ค้นหา Lab Tests

อ่าน: 1567
Small_font Large_font

การตรวจแอนติบอดีต่อ HLA : HLA Testing

ชื่อภาษาอังกฤษ

HLA Testing


ชื่อภาษาไทย

การตรวจแอนติบอดีต่อ HLA


ชื่อหลัก

Human Leukocyte Antigen, HLA oligotyping, HLA sequence-based typing


ชื่ออื่น

Tissue typing (การทดสอบความเข้ากันของเนื้อเยื่อ); Histocompatibility testing


การทดสอบที่เกี่ยวข้อง

White Blood Cell Count (การตรวจนับเม็ดเลือดขาว), Blood Typing, Antibody Tests, HLA-B27


ความรู้ทั่วไป

ตรวจเพื่ออะไร

เพื่อจำแนกชนิดของยีนและแอนติเจนบนเม็ดเลือดขาวที่แต่ละบุคคลได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม โดยหลักการแล้วทำเพื่อตรวจจับคู่ผู้บริจาคกับผู้รับอวัยวะและการปลูกถ่ายไขกระดูก จุดประสงค์หลักของการตรวจ HLA นั้นคือ เพื่อจับคู่ในการปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อ ของผู้รับกับผู้บริจาค ซึ่งการปลูกถ่ายอวัยวะที่ต่างกันจะต้องใช้ระดับการเข้าคู่ระหว่างผู้บริจาคและผุ้รับที่ไม่เหมือน กัน และเป็นตัวกำหนดว่าต้องทดสอบ HLA แบบไหนและต้องจับคู่ยีนของ HLA ชุดใด

การตรวจ HLA ตามปกติประกอบด้วย การตรวจความเข้ากันได้ใน 3 ส่วนคือ

  • ตรวจ HLA ของผู้บริจาคและผู้รับ เป็นการจำแนก อัลลีลของ HLA ซึ่งประกอบด้วยการตรวจทางซีโรโลยี (น้ำเหลืองวิทยา) หรือการตรวจระดับโมเลกุลของ DNA สมาชิกในครอบครัวที่สมัครใจจะบริจาคไขกระดูกหรืออวัยวะจะได้รับการตรวจ HLA เพื่อดูว่าเข้าคู่กับผู้รับหรือไม่ หากมีผู้ต้องการบริจาคไขกระดูกหรืออวัยวะ จะสามารถลงทะเบียนได้ที่สภากาชาดไทย จะมีการตรวจ HLA แล้วเก็บผลไว้เพื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่กำลังหาผู้บริจาค ผู้ที่จะลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค stem cell หรือไขกระดูกนั้นต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม กล่าวคือมีอายุ 18-50 ปี มีน้ำหนัก 40 ก.ก.ขึ้นไป มีสุขภาพสมบูรณ์แข็ง แรง ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ สามารถไปลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ ในกรณีที่ไม่ใช่ผู้บริจาคโลหิตก็สามารถลงทะเบียนได้หากคุณสมบัติได้ตามที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้เปิดรับลงทะเบียนเฉพาะวัน เวลาราชการเท่านั้น แต่ในกรณีที่เป็นผู้บริจาคโลหิตด้วย สามารถมาบริจาคโลหิตพร้อมลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค stem cell ได้ทุกวัน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2263 9600 ต่อ 1101,1770
  • การตรวจคัดกรอง HLA แอนติบอดีของผู้รับ เพื่อตรวจดูว่ามีแอนติบอดีชนิดใดบ้างที่จะต่อต้านอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของผู้บริจาค ในบางคนจะมีการสร้างแอนติบอดีต่อ HLA บางชนิดหลังจากที่ได้เคยสัมผัสกับแอนติเจนที่มาจากนอกร่างกาย ซึ่งมักจะเป็นเพราะ 3 เหตุผลหลักคือ การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์หลายครั้งจึงมีโอ กาสสัมผัสกับ HLA ของพ่อซึ่งถ่ายทอดมาสู่ลูกในท้อง, การรับเลือดหรือเกร็ดเลือด, เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หากมี HLA แอนติบอดีในร่างกายแล้ว ต้องนำมาประกอบการพิจารณาในการจับคู่เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการต่อต้านเนื้อเยื่อจากผู้บริจาคที่มี HLA ชนิดดังกล่าว การตรวจ HLA แอนติบอดีอาจทำเป็นช่วงเวลาเพื่อติดตามดูในบุคคลที่อยู่ระหว่างการรออวัยวะที่เข้ากันได้ เพราะอาจมีการสร้างแอนติบอดีชนิดอื่นๆขึ้นมาอีก รวมทั้งการตรวจหลังการปลูกถ่ายเพื่อติดตามดูว่าผู้รับมีการสร้างแอนติบอดีเพิ่มขึ้นต่อผู้บริจาคหรือไม่
  • การตรวจความเข้ากันได้ของเม็ดเลือดขาวของผู้รับกับผู้ให้ (Lymphocyte Cross matching) ขั้นตอนนี้ทำเมื่อพบผู้บริจาคที่น่าจะเหมาะสมแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าผู้รับมีแอนติบอดีโดยตรงต่อแอนติเจนที่อยู่บนเม็ดเลือดขาวของผู้บริจาคหรือไม่ ทำโดยการผสมซีรัม (น้ำเหลือง)ของผู้รับกับเม็ดเลือดขาว (ทั้งชนิด T และชนิด B)ของผู้บริจาค หากมีผลบวกใดๆเกิดขึ้นจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าจะมีความไม่เข้ากันระหว่างทั้งคู่ ผลการตรวจความเข้ากันได้นี้ต้องแปลผลร่วมกับข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของแอนติบอดีจำเพาะในผู้รับและผลตรวจ HLA ของผู้บริจาคเสมอ

ในบางครั้งการตรวจยีน HLA จะใช้เพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง (autoimmune diseases) ระบบ HLA เป็นหนึ่งในกลไกที่เกี่ยวกับการจดจำแอนติเจนของตัวเองและ ของสิ่งแปลกปลอมของร่างกายและภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อสารแปลกปลอม โดยบางครั้งร่างกายมี การสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์ของตัวเองโดยการสร้างแอนติบอดีที่เรียกว่า ออโตแอนติบอดี (autoantibodies) อัลลีลบางตัวของยีนของ HLA เกี่ยวข้องกับขบวนการบางอย่างในระบบภูมิคุ้มกัน ต่อต้านตนเองเหล่านี้


ตรวจเมื่อใด

เกือบทั้งหมดทำก่อนการเลือกผู้บริจาคอวัยวะหรือไขกระดูกที่เหมาะสมกับผู้รับ สำหรับผู้รับการปลูกถ่าย การตรวจ HLA และแอนติบอดีโดยทั่วไปจะทำในครั้งแรก เมื่อตัดสินใจแน่ว่าต้องทำ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก แต่สำหรับผู้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกอาจไม่ต้องตรวจ แอนติบอดี ผลการตรวจ HLA จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา

การตรวจแอนติบอดีต่อ HLA อาจทำเป็นครั้งคราวและหลังเหตุการณ์บางอย่างเช่น การ ตั้งครรภ์หรือการถ่ายเลือดเพื่อตรวจดูว่าผู้รับมีการสร้างแอนติบอดีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ บางครั้งมีการสร้างแอนติบอดีเพิ่มขึ้นในผู้ที่มักจะต้องรับเลือดหรือเกร็ดเลือด การติดตามเป็นระยะจึงอาจเป็นสิ่งจำเป็นการตรวจแอนติบอดีต่อ HLA ต้องทำหลังการปลูกถ่ายด้วยเพื่อตรวจดูว่าผู้รับมีการสร้างแอนติบอดีต่ออวัยวะของผู้บริจาคที่เปลี่ยนถ่ายหรือไม่ การตรวจพบแอนติบอดีต่อแอนติเจนของผู้บริจาคร่วมกับการประเมินอื่นๆเช่น การตรวจชิ้นเนื้อเยื่อจากอวัยวะที่ปลูกถ่าย อาจบ่งชึ้ว่าผู้รับมีการต่อต้านอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายมา

สำหรับผู้บริจาค การตรวจ HLA ในสมาชิกครอบครัวเมื่อมีการสมัครใจจะบริจาค เพื่อตรวจดูการเข้ากันได้กับญาติที่ต้องการไต ตับ ปอด ไขกระดูก หรือการปลูกถ่ายอื่นๆ นอกจากนั้นมีการตรวจ HLA ในผู้ที่ไม่ใช่ญาติแต่ต้องการลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคไขกระดูก

หากเป็นอวัยวะที่มาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต การตรวจ HLA เพื่อดูการเข้ากันได้กับผู้รับต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุด เวลาในการตรวจที่มีสำหรับการรับประกันความมีชีวิตของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อจะมีตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงจนถึงวันหรือสองวัน

การตรวจความเข้ากันได้จะใช้เมื่อพบผู้บริจาคที่เหมาะสมจากการดูผลตรวจชนิดของ HLA แล้ว และอาจทำก่อนการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อยืนยันว่าไม่มีการไม่เข้ากัน ในกรณีของการปลูกถ่ายจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่ การตรวจความเข้ากันได้มักจะทำมากกว่าหนึ่งครั้ง นั่นคือเมื่อพบผู้บริจาคที่เหมาะสมแล้วตรวจอีกครั้งทันทีในช่วงก่อนที่จะทำการปลูกถ่าย


สิ่งส่งตรวจที่ต้องใช้

เลือดที่เจาะจากเส้นเลือดดำที่แขน บางครั้งสำหรับการตรวจ HLA อาจใช้การขูดกระพุ้งแก้มด้านในก็ได้


การแปลผล

การตรวจ HLA สำหรับความเข้ากันสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อจะรู้ชนิดของแอนติเจนของ MHC ยีนและ/หรือแอนติเจนของผู้รับจะถูกเปรียบเทียบกับของผู้บริจาค ผลจะบ่งบอกว่ามีจำนวนแอนติเจนที่เข้ากันและจำนวนที่ไม่เข้ากันเท่าใด หากมีจำนวนที่เข้ากันมากเท่าใดโอกาสที่การปลูกถ่ายจะสำเร็จก็มากเท่านั้น หากไม่มีแอนติเจนที่ตรงกันเลยบ่งชี้ว่าผู้รับจะต่อต้านอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของผู้บริจาค

การตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อ HLA ของผู้บริจาคเป็นสิ่งสำคัญมาก การจับคู่ผู้บริจาคกับผู้รับที่มีการสร้างแอนติบอดีต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพราะหากผู้รับมีแอนติบอดีมากเท่าไหร่โอกาสที่จะต่อต้านการปลูกถ่ายก็จะมากขึ้นเท่านั้น

ผลบวกในการตรวจการเข้ากันได้โดยปกติจะแปลผลว่าเป็นการปลูกถ่ายที่มีโอกาสเสี่ยงสูง ผู้รับเหล่านี้จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่ร่างกายจะต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายซึ่งอาจจะดูแลรักษาได้หรือไม่ ได้ด้วยยากดภูมิคุ้มกันหลากหลายชนิด


แหล่งอ้างอิง

  1. http://www.labtestsonline.org/understanding/analytes/hla_testing/glance.html
  2. http://www.redcross.or.th/forum/2547
  3. http://www.organdonate.in.th/Download/pdf/guideline.pdf

ห้องปฏิบัติการที่ทำการตรวจสอบ

ห้องปฎิบัติการธนาคารเลือด (เฉพาะบางแห่งเท่านั้น)



02 กุมภาพันธ์ 2554 15 เมษายน 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย