heme iron) มีมากในพืช ดูดซึมได้ไม่ดีในร่างกาย ธาตุเหล็กในอาหารจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัมและเจจูนัม ส่วนบนโดยการดูดซึมธาตุเหล็กจะถูกควบคุมด้วยเหล็กสะสมในร่างกาย โดยทั่วไปจะมีธาตุเหล็กเพียง 5-10%ของธาตุเหล็กทั้งหมดในอาหารเท่านั้นที่ถูกดูดซึมในลำไส้ ยกเว้นหญิงมีครรภ์หรือผู้ที่ต้องการเหล็กเพิ่ม ที่อาจจะมีการดูดซึมถึง 20-30% นอกจากนี้แล้วยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้คือปัจจัยส่งเสริมการดูดซึม (enhancer) ได้แก่ โปรตีน กรดในกระเพราะอาหาร วิตามินซี ฯลฯและ ปัจจัยยับยั้งการดูดซึม (Inhibitor) ได้แก่ไฟเตต (phytate), กรดแทนนิก (tannic acid), คาร์บอเนต (carbonate), ออกซาเลต (oxalate), ฟอสเฟต (phosphate) ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้มีในพืชสูง ซึ่งเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้คนที่ทานอาหารมังสวิรัติ มีโอกาสที่จะขาดเหล็กสูง


ตรวจเมื่อใด

การทดสอบเหล็กไม่ใช้เป็นการทดสอบประจำทั่วไป (routine) และมักสั่งตรวจเมื่อพบการทดสอบผิดปกติเช่นซีบีซี (CBC), ฮีโมโกลบิน และฮีมาโตคริต และใช้ตรวจเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยขาดธาตุเหล็ก (iron deficiency) หรือภาวะเหล็กเกิน (iron overload)

*ภาวะพร่องธาตุเหล็กระยะแรก*ในผู้ที่มีสุขภาพดีอาจไม่ปรากฏอาการ จนกว่าระดับฮีโมโกลบินลดต่ำลง (ประมาณ 10 มก./ดล.) เหล็กสะสมจะลดปริมาณลง หากปริมาณเหล็กลดลงต่อไปก็อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางและปรากฏอาการ

  • อ่อนเพลียเรื้อรัง, เหนื่อยง่าย
  • หน้ามืด ตาลาย
  • ร่างกายอ่อนแอ
  • ปวดศรีษะ

หากมีภาวะขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการหายใจสั้น, หน้ามืด ตาลาย, เจ็บหน้าอก, ปวดศรีษะ ปวดขา เด็กอาจมีพัฒนาการช้าลง นอกเหนือจากอาการทั่วไปของโรคโลหิตจาง มีอาการบางอย่างที่มีคุณลักษณะพิเศษ เรียกว่า ไพกา (pica) ผู้ที่มีพฤติกรรมการกินสิ่งแปลกๆ เช่น มีอาการอยากกินชะเอม, ชอล์ก, ดิน หรือดินเหนียว ชอบกินแป้ง หรือชอบกินน้ำแข็ง ลิ้นเลี่ยน ผิวลิ้นจะเลี่ยนและซีด, เจ็บและแสบที่มุมปาก, เล็บอ่อนยุบเป็นแอ่ง

อาจสั่งตรวจเหล็กร่วมกับการทดสอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหล็กเมื่อสงสัยภาวะเหล็กเกิน อาการของภาวะเหล็กเกินจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับปริมาณของเหล็กที่สะสมในเลือดและเนื้อเยื่อ เช่น ปวดข้อ อ่อนเพลีย ขาดพลังงาน ปวดในช่องท้อง สูญเสียความต้องการทางเพศ หัวใจมีปัญหา

เมื่อสงสัยว่าเด็กได้รับประทานเม็ดยาเหล็ก การตรวจเหล็กเพื่อช่วยประเมินความรุนแรงของพิษที่เกิดจากเหล็ก และการตรวจเหล็กอาจสั่งตรวจเป็นระยะเพื่อรักษาและประเมินประสิทธิภาพการรักษาการขาดธาตุเหล็กหรือมีภาวะเหล็กเกิน


สิ่งส่งตรวจที่ต้องใช้

เลือดเจาะจากหลอดเลือดดำที่แขน


การเตรียมตัว

ควรเจาะเลือดช่วงเช้า อาจต้องงดอาหาร 12 ชั่วโมง (ดื่มน้ำได้) ก่อนเจาะเลือด


การแปลผล

เหล็กในซีรัมระดับต่ำกว่าปกติ พบใน

  • หญิงที่กำลังมีระดู
  • ช่วงกลางของการตั้งครรภ์
  • ทารกแรกเกิด ระดับของเหล็กจะเข้าสู่เกณฑ์ของคนปกติภายในเวลา 3- 7 ปี
  • ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดเหล็ก (iron deficiency anemia) และเพอนิเชียส (pernicious anemia)
  • ผู้ที่มีการติดเชื้อประเภทเรื้อรังหรือแบบเฉีบบพลัน จะมีระดับของเหล็กต่ำภายในเวลา 24 ชั่วโมง
  • ผู้ที่เป็นมะเร็ง
  • ผู้ที่มีอาการบวมจากโรคไต (nephrosis) จะสูญเสียเหล็กทางปัสสาวะเนื่องจากเกาะติดไปกับโปรตีน
  • ผู้ที่เป็นโรคขาดอาหารโปรตีน (Kwashiokor)

เหล็กในซีรัม ระดับสูงกว่าปกติ พบในผู้ป่วยที่

  • มีการรักษาโดยให้เหล็กเข้าทางเส้นเลือดหรือเข้ากล้ามเนื้อ หรือได้รับการรักษาให้เลือดเป็นเวลานาน
  • มีภาวะฮีโมโครมาโตซิส (haemochromatosis)
  • มีอาการเหล็กเป็นพิษเฉียบพลัน (acute iron poisoning) เช่น เด็กที่กินยาบำรุงเลือดเฟอรัสซัลเฟต (ferrous sulphate) เกินขนาด ถ้าระดับของเหล็กในเลือดสูงมากกว่า 1000 ไมโครกรัม/เดซิลิตร แพทย์จะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยจะตายภายในเวลา 6 ชั่วโมง
  • มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (hemolytic anemia)
  • เป็นโรคตับอักเสบหรือตับแข็ง เหล็กจะหลั่งมาจากเซลล์ของตับ
  • เป็นโรคต่อมธัยรอยด์อักเสบ
  • เป็นมะเร็งของเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน (acute leukemia) ) ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด


แหล่งอ้างอิง

  1. http://www.labtestsonline.org/understanding/analytes/serum_iron/glance.html
  2. http://www.medtechzone.com/knowledge/iron.php
  3. พรทิพย์ โล่ห์เลขา เคมีคลินิกประยุกต์ 214.
  4. http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=1175

ห้องปฏิบัติการที่ทำการตรวจสอบ

ห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก



05 มีนาคม 2554 09 พฤษภาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย